ศึกษาเส้นทางใหม่การระดมทุน: Dual-class Shares กับสินทรัพย์ดิจิทัล

เนื่องจากตลาดทุนที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น ทำให้เกิดช่องทางการลงทุนและการระดมทุนรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถจับคู่ความต้องการระหว่างผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

ผู้ระดมทุนจะสามารถระดมเงินทุนได้ตามจำนวนที่ต้องการ จากแหล่งเงินทุนที่มีความสนใจตรงกัน ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยที่มีทางเลือกจำกัดกว่า ก็จะมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนสูง (High Risk, High Return) ที่ตนเองสนใจ โดยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านพรมแดนและเงินลงทุนขั้นต่ำได้

หนึ่งในผู้เล่นที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเปิดกว้างนี้ คือ บริษัทสตาร์ตอัป (Start-up) ซึ่งในอดีต เมื่อต้องการระดมทุน ก็มักจะต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Venture Capitalist หรือ Angel Investors เป็นหลัก โดยต้องเจรจาต่อรองสัดส่วนหุ้นและผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะยากที่จะได้รับโอกาสระดมทุนในตลาดใหญ่อย่างการเสนอขายหุ้น IPO (Initial Public Offering) บนตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากยังไม่มีรายได้และกระแสเงินสดที่ชัดเจนและมั่นคงเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เจ้าของสตาร์ตอัปอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การถูกเอารัดเอาเปรียบในการกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนและหุ้น ความขัดแย้งด้านวิสัยทัศน์ระหว่างผู้บริหารและนักลงทุนที่ต้องการผลกำไรในระยะสั้น หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงที่จะถูกเข้าครอบงำกิจการ (Takeover) โดยนักลงทุนรายใหญ่เหล่านั้น

เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ในงานสัมมนา CMDF/CMRI Capital Market Research Symposium 2024 ได้พูดสั้นๆ ถึงหนึ่งในเครื่องมือตลาดทุนที่น่าสนใจ ที่เรียกว่า “โครงสร้างหุ้นสองระดับ” (Dual-class Shares) ซึ่งเป็นการแบ่งโครงสร้างหุ้นในบริษัทเป็นสองประเภทหรือมากกว่า โดยที่หนึ่งหุ้นในแต่ละประเภทนั้น แม้จะมีสัดส่วนการถือครองบริษัทเท่ากัน แต่ก็อาจได้รับสิทธิที่แตกต่างกัน 

กล่าวคือ จะมีผู้ถือหุ้นบางกลุ่มที่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม (Voting Rights) มากกว่าอีกกลุ่ม แตกต่างไปจากหลักการ “หนึ่งหุ้นหนึ่งเสียง” (One Share One Vote) แบบปกติ ประโยชน์ของโครงสร้างหุ้นลักษณะนี้ก็คือ ผู้ก่อตั้งซึ่งมักจะมีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยกว่านักลงทุนรายใหญ่ จะสามารถรักษาอำนาจการควบคุมบริษัทไว้ได้ภายหลังการระดมทุน ทำให้สามารถบริหารงานโดยมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว โดยไม่ต้องกังวลกับแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่ต้องการผลกำไรในระยะสั้น 

อีกทั้งป้องกันความเสี่ยงจากการถูกเข้าครอบงำกิจการได้ด้วย จึงเป็นที่นิยมในหมู่บริษัทสตาร์ตอัป เพราะช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เติบโตมาจากการเป็นสตาร์ตอัป เช่น Google Meta Groupon และ Alibaba ก็เคยใช้โครงสร้างหุ้นแบบนี้มาก่อน สำหรับประเทศไทยนั้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำได้ในปัจจุบัน

หนึ่งในไอเดียที่น่าสนใจคือ หากเรานำโครงสร้างหุ้นแบบ Dual-class Shares มาผนวกเข้ากับแนวคิดของสินทรัพย์ดิจิทัล จะสามารถมีบทบาทพัฒนาตลาดทุน รวมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นได้หรือไม่

หากหน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม การอนุญาตให้ใช้โครงสร้างหุ้นแบบ Dual-class กับการออกโทเคนเพื่อระดมทุน (Investment Token) ได้นั้น อาจช่วยจูงใจให้เกิดโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ มากขึ้น แก้ไขปัญหาที่ปัจจุบันการออกโทเคนเพื่อระดมทุนยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทย เพิ่มผลิตภัณฑ์สัญชาติไทย ส่งเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการนำเทคโนโลยีไปใช้และผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลยังสามารถใช้โอกาสนี้เป็นโครงการนำร่องหรือ Regulatory Sandbox เพื่อทดลองใช้ระบบ Dual-class Shares ก่อนจะพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปได้อีกด้วย

สรุปได้ว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโครงสร้างหุ้นแบบ Dual-class Shares มาใช้ ถือเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจในการพัฒนาตลาดทุน แม้ในตลาดหุ้นต่างประเทศบางแห่งจะปฏิเสธที่จะรวมบริษัทที่ใช้ระบบนี้เข้าไว้ในดัชนีหลักอย่าง S&P500 หรือ FTSE Russell แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะลองพิจารณาความเหมาะสมของมันในบริบทของไทย เนื่องจากวัฒนธรรมของบริษัทสตาร์ตอัปที่มักให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว พวกเขาอาจมีความรู้ความเข้าใจ ความพร้อม และความยืดหยุ่นที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ได้มากกว่า 

กรณีนี้อาจกลายเป็นบทเรียนที่น่าสนใจของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเทคโนโลยีได้เติบโต ซึ่งจะช่วยยกระดับตลาดทุนไทยจากที่มีแต่หุ้นดั้งเดิมสู่การมีหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่มากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘มาริษ’ ประกาศกลางเวที ไทยพร้อมเป็นตัวเชื่อมระหว่าง BRICS กับกลุ่มอื่น ๆ

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเท...

'จีน' ประกาศควบคุมส่งออก 'สินค้าทางทหาร' หวังไม่ให้ถึงมือรัสเซีย

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนออกมาเน้นย้ำว่า จีนพยายามจำกัดการส่งออกสินค้าทางทหารที่ผิดกฎหมายไปยังรัสเซีย เพ...

ผลสำรวจชี้'ทรัมป์'นำโด่ง'ประเด็นเศรษฐกิจ'

ในระดับประเทศ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนนำรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส 48% ต่อ 46% ค่าค...

นายกฯ เวียดนามประกาศพร้อมร่วมงาน BRICS

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน รัฐบาลเวียดนาม แถลงผ่านเว็บไซต์ “นายจิ๋งห์ยืนยันว่า เวียดนามพร้อมจะทำงานกับ...