SX & TSCN รวมพลังผู้ซื้อ-ผู้จำหน่าย ปฏิวัติห่วงโซ่อุปทานยั่งยืน

เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย” (Thailand Supply Chain Network : TSCN) มีบทบาทเชื่อมโยงพันธมิตรทางธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรม สร้างโมเดลจับคู่อุปสงค์และอุปทานในการทำธุรกิจ และเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทยผ่านโครงการต่างๆ อย่างมากมาย

ล่าสุดใน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ที่ผ่านมา TSCN จัดงาน Business Partner Conference และการมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award เป็นครั้งแรก โดยเป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรที่เป็นแบบอย่างในซัพพลายเชน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนจนเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

รางวัล SX TSCN 48 องค์กร

“ต้องใจ ธนะชานันท์” ผู้อำนวยการคณะจัดงาน SX 2024 และเลขานุการคณะทำงาน TSCN กล่าวว่า Thailand Supply Chain Network (TSCN) ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 จากความร่วมมือขององค์กรเอกชนชั้นนำ 9 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และตอนนี้มีสมาชิกแล้วกว่า 1,500 บริษัท ที่ร่วมกันส่งเสริมการทำธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และขยายธุรกิจไปในยังต่างประเทศหรือตลาดอื่นๆ

“ปีนี้เรามีการมอบรางวัล SX TSCN Sustainability Award เป็นครั้งแรก โดยผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN ทั้ง 9 องค์กร ทำหน้าที่เป็นผู้เสนอรายชื่อซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจด้วย ให้เข้ารับประเมินการรับรางวัล โดยเสนอราชื่อได้ไม่เกิน 10 ซัพพลายเออร์ ทั้งนี้ การเสนอรายชื่อเป็นแบบสมัครใจ แต่ข้อกำหนดระบุไว้ว่า ซัพพลายเออร์นั้นๆ ต้องมีการดำเนินโครงการร่วมกับ TSCN Co-founders จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถวัดผลได้ชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือด้านสังคม ทั้งนี้ ผลของการเสนอชื่อทำให้เราได้องค์กรที่ได้รับรางวัลจำนวน 48 บริษัท และได้จัดงานมอบรางวัลในมหกรรม Sustainability Expo 2024 เมื่อ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ”

นอกจากนั้น TSCN ยังได้ เปิดตัว Business Parter Code of Conduct เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกยึดถือและปฏิบัติตาม ดังนี้

- อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม : ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การป้องกันมลพิษ

- รับผิดชอบต่อสังคม : สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การมีส่วนร่วมของชุมชน

- ธรรมาภิบาลและจริยธรรม : ต่อต้านการทุจริต ความโปร่งใสและการรายงาน การจัดซื้อจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ

“เราผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศไทยในการที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2598

โดยคณะผู้ร่วมก่อตั้ง TSCN มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคู่ค้าในเครือข่ายให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการจัดอบรม Train-the-Trainers ภายใต้ Thailand Sustainability Academy (TSA) ในช่วงงาน SX 2024 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับคณะทำงานของ TSCN ให้มีศักยภาพในการอบรมคู่ค้ารายย่อยให้สามารถจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปจนถึงการจัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างชัดเจน”

ผนึกกำลังลดใช้ทรัพยากร

“ปิยะมาศ พัฒนพงษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหา กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า ได้นำเสนอ 6 บริษัท 3 กลุ่ม ธุรกิจ คือ บริษัท เค.เอฟ.พาราวูด จำกัด บริษัท วินเนอร์ อินเตอร์ พลาส จำกัด บริษัท เอส.ที.เค. อริยะ พาร์ท แอนด์ โมลด์ จำกัด บริษัท พีจีเอ็ม แอนด์ พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัท สพ็อตออฟควอลิตี้ จำกัด และบริษัท ปักธงชัยฟู้ดโพรเซส จำกัด

“ตัวอย่างโครงการที่ทำร่วมกับ เค.เอฟ.พาราวูด เราทำร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2019 เพื่อสร้างมาตรฐานของวัสดุที่ทำพาเลทและเฟรมไม้ใหม่ที่ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรไม้ ซึ่งได้พัฒนาพาเลทไม้สำหรับส่งออกที่ลดความกว้างของแผ่นไม้ปิดทับด้านบน และการสร้าง standardization ทำให้สามารถจัดการอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ได้สะดวกขึ้น และตัวอย่างอีกหนึ่งโครงการคือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืน ที่เราทำร่วมกับวินเนอร์ อินเตอร์ พลาส โดยการพัฒนาถาดพลาสติกมีขอบเรียกว่า ECO Layer PAD ที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำมาแทนที่ถาดพลาสติกเดิมเนื่องจากพบปัญหาขวดไหล ขวดร่วง และพาเลทโย้เอียง เป็นต้น”จัดการของเสียอย่างยั่งยืน"

มุ่งลดคาร์บอนสโคป 3

“ราเชนทร์ จันทวีกูล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหา บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% ภายในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้สำเร็จภายในปี 2050 เราจึงให้ความสำคัญกับการเลือกซัพพลายเออร์ที่จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เราไปถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดคาร์บอนสโคป 3

GC ได้นำเสนอรายชื่อ 5 บริษัท คือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด และบริษัท ดับบลิวเอชเอ จีซี โลจิสติกส์ จำกัด โดยเน้นไปที่ 2 ประเด็นคือ waste management และ transportation

“เราทำโครงการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนกับ เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งการบำบัด การกำจัดของเสีย และการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตพลังงานจากขยะและการทำเชื้อเพลิงผสม โครงการนี้ช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องฝังกลบ และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

หนุน SMEs ปฏิวัติห่วงโซ่อุปทาน

“สุรสิทธิ์ ศิริสมภพ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ร่วมมือกับซัพพลายเชนในหลายมิติ ทั้งด้านนวัตกรรม และการแบ่งปันองค์ความรู้ โดยเน้นเสนอชื่อภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) สำหรับรางวัล SX TSCN Sustainability

“เราเสนอรายชื่อ 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด และบริษัท แรบบิท แคช จำกัด ขอยกตัวอย่างโครงการที่เราทำร่วมกับแรบบิท แคช คึอการส่งมอบความรู้ทางการเงินพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 8 ซึ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานเต็มรูปแบบและมีประสิทธิผล รวมถึงการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

องค์กรของเราได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของพนักงาน ในเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงินจากการวางแผนการเงินที่ไม่ดีและภาระหนี้สินจำนวนมาก ปัญหานี้ได้นำไปสู่ความเครียดประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง และปัญหาคุณภาพชีวิต ความเข้มแข็งทางการเงินเป็นกุญแจสำคัญต่อการใช้ชีวิต เราจึงได้เริ่มโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ขอบเขตโครงการเน้นไปที่การปรับปรุงความรู้ทางการเงินของพนักงาน การจัดอบรมวางแผนการเงิน การให้คำปรึกษาทางการเงินแบบตัวต่อตัว และการให้การสนับสนุนโดยตรงผ่านโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและช่วยแนะนำแนวทางในการลดหนี้ ทำให้เสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้น พนักงานมีความรู้และเครื่องมือในการจัดการการเงินที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความเครียดทางการเงินลดลง ยอดชำระหนี้ระหว่างโครงการ 2,528,000 บาท”

ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น

“อรทัย พูลทรัพย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจต่อเนื่องประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TSCN เริ่มเห็นปัญหาในซัพพลายเชนมากเยอะขึ้น เพราะโลกที่ไม่เหมือนเดิม มีความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศ และภูมิรัฐศาสตร์การเมือง ที่นำไปสู่ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น

ไทยเบฟจึงอยากส่งเสริมซัพพลายเชนให้มีความยั่งยืน ผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง มีความเข้มแข็ง และยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้ เราเสนอ 10 บริษัทสำหรับรางวัล SX TSCN Sustainability คือ บริษัท เวสต์ร๊อค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฟูจิ ซีล แพคเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“โครงการที่เราสบัยสนุนทำไม่จำเป็นต้องซับซ้อน เป็นอะไรที่ใกล้ตัว เช่น โครงการของศรีตรังโกลฟส์ เป็นการทำกล่องหมุนเวียน โดยเน้นใช้วัสดุที่ยั่งยืน ด้วยการนำกล่องลูกฟูก ที่อยู่ในสภาพดีสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ วัตถุประสงค์คือเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่าย หรือโครงการแม่พิมพ์ถุงมือที่หมดอายุการใช้งานสู่วัตถุดิบทดแทนวัสดุทนไฟ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศรีตรังโกลฟส์ และ SRIC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SCG โดยศรีตรังโกลฟส์ส่งแม่พิมพ์ถุงมือเซรามิกที่หมดอายุแล้วไปใช้เป็นวัสดุทดแทนในการผลิตวัสดุทนไฟของ SRIC แทนที่จะนำไปกำจัดในหลุมฝังกลบ โดยประโยชน์โครงการกล่องหมุนเวียน ปี 2023 สามารถลดการใช้กล่องนอกใหม่ 50% ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ 343 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนโครงการแม่พิมพ์ถุงมือที่หมดอายุการใช้งานสู่วัตถุดิบทดแทนวัสดุทนไฟ ปี 2023 ลดการส่งของเสียไปยังหลุมฝังกลบได้ 1,141 ตัน ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดได้ 2,030,000 บาทต่อปี”

ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

“กิติยา แสนทวีสุข” ผู้อำนวยการหน่วยงานความยั่งยืน บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จํากัด กล่าวว่า ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์มากว่า 4 ปี โดยต้องการตอบโจทย์ว่า จะทำอย่างไรเรื่องความยั่งยืนจะเข้าถึงผู้บริโภค เลยใช้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า B2B2C (Business-to-Consumer-to-Business) ที่ยึดผู้บริโภคเป็นแกนกลางและเชื่อโยงสู่ความยั่งยืน

“สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ การประสิทธิภาพการรวบรวมและการคัดแยกเพื่อพัฒนาคุณภาพของกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว รวมถึงเพิ่มอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) และสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิล (Recycled Content) ในการผลิตประป๋องอลูมิเนียม เราจึงร่วมมือกับบริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด ในการทำกระป๋องอลูมิเนียมแบบ Closed-Loop Recycling ผ่านทำระบบรีไซเคิลนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตลอดเวลาทุก 60 วัน (Can to Can) ซึ่งยูเอซีเจเป็นซัพพลายเออร์ที่เราเสนอชื่อมีเพียงบริษัทเดียว

โดยโครงการ การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมหมุนเวียนแบบวงปิดเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะอะลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ซ้ำๆ และค่อนข้างง่ายสําหรับสังคมในการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการรีไซเคิล เนื่องจากใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยในการหลอมอะลูมิเนียม โดยผลลัพธ์ของโครงการสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณขยะในท้องทะเล”

นับว่า ความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อและผู้จัดจำหน่ายภายใต้ TSCN เป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน เมื่อมีบริษัทเข้าร่วมการเคลื่อนไหวนี้มากขึ้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจะเติบโตเพิ่มขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ฮามาส’เล็งหาผู้นำใหม่จากนอกกาซา ตัวเก็งใกล้ชิดอิหร่าน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ในการหารือเรื่อง ผู้นำ ฮามาส ต้องพิจารณาทั้งคนที่อิหร่านผู้สนับสนุนหลักโปรด...

‘ติง หนิง’ บิ๊กบอสแชร์ลูกโซ่จีน เหยื่อถูกหลอกทะลุ 9 แสนราย ก่อความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาท

เมื่อเอ่ยถึง “แชร์ลูกโซ่” กลวิธีหลอกลวงที่ทำให้หลายคนหน้ามืดตาบอด ยอมขายบ้านขายรถมาลงทุน เพื่อหวังจะ...

เปิดรายงานชันสูตรศพผู้นำฮามาส ดับเพราะสาเหตุใด?

สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานข่าวจากนิวยอร์กไทม์ส นายแพทย์เชน คูเกล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่...

‘จีน’ เองก็เจ็บหนักจากสงคราม ’อีคอมเมิร์ซ’ วงจรอุบาทว์ปิดตำนานศูนย์กลางการค้า

“เมืองหลวงค้าส่งระดับโลก” อย่าง “เป่ยเซียจู” เคยเป็นศูนย์กลางที่คึกคักของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่หวังจ...