‘ตู้คอนเทนเนอร์’ จมมหาสมุทร ทำลายธรรมชาติ-ระบบนิเวศใต้ทะเล

ในแต่ละปีมี “ตู้คอนเทนเนอร์” ราว 250 ล้านตู้ที่ข้ามมหาสมุทรด้วยการขนส่งทางเรือ แต่ไม่ใช่ว่าสินค้าที่อยู่ในตู้ทุกชิ้นจะถึงมือผู้รับ เพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านคลื่นลมแรงถาโถมเข้าใส่เรือบรรทุกสินค้าจนทำให้มีตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งมากกว่า 20,000 ตู้ได้ตกลงไปในทะเล 

สิ่งของต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในส่วนใหญ่จะถูกพัดพามายังชายฝั่ง ทำลายแหล่งประมงและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ และยังเพิ่มปริมาณขยะในมหาสมุทรอีกด้วย ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่ดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลในที่สุดโดยที่ไม่สามารถกู้คืนได้

ยังไม่แน่ชัดว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ตกลงไปในทะเลปีละกี่ตู้ แต่จากข้อมูลของ World Shipping Council สมาคมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน รายงานว่าโดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 16 ปีที่ผ่านมามีตู้คอนเทนเนอร์สูญหายไปประมาณ 1,500 ลำ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะหายน้อยลงก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่น ๆ บอกว่าจำนวนจริงสูงกว่านี้มาก เนื่องจากข้อมูลของดังกล่าวไม่ได้รวมอุตสาหกรรมทั้งหมด และไม่มีการลงโทษหากไม่รายงานการสูญเสียต่อสาธารณะ

แอนดรูว์ เดอโวเกอแลร์ นักชีววิทยาทางทะเลจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำแห่งชาติอ่าวมอนเทอเรย์ในแคลิฟอร์เนีย ใช้เวลาศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของตู้คอนเทนเนอร์เพียงตู้เดียวที่พบในน่านน้ำของเขตรักษาพันธุ์มานานกว่า 15 ปี กล่าวว่า “สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่สนใจ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง สินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่จมอยู่ก้นทะเล เป็นเหมือนแคปซูลเวลา ถูกทิ้งไว้ใต้ทะเลมาหลายร้อยปี”

“ตู้คอนเทนเนอร์” ทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งจมลงไปในทะเล และหลายครั้งก็จมอยู่ในน้ำที่ลึกมาก บางตู้ยังปิดผนึกอยู่ บางตู้เสียหายและเปิดอยู่ แต่บางตู้ก็ไม่เคยถูกค้นพบหรือกู้คืนเลย เนื่องจากหน่วยงานรักษาชายฝั่งไม่มีอำนาจในการบังคับให้เจ้าของเรือเก็บตู้คอนเทนเนอร์คืน เว้นแต่ว่าตู้นั้นจะคุกคามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเล หรือมีน้ำมันหรือวัตถุอันตรายที่กำหนดไว้ 

ยังไม่มีใครรู้ว่าการมีตู้คอนเทนเนอร์หลายหมื่นตู้จมอยู่ใต้มหาสมุทรจะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือ ตู้คอนเทนเนอร์ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรอบตู้ไปแล้ว 

จิม แบร์รี นักนิเวศวิทยาทางทะเล จากสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Monterey Bay ศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ในทะเลที่พบโดยบังเอิญเมื่อปี 2004 พบว่าการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำและตะกอนทำให้คอนเทนเนอร์เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศขนาดเล็กรอบ ๆ อย่างสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ใต้ท้องทะเล

ในปี 2021 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่บนเรือ X-Press Pearl จนทำให้เรืออับปางห่างจากชายฝั่งของศรีลังกา ไปไม่กี่ไมล์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่กว่า 1,400 ตู้ถูกทิ้งลงทะเล และเม็ดพลาสติกจำนวนหลายพันล้านเม็ดที่อยู่ในตู้หลุดออกมา รวมถึงกรดไนตริก ตะกั่ว เมทานอล และโซเดียมไฮดรอกไซด์หลายพันตัน ที่ปนเปื้อนออกมา และทั้งหมดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล

ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ชายฝั่งทะเลปิดทำการประมงพาณิชย์เป็นเวลา 3 เดือน กลิ่นสารเคมีคละคลุ้งไปทั่วชายหาด เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันอันตรายพร้อมกับตะแกรงเก็บเม็ดพลาสติกขนาดเท่าเมล็ดถั่ว ปลาตายหลายพันตัว ในเหงือกของพวกมันเต็มไปด้วยพลาสติกผสมสารเคมี  อีกทั้งยังสูญเสียเต่าทะเลเกือบ 400 ตัว โลมา 40 ตัว และวาฬ 6 ตัวที่มีพลาสติกอยู่ในปาก 

แม้เหตุการณ์เรือ X-Press Pearl จะผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงดำเนินต่อไป ชาวประมงกล่าวว่า ในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลลดลง และจำนวนสัตว์อายุยืนยาวที่สืบพันธุ์ช้า เช่น เต่าทะเล ก็ยังคงไม่กลับมาเหมือนเดิม อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนจึงจะฟื้นตัว

นอกจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์บางตู้ก็จะลอยอยู่หลายวันก่อนจะจมลง ซึ่งทำให้เรือเดินสมุทรหรือเรือใบขนาดเล็กเกิดอุบัติเหตุได้ ตามข้อมูลของ World Sailing องค์กรกีฬาเรือใบโลก ได้รับรายงานอย่างน้อย 8 เคส ที่เรือใบชนกับสิ่งที่เชื่อว่าเป็นตู้คอนเทนเนอร์ จนนักกีฬาต้องสละเรือ

ส่วนโทมัส รูยันต์ นักเดินเรือ ได้ทำภารกิจแล่นเรือใบรอบโลกในปี 2016 แต่หลังจากแล่นเรือไปได้ 42 วัน เรือใบของเขาชนเข้ากับตู้คอนเทนเนอร์ที่ลอยอยู่จนเรือใบแตก

 

เรือส่งสินค้าใหญ่ขึ้น เพิ่มความเสี่ยงตู้คอนเทนเนอร์หล่น

กว่า 80% ของการค้าระหว่างประเทศ เป็นการขนส่งสินค้าทางทะเล ที่ใช้เรือขนส่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันมีความยาวมากกว่าสนามฟุตบอลสามสนาม โดยต้องใช้เครนในการยกตู้คอนเทนเนอร์และวางซ้อนกัน

“เรือขนาดใหญ่ในปัจจุบันเปรียบเสมือนตึกระฟ้า” Jos Koning ผู้จัดการโครงการอาวุโสของ MARIN องค์กรวิจัยทางทะเลในเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาความเสี่ยงในการขนส่งกล่าว

อุตสาหกรรมนี้เริ่มได้รับความนิยมเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน สมัยนั้นเรือสามารถบรรทุกสินค้าได้เพียงประมาณ 10% ของจำนวนสินค้าที่เรือขนาดใหญ่ในปัจจุบันขนส่งได้ โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเพิ่มความจุของเรือเพิ่มเป็นสองเท่า

ขนาดเรือที่ใหญ่ขึ้นทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เรือขนาดใหญ่ที่สุดเริ่มจะบังคับเรือได้ยากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะโคลงเคลงเมื่อคลื่นสูง ทำให้มีโอกาสที่ตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย หรือถูกทับ หรือร่วงหล่นลงทะเล นอกจากนี้การไม่ชั่งน้ำหนัก และวางตู้คอนเทนเนอร์ไม่ตรงช่อง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน เห็นได้จากเหตุการณ์เรือ X-Press Pearl ไฟไหม้ ที่มีสาเหตุมาจากตู้คอนเทนเนอร์ที่วางซ้อนกันไม่ดีจนเกิดกรดไนตริกรั่วไหล

เมื่อต้นปีนี้ องค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศของสหประชาชาติได้แก้ไขสนธิสัญญาทางทะเลระดับโลก 2 ฉบับเพื่อเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งที่สูญหาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2026 โดยกำหนดให้เรือต้องรายงานการสูญเสียต่อประเทศชายฝั่งใกล้เคียงและต่อหน่วยงานที่เรือจดทะเบียน แต่เนื่องจากไม่มีบทลงโทษที่บังคับใช้ได้ จึงต้องรอดูว่าผู้ประกอบการจะปฏิบัติตามกฎหมายมากเพียงใด


ที่มา: AP News, Euro News

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ฮามาส’เล็งหาผู้นำใหม่จากนอกกาซา ตัวเก็งใกล้ชิดอิหร่าน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ในการหารือเรื่อง ผู้นำ ฮามาส ต้องพิจารณาทั้งคนที่อิหร่านผู้สนับสนุนหลักโปรด...

‘ติง หนิง’ บิ๊กบอสแชร์ลูกโซ่จีน เหยื่อถูกหลอกทะลุ 9 แสนราย ก่อความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาท

เมื่อเอ่ยถึง “แชร์ลูกโซ่” กลวิธีหลอกลวงที่ทำให้หลายคนหน้ามืดตาบอด ยอมขายบ้านขายรถมาลงทุน เพื่อหวังจะ...

เปิดรายงานชันสูตรศพผู้นำฮามาส ดับเพราะสาเหตุใด?

สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานข่าวจากนิวยอร์กไทม์ส นายแพทย์เชน คูเกล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่...

‘จีน’ เองก็เจ็บหนักจากสงคราม ’อีคอมเมิร์ซ’ วงจรอุบาทว์ปิดตำนานศูนย์กลางการค้า

“เมืองหลวงค้าส่งระดับโลก” อย่าง “เป่ยเซียจู” เคยเป็นศูนย์กลางที่คึกคักของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่หวังจ...