ฉลากสิ่งแวดล้อม กลไกจัดซื้อจัดจ้าง ตัวช่วยเลี่ยง Greenwashing

ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรม การกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสม และการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย

ฉลากสิ่งแวดล้อมมีบทบาทกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ นำแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น การลดขยะ การประหยัดพลังงาน และการใช้วัสดุที่ยั่งยืน สิ่งนี้ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษ ทำให้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง

ความต้องของบริษัทในการได้การรับรองฉลากเขียวมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นไปสู่ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภคมีความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกำลังค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายข้างต้นสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI จึงได้จัดงานเสวนา “TEI-Ecolabelling Forum 2024: Green Solution for Production ตอบโจทย์การผลิตสีเขียวด้วยฉลากสิ่งแวดล้อม”

ในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ การละเลยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าในอนาคต การผลิตสีเขียวเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการใช้วัสดุที่สามารถ รีไซเคิลได้ การลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และการใช้พลังงานที่สะอาด

การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว

"ดร.วิจารย์ สิมาฉายา" ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวถึงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า ฉลากสิ่งแวดล้อมคือกลไกสำคัญหนึ่งที่ขับเคลื่อนตลาดสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ การใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น โดยฉลากเหล่านี้จะบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และยังส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมีส่วนร่วมในการริเริ่มฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่หนึ่งของไทย นั่นคือฉลากเขียว ในปี 2536 โดยมีมีภารกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ให้มีแนวปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

2) การให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนด

3) การประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ

พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม

ดร.สุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นฉลากสิ่งแวดล้อมกับการผลิตสีเขียวว่า กรมควบคุมมลพิษได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดให้พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือ ซึ่งการพิจารณาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตามความสำคัญและความพร้อมของผู้ผลิตในการดำเนินการ

โดยเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดให้สินค้าต้องผ่านคุณภาพหรือมาตรฐานเทียบเท่าสินค้าทั่วไป หรือได้รับ มอก. และมีคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิเช่น การพิจารณาประสิทธิภาพพลังงานระหว่างการผลิตหรือการใช้งาน ไม่ใช้สารเคมีหรืออันตรายต่างๆ ในการผลิต มีการจัดการวัตถุดิบ ขบวนการผลิต ที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือขยะหลังผลิตภัณฑ์หมดอายุ มีอายุการใช้งาน การสำรองอะไหล่ยาวนานขึ้น

ปัจจุบันบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีรายการสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียน 42 ประเภท 1683 รายการ ประกอบด้วย

1. ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 หรือฉลากเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายบริหารฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ

2. สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมควบคุมมลพิษ หรือตะกร้าเขียว

3. ฉลากทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฉลากลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ สำหรับสินค้าที่ไม่มีเกณฑ์ของฉลากเขียวหรือตะกร้าเขียวเป็นการเฉพาะ

ซึ่งหน่วยงานที่สนใจสามารถตรวจสอบ บัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ได้ที่เว็บเพจของกรมควบคุมมลพิษ

ตัวช่วยเลี่ยง Greenwashing

ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ฉลากสิ่งแวดล้อมคือฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการคุณภาพที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยว่า เป็นข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ ได้ลดการใช้ทรัพยากรหรือลดการก่อมลพิษในกระบวนการผลิต ใช้งาน และหลังใช้งาน รวมถึงเป็นกลไกสื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์

และยังเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่ผู้บริโภค เพราะช่วยหลีกเลี่ยงการโฆษณาชวนเชื่อสีเขียว (Greenwashing) ที่เป็นการหลอกหลวงผู้บริโภค พูดเกินจริงว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งยังเป็นการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น แต่แนวโน้มปัจจุบันของผู้บริโภคด้านสิ่งแวดล้อมยังมีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำ ความเข้าใจยังมีจำกัด อีกทั้งยังมีความท้าทายที่ผู้บริโภคจำนวนมากมองว่าผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมีราคาแพงกว่า การเข้าถึงผลิตภัณฑ์นั้นยังจำกัดแต่พื้นที่ในเมือง และยังต้องการรายละเอียดที่ชัดเจนของผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อ โดยปัจจัยความสำเร็จของการผลิตสีเขียวคือการมีส่วนร่วมของห่วงโซ่ทั้งหมด ทั้งภาครัฐ ภาคผู้ผลิต และผู้บริโภค

4 ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ฉลากสิ่งแวดล้อมที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้การรับรองในปัจจุบันนี้ มี 4 ฉลาก คือ 1) ฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ที่ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ในประเภทเดียวกัน ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ 2) ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Circular Mark) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ     ทำให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและพัฒนานวัตกรรมในการใช้วัสดุหมุนเวียน 3) ฉลากข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ (EPD) เป็นฉลากที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฎจักรชีวิต ได้แก้ ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานและทรัพยากรของผลิตภัณฑ์ และข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค (CEC) เป็นฉลากที่สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีการผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสาคัญ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้การรับรอง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ผ้าและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป

อย่างไรก็ดี การเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่รัฐบาล บริษัท ไปจนถึงผู้บริโภค การผลิตสีเขียวและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกของเรา เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้โลกนี้ดีขึ้น จะนำไปสู่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไปได้อย่างแท้จริง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'อิสราเอล' ปฏิเสธ รถถังโจมตีฐานทัพ UN ในเลบานอน ชี้ 'แค่ขนทหารบาดเจ็บ'

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติในเลบานอน (United Nations Interim Force in Lebanon: UNIFIL) รายง...

เปิดสมรรถนะจีน ‘ไม่ใช่แค่ซ้อมแต่พร้อมรบ’

ร้อยเอกหลี่ซี่ โฆษกกองบัญชาการภาคตะวันออก กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) เผยว่า การซ้อมรบ Joint Sw...

‘สหรัฐ’ เตรียมส่งทหารไป 'อิสราเอล' พร้อมระบบสกัดกั้นขีปนาวุธขั้นสูง

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เผยเมื่อวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ว่า การส่งทหารไปอิสราเอล พร้อมกับระบบต่อต้าน...

วันเดียวจบ! จีนซ้อมรบเตือนไต้หวันห้ามแบ่งแยกดินแดน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน รัฐบาลปักกิ่งประกาศเมื่อราว 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น 13 ชั่วโมงหลังเริ่มซ้อมรบ...