‘สัตว์ป่า’ ลดลง 73% ระบบนิเวศพัง ใกล้ถึงจุดวิกฤติเพราะ ‘โลกร้อน-บุกรุกป่า’

ประชากรสัตว์ป่าใกล้จะ “ถึงจุดที่ไม่อาจหันกลับได้” เพราะในบางภูมิภาคประชากรสัตว์ป่าโดยเฉลี่ยลดลงถึง 95% ผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมยืนยันว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้

จากรายงาน “Living Planet” ของ WWF ร่วมกับ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) พบว่า ในรอบ 50 ปี ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73% และมนุษย์ยังคงทำให้ “ระบบนิเวศ” ใกล้จะล่มสลายลงไปทุกที โดยภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีจำนวนประชากรสัตว์ป่าลดลงมากที่สุดในโลกถึง 95% รองลงมาคือแอฟริกาที่ลดลง 76% ตามมาด้วยเอเชียและแปซิฟิกที่ 60% ส่วนอเมริกาเหนือลดลง 39% และยุโรปอยู่ที่ 35% 

Living Planet รวบรวมข้อมูลของสิ่งมีชีวิตเกือบ 35,000 สายพันธุ์จากทั่วโลก ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน 5,495 สายพันธุ์ที่มีจำนวนลดลงจนเข้าสู่สถานะอันตราย โดยกลุ่มสัตว์น้ำจืด เช่น ปลา กบ และซาลาแมนเดอร์ มีจำนวนลดลงมากถึง 85% ส่วนสัตว์ในทะเลลดลงน้อยกว่า โดยลดลง 56% ซึ่งเป็นผลมาจากภัยคุกคามนานัปการที่แหล่งน้ำในโลกต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมไมโครพลาสติก ไปจนถึงการทำเหมืองใต้น้ำลึก 

จากภาพรวมที่รายงานพบว่า ประชากรโลมาแม่น้ำสีชมพูและโลมาทูคูซี ที่อาศัยอยู่ในบราซิลลดลง 65% และ 57% ตามลำดับ เนื่องมาจากการล่าของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คุกคามการอยู่รอดของโลมา

ในกาบอง จำนวนช้างป่าลดลง 78-81% โดยนักวิจัยของ WWF พบหลักฐานที่ชัดเจน ของการลักลอบล่าเพื่อการค้างาช้าง เนื่องจากช้างป่าเกือบครึ่งหนึ่งของแอฟริกาอยู่ในกาบอง ดังนั้นการลดลงของช้างในประเทศนี้จึงเป็นปัญหาหลักที่อาจทำให้ช้างสูญพันธุ์ได้

“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย”
-ดาอูดี ซุมบา หัวหน้าเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของ WWF กล่าว

ในปีต่อ ๆ ไป โลกจะสูญเสียสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน” รุนแรงยิ่งขึ้น เกิดจากจุดเปลี่ยนในป่าฝนอะเมซอน มหาสมุทรอาร์กติก และระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อธรรมชาติและสังคมมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจประเมินการลดลงของสัตว์ป่าเกินจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายอมรับว่าประชากรสัตว์ป่าจำนวนมากทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ฮันนาห์ วอโชป อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า “ดัชนี Living Planet ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ เมื่อการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ยังคงดำเนินต่อไป ประชากรสัตว์จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง”

บัญชีแดง” ของ IUCN การประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์มากกว่า 160,000 สายพันธุ์ พบว่าเกือบหนึ่งในสามมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกร้อยละ 41 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26% และต้นสน 34% มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ไมค์ บาร์เร็ตต์ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ของ WWF-UK กล่าวว่าประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร เป็นผู้ผลักดันที่ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าและเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

“ข้อมูลที่เรามีแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียดังกล่าวเกิดจากการเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ สิ่งที่เราเห็นจากรายงาน คือ ในตอนนี้การเปลี่ยนแปลงที่หยั่งรากลึกในระบบนิเวศตามธรรมชาติของเรา ซึ่งถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับปัญหาแหล่งที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม” บาร์เร็ตต์กล่าว

ดัชนี Living Planet เผยแพร่ไม่กี่วันก่อนการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 16 หรือ การประชุม CBD COP16 ที่จัดขึ้นระหว่าง 21 ต.ค. - 1 พ.ย. 2024 ที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งจะเป็นการประชุมกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การรับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal) ในปี 2022 ซึ่งเป็นความตกลงเป้าหมายระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของสิ่งมีชีวิตบนโลก

ที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละประเทศไม่เคยบรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันได้เลยและนักวิทยาศาสตร์กำลังเรียกร้องให้ผู้นำโลกหาข้อสรุปให้ได้ โดยซูซานา มุฮัมมัด ประธานการประชุม CBD COP16 และรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของโคลอมเบีย กล่าวว่า ในครั้งนี้ต้องรับฟังวิทยาศาสตร์และดำเนินการเพื่อไม่ให้ระบบนิเวศโลกล่มสลาย

“โลกกำลังไปถึงจุดที่ไม่สามารถหันกลับได้ และถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้น เราจะไม่สามารถกลับมาช่วยโลกได้อีกแล้ว ตอนนี้เราเห็นผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศธรรมชาติ การใช้ที่ดินมากเกินไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก การสูญเสียป่าเขตร้อน การพังทลายของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลก และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัฏจักรน้ำ ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตบนโลกของเรา” มุฮัมมัดกล่าว

การใช้ที่ดิน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ประชากรสัตว์ป่าลดลง เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมขยายตัว ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ป่าฝนเขตร้อน โดยแมทธิว กูลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ZSL กล่าวว่า “รายงานแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เรากำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนสำคัญในการสูญเสียธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เรารู้ว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้หากได้รับโอกาส และยังพอมีเวลาแก้ไข

รายงานระบุว่าประชากรสัตว์บางส่วนคงที่หรือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผมมาจาก การอนุรักษ์และการปล่อยสายพันธุ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น กระทิงยุโรปหายไปจากป่าในปี 1927 แต่ในปี 2020 มีจำนวน 6,800 ตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมพันธุ์ในครั้งใหญ่และการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครอง


ที่มา: Aljazeera, The Conversation, The Guardian, WWF

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘รถหรู’ เป้าหมายต่อไปของ ‘อีวีจีน’ เร่งเดินหน้าลุยตลาดอาเซียน

หลังจากประสบความสำเร็จในการบุกตลาดรถยนต์อีวีโดยใช้ “กลยุทธ์ราคา” ที่ถูกกว่าฝ่าทะลวงเจ้าตลาดค่ายรถญี่...

จีนซ้อมรบรอบใหม่ใกล้ไต้หวัน คาด ‘ฝึกปิดท่าเรือ-ไล่กองกำลังต่างชาติ’

กองทัพจีน เริ่มซ้อมรบรอบใหม่ใกล้เกาะไต้หวันอย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุด เพื่อปราม “การกระทำแบ่งแยกดินแดนขอ...

‘เศรษฐกิจ’ เน้นสงคราม ทำเสถียรภาพ ‘รัสเซีย’ สั่นคลอน

นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นให้ความสำคัญกับสงคราม และมีแผนใช้จ่ายด้านการทหารจำนวนมาก เสี่ยง...

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

นอกจากนั้น ตัวของแฮร์ริสเองและทีมงาน ก็ไม่ได้ไว้วางใจ และย้ำในการหาเสียงอย่างสม่ำเสมอว่า ฝ่ายของตนเป...