WTOหนุนปรับโครงสร้างแวลูเชน“เหล็ก” สู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ

เมื่อเร็วๆนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดฟอรัมสาธารณะขึ้นในหัวข้อ  Re-Shaping Low Emission Steel Value Chains ซึ่งมีผู้บริหารอุตสาหกรรมเหล็กมาเล่าถึง บทบาทสำคัญของการค้าและการกำหนดมาตรฐานเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความคิดริเริ่มว่าด้วยหลักการมาตรฐานเหล็ก ซึ่งเปิดตัวในงานประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ  หรือ COP28 เมื่อปี2566

      เอ็ดวิน บาสสัน ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมเหล็กโลก กล่าวว่า แนวความคิดดังกล่าวอยู่บนความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมเหล็กกำลังดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกต้องในการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งความสำคัญของการมีนโยบายสนับสนุน รวมถึงการกำหนดแนวทางด้านการค้าและวิธีการวัดการปล่อยมลพิษร่วมกันจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมาย

“แม้จะมีข้อจำกัดด้านเวลา ข้อจำกัดด้านเงินทุน การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา แต่ฉันค่อนข้างมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเหล็กโลกกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสิ่งนี้จะมองเห็นได้ภายในปี 2030 และ 2040”  

ด้านแอนน์ ฟาน อิเซนดิก รองประธานและหัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐบาลและสิ่งแวดล้อมของ Arcelor Mittal กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญคือการขาดนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนทั้งที่เป็นบทบาทเร่งสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงความพร้อมและความสามารถในการซื้อพลังงานสะอาดซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมนี้

“เพื่อที่จะกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอนขนาดใหญ่ เราจำเป็นต้องมีนโยบายด้านสภาพอากาศและนโยบายการค้ามาบรรจบกันมากขึ้นและขจัดอุปสรรค แทนที่จะสร้างอุปสรรคมากขึ้นเรื่อยๆ” 

แอดินา รีนี แอดเลอร์  ผู้อำนวยการบริหาร  Global Steel Climate Council  กล่าวว่าจากการทำงานเกี่ยวกับวิธีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันผ่านความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น หลักการมาตรฐานเหล็ก ซึ่งมุ่งเน้นที่จะปรับวิธีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนเหล็กให้สอดคล้องกัน

“ธุรกิจต่างๆ ต้องมีตลาดที่เปิดกว้าง โปร่งใส และคาดเดาได้ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของ WTO นั่นหมายถึงการทำให้แน่ใจว่าวิธีการ การคำนวณ ข้อมูล และทุกสิ่งที่คุณต้องการทราบเกี่ยวกับวิธีการที่สมาชิกของเราจะดำเนินการไปถึงจุดหมายนั้นสามารถเข้าถึงได้โดยเสรี”

ทั้งนี้  กลยุทธ์ต่างๆ เช่น หลักการหกประการสำหรับการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศ คู่มือ และคำแนะนำของคณะกรรมการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO นั้น เป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กต้องการดำเนินการ ซึ่งในที่นี้ต้องรวมถึงจรรยาบรรณการปฏิบัติที่ดีของข้อตกลง TBTด้วย

ด้าน อึงโกซี โอโกนโจ-อิเวลา ผู้อำนวยการใหญ่WTO  กล่าวในการประชุมว่า การปรับเปลี่ยนค่าการปล่อยมลพิษต่ำในภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กกำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่สำคัญสำหรับประเทศต่างๆ และบริษัทต่างๆ เพราะเป็นการตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนที่เป็นศูนย์

“ความสามารถของประเทศต่างๆในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่ปล่อยมลพิษต่ำให้กับห่วงโซ่คุณค่ากำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และเราเห็นสิ่งนี้ชัดเจนในภาคส่วนของอุตสาหกรรมเหล็ก”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในผู้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก จึงต้องเผชิญกับความท้าทายสองประการ คือ การรักษาบทบาทสำคัญในการค้าโลกไปพร้อมกับการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ

โดยการผลิตเหล็กกล้าทั่วโลกเกือบ 25% ข้ามพรมแดนไปสู่พื่้นที่ต่างๆ การผนวกแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้ากับอุตสาหกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่มีความจำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นสำคัญในตัวของภาคการค้าเองอีกด้วย

สำหรับสำนักงานเลขาธิการWTO สนับสนุนความพยายามในการช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของภาคส่วนอุตสาหกรรมเหล็กกล้าผ่านหลักการมาตรฐานเหล็กกล้า ซึ่งได้รับการรับรองจากผู้ผลิตเหล็กกล้ารายสำคัญกว่า 50 ราย รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน ,องค์กรระหว่างประเทศ และโครงการริเริ่มต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างมีความพร้อมได้ทันที 

 เมื่อเร็วๆนี้ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผู้บริหารของ บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ถือหุ้นหลักโดยบริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าหารือกับบีโอไอ เพื่อลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า 

ประกอบด้วยการลงทุนของ บมจ. จี สตีล ที่จังหวัดระยอง 3,000 ล้านบาท และ บมจ. จี เจ สตีล ที่จังหวัดชลบุรี 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพและขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น ยกระดับสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการวัตถุดิบเหล็กรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

กลุ่มนิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น (NSC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งสายการผลิตแรกในประเทศไทยมากว่า 60 ปี เริ่มจากการผลิตท่อเหล็กก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยมีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง มีพนักงานในไทยรวมกันกว่า 8,000 คน 

 เมื่อปี 2565 ได้เข้าร่วมลงทุนใน บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของไทย ปัจจุบันกลุ่มบริษัท จี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นกลุ่มบริษัทเดียวที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และยังเป็นผู้รีไซเคิลเศษเหล็กรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของไทย และสอดรับกับทิศทางความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำในตลาดโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้เหล็กต่อคน (Steel consumption per capita) มากที่สุดในอาเซียน คือประมาณ 234 กิโลกรัมต่อคนต่อปี 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศไทยประมาณ 180 ราย แบ่งเป็นเหล็กทรงยาวประมาณ 100 ราย และเหล็กทรงแบนประมาณ 80 ราย 

โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 60%  รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 20%  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7%  เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม 5%  และบรรจุภัณฑ์ 5%  และอื่น ๆ 3% 

โดยที่ผ่านมาตลาดเหล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากภาวะ Oversupply และการเร่งระบายเหล็กจากประเทศจีนออกสู่ตลาดโลก 

การที่กลุ่มจี สตีล และ จี เจ สตีล ตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทเหล็กในประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของกติกาการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดกลุ่มยุโรปในอนาคต

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

โอบามา ลุยหาเสียงช่วยแฮร์ริส เลือกตั้งสหรัฐ สูสี แม้เข้าช่วงโค้งสุดท้าย

อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เชิญชวนให้ชาวอเมริกันลง คะแนนเสียงให้กับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส...

TikTok เลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน หลังใช้ AI ทำงานกรองเนื้อหาแทน ‘มนุษย์’

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ไบต์แดนซ์” (ByteDance) บริษัทแม่ของ TikTok ประกาศว่ากำลังเลิกจ้างพนักงาน...

‘เฮดจ์ฟันด์ชั้นนำ’ หันมาช้อนหุ้นจีน ชี้ราคาปัจจุบันยังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “กองทุนเฮดจ์ฟันด์ชั้นนำของจีน” หันมาซื้อหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในฮ...

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนยินดีไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษชนยูเอ็น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 11 ต.ค. ความว่า ตามที่ประเทศไทยได้รับการเลือ...