ดิไอคอน กรุ๊ป จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง 'สมาคมการขายตรงไทย' แนะข้อตรวจสอบ

"กรุงเทพธุรกิจ" ได้มีการตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด (THE iCON GROUP) ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโซเชียลประเทศไทย โดยจากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า บริษัทมีรายชื่อจดทะเบียน  "ธุรกิจการตลาดแบบตรง" แต่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง และไม่ได้อยู่ในสมาคมการขายตรงไทย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สคบ. ระบุว่า "การทำธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น" จะไม่มีพนักงานขาย เนื่องจากเป็นการขายสินค้า หรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เหล่านี้ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถจับต้องสินค้าหรือเห็นรูปร่างลักษณะของสินค้าได้อย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค ส่วนใหญ่พบว่าสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อมักจะไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างตามที่ได้โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และเมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิคืนสินค้าตามที่ผู้ประกอบธุรกิจให้คำรับประกันความพอใจก็ไม่ได้รับเงินคืน หรือได้รับเงินคืนล่าช้าเกินควร

แตกต่างจาก "ธุรกิจขายตรง" คือ เป็นวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเข้าถึงตัวผู้บริโภค โดยมีผู้ขายที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงเป็นผู้นำสินค้าไปอธิบาย หรือสาธิตเกี่ยวกับสรรพคุณ คุณภาพของสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรงตามสถานที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ค้าขายตามปกติ 

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของ สคบ. ระบุว่า  จำนวนผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ในไทยมีจำนวน 638 บริษัท ส่วนจำนวนผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง มีจำนวน 887 บริษัท

แนะคนไทยตรวจสอบก่อนลงทุนหรือซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ "สมาคมการขายตรงไทย" ที่มีการเปิดเผยรายละเอียดของ "ขายตรงที่ถูกต้อง" กับ "ระบบพีระมิด" ที่มีความแตกต่างกันดังนี้คือ 

สำหรับขายตรงที่ถูกต้องคือ 

  1. ค่าธรรมเนียมในการสมัครต่ำ เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น 
  2. จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง มียอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าได้ซ้ำอีกเรื่อยๆ และความพึงพอใจของลูกค้าสำคัญ รวมถึง บริษัทมีการทุ่มงบจำนวนมาก เพื่อการวิจัยค้นคว้า และพัฒนาคุณภาพสินค้า
  3. รับประกันคุณภาพความพอใจของสินค้าโดยการคืนเงิน ลูกค้าสามารถเปลี่ยน หรือ คืนสินค้ากับบริษัทได้ เมื่อต้องการภายในเวลาที่เหมาะสม 
  4. ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจระยะยาว มีความสำคัญมาก เพราะบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ขาย ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
  5. การจ่ายผลตอบแทน รายได้ และตำแหน่ง จะขึ้นอยู่กับการทำงานของผู้ขาย หมายถึงรายได้จะมาจากยอดขายที่ขายสินค้าได้ 
  6. การก่อตั้งธุรกิจขึ้นอยู่กับการขายสินค้าคุณภาพ คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไป 
  7. ผู้ชายอิสระที่อาศัยการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้
  8. มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมีข้อห้าม มิให้ผู้ขายกักตุนสินค้า
  9. ผู้ขายจะเน้นการขายสินค้า และบริการ 
  10. ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการขายสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือจากการขายตามห้าง ซึ่งผู้บริโภค นักขายตรง และบริษัทขายตรงก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

 

 

สำหรับ "ระบบพีระมิด" 

  1. ค่าธรรมเนียมจากการสมัครสูง ผู้สมัครจะถูกหลอกให้จ่ายค่าฝึกอบรม และซื้อสินค้าเกินความต้องการ ผลกำไรของระบบพีระมิดส่วนใหญ่จะมาจากการรับสมัครสมาชิก
  2. ไม่สนใจที่จะจำหน่ายสินค้าคุณภาพ สินค้าส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ และได้ผลกำไรสูง รายได้จะมาจากการรับสมัครสมาชิกใหม่ ซึ่งจะถูกบังคับให้ซื้อสินค้าที่มีราคาสูงเป็นจำนวนมาก
  3. ไม่มีนโยบายรับซื้อสินค้ากลับคืน เพราะนโยบายนี้จะทำให้ระบบพีระมิดล้มได้
  4. ร่ำรวยในเวลารวดเร็ว (Get - rich - quick scheme) ผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ที่ฐานของพีระมิดจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่คนไม่กี่คน ที่อยู่ระดับจุดยอดของพีระมิด ซึ่งธุรกิจรูปแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้นาน
  5. ตำแหน่งในระบบสามารถซื้อได้
  6. ระบบนี้ไม่เน้นการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่ผลกำไรจะมาจากสมาชิกที่สมัครใหม่ ซึ่งพวกเขาต้องซื้อสินค้ากักตุน ไม่ใช่เพราะสินค้ามีประโยชน์หรือมีราคาดี แต่ถูกบังคับซื้อตามระบบ สมาชิกใหม่จะรับภาระกับสินค้าที่ตนขายไม่ได้ และเมื่อระบบพีระมิดล้ม พวกเขาจะไม่ได้รับเงินลงทุนกลับคืน
  7. ฉ้อฉลหลอกลวงคนให้เข้ามาในระบบ
  8. ผู้เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการสมัครที่สูงกว่า หรือจ่ายค่าสินค้าที่ถูกบังคับซื้อในตอนที่สมัคร
  9. ในระบบนี้จะเน้นการรับสมัครสมาชิกใหม่เป็นหลัก และบังคับให้ซื้อสินค้าเมื่อเริ่มสมัคร แต่ไม่สนใจการขายสินค้าจริงๆ หรือบริการหลังการขาย
  10. เป็นระบบที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในปัจจุบันธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมาก และทำเงินมหาศาลหลักร้อย พันหมื่นล้านบาท ในเวลาอันสั้น ดังนั้น ประชาชน ควรหมั่นตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง สินค้า บริษัท ไม่มองเพียงการใช้พรีเซนเตอร์มาดึงดูด เพราะสินค้าจำนวนมากที่ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งมาได้ จะมีองค์ประกอบสินค้าดี มีคุณภาพ มีการทำตลาด มีช่องทางขาย โปรโมชัน ที่สำคัญ ตั้งอยู่บนความน่าเชื่อถือ และจรรยาบรรณทางธุรกิจ หรือความโปร่งใส ธรรมาภิบาลต่างๆ 

ทั้งนี้ บริษัทที่จะประกอบธุรกิจขายตรงจะต้องยื่นขอจดทะเบียนกับ สคบ. (กองขายตรงและตลาดแบบตรง) ก่อนทำธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยประชาชน สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่จดทะเบียนกับ สคบ. แล้วตามลิงก์ : https://ocpbdirect.ocpb.go.th/

 

 

 

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

รัฐบาลสหรัฐเปิดศึก ‘กูเกิล’ ใหญ่เกินไปจน ‘ผูกขาดตลาด’

คอนเซปต์ทางธุรกิจเรื่อง Too Big to Fail ที่เคยเชื่อกันว่าธุรกิจใหญ่เกินไปที่จะล้มได้ หรือใหญ่เกินไปท...

รู้จัก ‘การประมูลแบบดัตช์’ หนทางรอดสินค้าค้างสต็อกแฟชั่นออนไลน์

แพลตฟอร์มแฟชั่นหรูชื่อดังอย่าง Farfetch, Matchesfashion และ Yoox Net-a-Porter กำลังเผชิญกับวิกฤติทาง...

'เฮอริเคนมิลตัน' ขึ้นฝั่งฟลอริดา ทอร์นาโดหลายลูกถล่มซ้ำ

รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา แถลงข่าวประจำวันเมื่อเย็นวันพุธ (9 ต.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่น ยืนยันเ...

‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ถล่มกันยับด้วยพายุเฮอริเคน

รองประธานาธิบดีแฮร์ริส กล่าวเมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เธอคิดว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ...