จัดแถว ‘สิงห์คลองหลอด’ เกลี่ยดุลอำนาจปูทาง ‘เลือกตั้ง’

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ไฟเขียวบัญชีรายชื่อ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับผู้บริหารระดับสูง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 25 ตำแหน่ง 

โฟกัส  “สิงห์คลองหลอด” ตำแหน่งสำคัญ  ทั้ง “อธิบดีกรมการปกครอง” ตกเป็นของ  “ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  ตามความคาดหมาย ไม่ต่างจากตำแหน่งอธิบดีปภ.ซึ่งเป็นของ “ไชยวัฒน์” เดิม มีการโยกย้าย“ภาสกร บุญญลักษม์” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นสายตรงมท.หนู มานั่งในตำแหน่งอธิบดีแทน 

ในส่วนของ “อธิบดีไชยวัฒน์”  ถือเป็นสายตรง “ครูใหญ่บุรีรัมย์” ผู้มากบารมีพรรคเจ้ากระทรวง ชีวิตราชการเติบโตในพื้นที่อีสานใต้ ตำแหน่งก่อนหน้า เคยเป็นรองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ก่อนขยับขึ้นผู้ว่าฯ บุรีรัมย์

ก่อนหน้านี้ ปรากฏชื่อเป็น“ตัวเต็ง” ที่จะขึ้นแท่น  “ปลัดกระทรวงมหาดไทย”  แต่อาจด้วยความเป็น “สิงห์ไม่มีสี” เนื่องจากไม่ได้จบรัฐศาสตร์ หรือเป็นศิษย์ในรั้วสิงห์ดำ-สิงห์แดง-สิงห์ทอง หรือสิงห์ขาว แต่จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แม้ก่อนหน้าจะแหวกเข้าป้าย“อธิบดีปภ.” ซึ่งแต่เดิมถูกผูกขาดด้วย“สิงห์ดำ” มาอย่างฉลุย แต่ภายใต้เงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะอายุราชการที่เหลือเพียง 1 ปี 

สเปกนี้จึงอาจไม่ตอบโจทย์การวางงานในระยะยาว ในห้วงที่“พรรคสีน้ำเงิน” คุมกระทรวงคลองคลอด โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอีกราว 1-3 ปีข้างหน้า อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม หรือมีเหตุอะไรระหว่างทางหรือไม่ 

เป็นเช่นนี้ตำแหน่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคลองคลอด จึงถูกสลับไปที่ “ปลัดป็อบ” อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และเป็น “ขุนพลข้างกาย” มท.หนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ที่เหลืออายุราชการราว 7 ปีซึ่งมีการแต่งตั้งไปแล้วก่อนหน้านี้

จะว่าไปแม้ “อธิบดี ไชยวัฒน์”จะเหลืออายุราชการแค่ปีเดียว แต่การได้คุมกรมการปกครอง ก็ถือเป็นมือเป็นไม้ในการต่อยอดทางการเมืองในระยะสั้นในช่วงวาระ 1 ปีที่เหลือได้ไม่น้อย

โดยเฉพาะเวลานี้ สนามเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น คือศึกชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ “นายกอบจ.” ที่เริ่มเปิดฉากเป็นระยะ นับตั้งแต่เดือน มี.ค. - ต.ค.2567 มีการเลือกตั้งไปแล้ว 14 จังหวัด โดย พรรคเจ้ากระทรวง ชนะไปถึง 8 จังหวัด ประกอบด้วย เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ อุทัยธานี และระนอง

ที่เหลือเป็นพรรคพื่อไทย 3 จังหวัด คือ พะเยา พิษณุโลก และ ยโสธร รวมไทยสร้างชาติ 2 จังหวัด คือ ชัยนาท ชุมพร และรวมไทยสร้างชาติ+กลุ่มผู้กองอีก 1 จังหวัด คือ ราชบุรี ขณะที่เดือน พ.ย. จะมีเลือกตั้งอีก 6 จังหวัด อุดรธานี สุโขทัย เพชรบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เหลือจะเปิดฉากเต็มรูปแบบไม่เกินสิ้นปีนี้ 

 

ขณะที่ “สิงห์คลองหลอด” ตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ จะมีทั้ง “ขจร ศรีชวโนทัย” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อนร่วมรุ่นสิงห์ดำจุฬาฯ กับ “ปลัดเก่ง”  สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตปลัดมท. อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นวปอ. กับมท.อนุทิน แต่ภายหลังมีกระแสข่าวเรื่องคลิปเสียงบ้านป่า จึงถูกโยกให้นั่งรองปลัดกระทรวงฯ  แล้วดัน “นฤชา โฆษาศิวิไลซ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สายตรงบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดี สถ. แทน

ส่วนที่เหลือจะเป็นในส่วนของ “พ่อเมือง” จังหวัดต่างๆ อีกที่มีการโยกย้ายสลับตำแหน่ง 

คล้อยหลัง 4 วันหลังงานวันเกิดครูใหญ่เนวิน ที่สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎภาพ บุคคลจากหลากหลายวงการ  โดยเฉพาะบรรดา “สิงห์คลองหลอด”  ที่ไปปรากฎตัวภายในงาน

ไม่ต่างจาก“มท.หนู อนุทิน” เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงมหาดไทยในยุคต่อจากนี้ไป จะมีความเป็นเอกภาพ

เป็นเช่นนี้ต้องจับตาในวันที่ “กระทรวงคลองหลอด” ถูกกระชับอำนาจโดย “ค่ายสีน้ำเงิน” ขณะที่ในระดับนโยบาย มีการแบ่งสรรอำนาจประกอบด้วย 

“มท.หนู” อนุทิน (พรรคภูมิใจไทย) ปฏิบัติราชการในหน่วยงาน สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประสานงานส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

มท.2 ทรงศักดิ์ ทองศรี (พรรคภูมิใจไทย) คุมกรมที่ดิน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

มท.3 ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ (พรรคภูมิใจไทย) คุม กรมโยธาธิการและผังเมือง รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงาน คือ การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค

มท.4  ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (พรรคเพื่อไทย) คุมกรมการพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร(กทม.) รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงาน คือ องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย

ในส่วนของ “รมต.อิ่ม” ธีรรัตน์ สส.กทม.หนึ่งเดียว ของพรรคเพื่อไทย การได้คุมกทม. ชัดเจนว่า เป็นการเฉลี่ยดุลอำนาจกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย  

เพราะอย่างที่รู้กันสนาม กทม.ซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ในแง่การเมืองย่อมหวังผลต่อยอดไปถึงการเมืองสนามใหญ่ในอนาคต ต่างจาก “แบรนด์ภูมิใจไทย”  ที่ยังไม่ตอบโจทย์สนามเมืองหลวง

ต้องจับตาท่ามกลางสัญญาณเลือกตั้งทั้งสนามเล็กและสนามใหญ่ที่ทยอยปล่อยออกมาเป็นระยะ ฟากฝั่งการเมืองจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทุกองคาพยพเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบให้ได้มากที่สุด 

ไม่ต่างจากการจัดแถว“สิงห์คลองหลอด” กระทรวงซึ่งมีอำนาจในการคุมการเลือกตั้ง ย่อมถูกจับตาว่าหวังผลไปถึงการวางหมาก-วางเกม เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จัดการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว!

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อิสราเอลเดินหน้า'ปลิดชีพศัตรู'กำจัดแกนนำได้อีก l World in Brief

อิสราเอลสังหาร 2 ว่าที่ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลกล่าวเมื่อวันอังคา...

โพลใหม่ CNN ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ สูสี 49% ต่อ 47%

ความนิยมในตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน ที่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดียังคงใกล้เคียงกันมาก...

หนึ่งขวบปี: แนวรบตะวันออกกลาง เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม

ในฝั่งของสงครามรัสเซียยูเครน สงครามก็ดูรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สองฝ่ายบุกเข้าไปในประเทศของอีกฝ่ายหนึ...

ธุรกิจ 'เวอร์ชวลแบงก์' ไม่ง่าย! 8 แบงก์ในฮ่องกง 'ขาดทุนยับ' ครึ่งปีแรก

ธุรกิจ “ธนาคารเสมือน” (Virtual Bank) หรือธนาคารที่ไม่มีสาขา ไม่ต้องมีพนักงาน ไม่มีเวลาปิด และไม่มีวั...