ขาดประชุม ผิด‘จริยธรรม’? วัดเกณฑ์สภาฯ เกมสอย‘บิ๊กป้อม’

“แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคุณ ผมจะไปหรือไม่ไป แล้วมันผิดหรือเปล่าล่ะ”

“ถามทำไมล่ะ ถ้าอยากมาหา ก็มาหาดิ มาหาที่บ้าน”

คำตอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ ที่เคยถูกนักข่าวถามถึงเหตุผลว่า ทำไมไม่เข้าสภาฯ และพรรคก้าวไกล(ขณะนั้น) อภิปรายถามหาท่านในสภาฯ 

แม้วันนั้น “บิ๊กป้อม” จะอยู่ระหว่างลงพื้นที่ จ.หนองคาย ในกิจกรรมของพรรค โครงการ “พลังประชารัฐสัญจร” 

แต่การไม่ค่อยเข้าสภาฯ ของเจ้าตัว กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกจับจ้อง โดยเมื่อช่วงเดือน มี.ค.รองประธานสภาฯ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ขณะนั้น โพสต์ข้อความเตือนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ว่า “สส.ขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมครับ ถ้าเกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ จะสิ้นสุดสมาชิกภาพครับ” จึงกลายเป็นประเด็น ที่นักข่าวได้นำไปถาม พล.อ.ประวิตรด้วย

มาวันนี้ เมื่อจังหวะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม จึงมีปรากฏการณ์ “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ สส. นัยของเรื่องนี้ คือการเอาคืนทางการเมือง หลังจากตัวแทนของ “ลุงป้อม” ลุยฟ้อง เพราะไปลูบคมปม “คลิปลุงหลุด”

ประเด็นที่ นักร้องจากเพื่อไทย ยื่นข้อมูลให้สภาฯตรวจสอบคือ การเข้าประชุมของลุงป้อม “ไม่มาลงมติถึง 13 ครั้ง จากจำนวนที่สภาฯ มีการลงมติ 16 ครั้ง” จึงส่อว่าอาจจะขาดประชุมเกินจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นเงื่อนไขของการสิ้นสุดความเป็น สส.

เรื่องนี้ ว่ากันตามกติกา “พร้อมพงศ์” มีสิทธิที่จะยื่นตรวจสอบได้จริยธรรมได้ หากพบเห็นการกระทำใดของ “สส.” ที่ส่อขัดต่อกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือมาตรฐานจริยธรรม โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ว่าด้วยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสส. (12) กำหนดว่า “ขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ”

สำหรับมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งบังคับใช้กับ สส. สว. และ คณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ในข้อ 22 ว่า ต้องอุทิศเวลาแก่ราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือผู้อื่น

นอกจากนั้น ยังมีข้อบังคับสภาฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสส.และกรรมาธิการ พ.ศ.2563 กำหนดไว้ในข้อ 14 ที่ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยคำนึงถึงการตรงต่อเวลา และต้องไม่ขาดประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่ในกรณีเจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย

ทว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่มี สส.คนใด ใช้แง่มุมนี้ เอาผิดสส.ด้วยกันเอง แม้จะมีกติกากำหนดไว้ เพราะไม่อยากสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น และรู้กันดีว่ากรณีนี้ยังมี “ช่องทางรอด”

ประเด็นนี้ “ว่าที่ ร.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์” เลขาธิการสภาฯ อธิบายไว้เมื่อ 17 ก.ย.ว่า การไม่มาประชุมสภาฯ ที่ไม่ถือว่าเป็นการลาที่เกินกว่า 1 ใน 4 คือ ต้องมีใบลา โดย สส.สามารถแจ้งลาได้ก่อนวันประชุม หรือจะทำเรื่องลาย้อนหลังได้ สำหรับการอนุมัติการลานั้น เป็นดุลยพินิจของประธานสภาฯ ที่จะพิจารณาบน "เหตุผลอันสมควร"

จึงเป็นการเปิดช่องให้ “สส.” รอดจากการตรวจสอบ แม้จะถูก “สังคม - ฝ่ายการเมืองตรงข้าม” คาดโทษว่า “ต้องพ้นจากความเป็น สส.” เพราะมีสถิติการไม่ลงมติ เป็นประจักษ์พยานสำคัญ

ประเด็นที่ บิ๊กป้อม ไม่มาประชุม อาจถูกปล่อยผ่าน หากไม่เกิดปมขัดแย้ง จนชัดเจนถึงขั้น ไม่มาร่วมโหวต “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ ทั้งที่ขณะนั้นพลังประชารัฐ ยังอยู่ในขั้วพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ จากพรรคประชาชาติ ที่มีอำนาจอนุมัติใบลาประชุม สส. แสดงท่าที ไม่อยากรับเผือกร้อนไว้ โดยล่าสุด บอกว่า หากยื่นเรื่องจริยธรรมมาทางสภาฯ เมื่อพิจารณาแล้วว่าเนื้อหาตรงกับที่ยื่นก็จะส่งให้กับกรรมการจริยธรรมที่ประกอบด้วยประธานสภาฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และ สส.ทุกภาคส่วน รวมถึงบุคคลที่เคยเป็น สส. และคงมีการนัดประชุมต่อไปในเร็วๆ นี้

ส่วนเรื่องใบลาของ พล.อ.ประวิตร ประธานวันนอร์ ชี้ว่า ต้องไปดูว่าในสมัยประชุมที่แล้ว และในสมัยประชุมนี้ท่านมาประชุมกี่ครั้ง และมีใบลาครบตามข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพราะมีการเซ็นชื่อทุกครั้งที่มีการประชุม แต่หากขาดโดยไม่ลา และไม่มีเหตุผลพอ ก็ต้องเสนอให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับใบลาและเหตุผล 

นั่นทำให้เห็นสัญญาณว่า กระบวนการตรวจสอบจริยธรรมในแง่ของการ​ “ลา-ขาดประชุมสภาฯ” อาจทำไม่ได้ ในกลไกของ “การตรวจสอบกันเอง”

สำหรับประเด็นการตรวจสอบ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ต่อการเข้า-ขาดประชุมนั้น ก่อนหน้านั้นเคยมีกรณีของสมาชิก “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ที่คณะกรรมการจริยธรรม สนช. ตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. หลังจากที่ “ไอลอว์” หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เปิดเผยผลสำรวจถึงการแสดงตนเพื่อลงมติของ สนช. ช่วง 1 ม.ค.2559 - 29 มิ.ย.2559 ระบุว่า

7 สนช. อาจจะไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 คือ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ดิสทัต โหตระกิตย์ สุพันธุ์ มงคลสุธี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ

ขณะนั้น ปรากฏข้อมูลว่า “พล.อ.ปรีชา” ลาประชุม 394 วันจากวันประชุมที่มี 400 วัน จึงทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของ สนช. สมาชิกจึงจำเป็นต้องตรวจสอบกันเอง 

 ทว่า ผลของการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการจริยธรรม ที่มี “พีระศักดิ์ พอจิต” เป็นประธาน ก็ออกมาว่า “ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม เนื่องจากการลาประชุมของ สนช. ทั้ง 7 คนนั้น เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม”

ขณะที่การยื่นใบลาประชุมของ 7 สนช. กลับไม่มีการเปิดเผยเป็นหลักฐานต่อสาธารณะแต่อย่างใด

ดังนั้น ในกรณี “พล.อ.ประวิตร” จึงคาดหมายได้ว่า อาจลงเอยไม่ต่างกับผลสอบ 7 สนช. เมื่อปี 2560 ที่พ้นจากความผิดตามระเบียบ แม้สังคมจะตั้งคำถามอย่างหนัก ถึงการไม่อุทิศเวลาให้กับการทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ถึงกระนั้น บทสรุปอาจจะไม่เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว เพราะในยุคนี้ยังมีมาตรฐานจริยธรรมฯ และประมวลจริยธรรมกำกับ และมีบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงให้ “สมาชิก” ต้องอุทิศเวลาทำงาน ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือผู้อื่น ไม่ขาดประชุมโดยไม่จำเป็น

แม้ไม่มาประชุม แม้มีใบลาไว้ แต่พบภายหลังว่า นำเวลาประชุมไปทำกิจกรรมในเชิงการเมือง หาเสียงในพื้นที่ อาจเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมหรือประมวลจริยธรรมของสภาฯได้ แต่นั่นก็อยู่ “คณะกรรมการจริยธรรมสภาฯ” จะเอาจริงเอาจังแค่ไหน ซึ่งปัจจุบัน สัดส่วนกรรมการข้างมาก ล้วนอยู่ฝั่งเดียวกันกับ “กลุ่มไม่เอาลุง”

เมื่ออ่านสัญญาณจากประธานวิปรัฐบาล “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” จากเพื่อไทย ถึง “เกมสอยลุง” ครั้งนี้ อาจมีลุ้น

“จากที่ผมมาประชุม ไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตร และไม่ทราบว่ามีการลงชื่อเข้าร่วมการประชุมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้ลงชื่อเข้าร่วมการประชุมก็ไม่สมควรเป็น สส. เพราะประชาชนจ่ายเงินภาษี”.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...