‘กรวัฒน์ เจียรวนนท์’ ดึง ‘GenAI’ ปั้น 'อะมิตี้ โซลูชั่นส์' เฉิดฉายตลาดโลก

เจาะยุทธศาสตร์โต ‘ธุรกิจไทย’ ที่มีเส้นทางไม่ธรรมดา แต่สามารถดันตัวเองออกไปเฉิดฉายในตลาดโลกได้อย่างไม่อายใคร เติบโตจากสตาร์ตอัปเล็กๆ จน วันนี้ “อะมิตี้ โซลูชั่นส์ (Amity Solutions: ASOL)” คือ หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) ของไทยที่กำลังเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลก

“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง อะมิตี้ โซลูชั่นส์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงทิศทางธุรกิจจากนี้ หลังประกาศระดมทุนรอบซีรีส์ ซี ไปเมื่อไม่นานพร้อมปักหมุดธุรกิจเป็น GenAI แชมเปียนของไทย

ล่าสุด ”กรวัฒน์” พา "อะมิตี้" เติบโตขึ้นอีกสเตป เมื่อสามารถจบดีลหลักพันล้านเทคโอเวอร์บริษัท “โทลล์ริง (Tollring)” ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิเคราะห์การโทร และระบบธุรกิจอัจฉริยะเชี่ยวชาญด้าน เอไอ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

 

ลุ้นแผนดันบริษัทเข้าตลาดฯ ปี 68

กรวัฒน์ เล่าว่า วันนี้นอกจากจะมุ่งดันธุรกิจโตในตลาดโลกแล้ว อะมิตี้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผน เพื่อยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปีหน้า สำหรับแผนเข้าจดทะเบียน (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังปรับโครงสร้างองค์กรครั้งล่าสุด และการประกาศเป็นพันธมิตรร่วมกับ ยักษ์เอไออย่าง “โทลล์ริง”

“เราโดดเด่นในการเป็น เอไอ แชมเปียน ของไทย ด้วยรายได้ และความสามารถทำกำไร ที่ไม่เพียงเป็นไปตามข้อกำหนดการจดทะเบียนของ ก.ล.ต. แต่เราอยู่ในตำแหน่งผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย Gen AI อันดับต้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่รายได้ และความสามารถทำกำไร”

กรวัฒน์ เล่าว่า การประกาศเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์โดยเข้าถือหุ้นใหญ่ใน โทลล์ริง หนึ่งในผู้นำตลาดด้านการพัฒนา และให้บริการโซลูชันซอฟต์แวร์ระดับเวิลด์คลาส ด้านการวิเคราะห์และการบันทึกประสบการณ์ลูกค้า นับเป็นหมุดหมายสำคัญของ อะมิตี้ ในการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โทลล์ริง ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร มีลูกค้าทั้งในสหราชอาณาจักร ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

“จากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโทลล์ริง อะมิตี้ จะดึงทรัพยากรจาก AI Labs มาช่วยโทลล์ริงเสริมแกร่งโซลูชันซอฟต์แวร์ voice analytics ที่ใช้ความสามารถจาก GenAI เพื่อส่งมอบบริการให้พาร์ตเนอร์ และลูกค้าของ โทลล์ริง นี่เป็นตัวอย่างของกลยุทธ์ M&As และ Partnerships ในแบบ win-win ที่เราจะยังคงดำเนินต่อไป”

สำหรับ อะมิตี้ เอไอ แล็บส์ (Amity AI Labs) เป็นธุรกิจหลักของ Amity Solutions รับผิดชอบในการวิจัย และพัฒนาแอปพลิเคชัน GenAI ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม และที่ซื้อเข้ามาใหม่

เปิดแผนรุกตลาดไทย

สำหรับการรุกตลาดในไทย กรวัฒน์ บอกว่า ไทยยังคงเป็นตลาดหลักที่ตั้งใจจะรักษาความเป็นผู้นำการพัฒนา และเพิ่มยอดขาย (upselling) แอปพลิเคชัน GenAI ใหม่ที่ให้ high impact รวมถึงแอปพลิเคชัน เอไอ อื่นๆ ให้กับบริษัทชั้นนำ

“จากการพูดคุยกับลูกค้า เราเห็นความต้องการจากบริษัทชั้นนำในไทยในแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่สูงมาก เพื่อไปช่วยแก้ไข pain point ต่างๆ เพิ่ม productivity และลดต้นทุน ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านั้น ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำ AI ไปใช้ เรามีความตั้งใจ และพร้อมเป็นพันธมิตรกับพวกเขาตลอดการเดินทางในการนำ AI ไปใช้งาน”

ส่วนตลาดต่างประเทศ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตที่สำคัญสำหรับบริษัท เนื่องจากบริษัทชั้นนำในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นลูกค้าของบริษัทอยู่แล้ว

กลยุทธ์หลักสำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ อะมิตี้ เน้นกลยุทธ์ควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) และการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ทำกำไรได้ และสามารถได้ประโยชน์ และคุณค่าอย่างมหาศาลจากความสามารถด้าน GenAI ของบริษัท “วิธีนี้ช่วยให้เราขยายตัวได้เร็วขึ้นมาก เลี่ยงการขาดทุนในช่วงแรกของการเข้าสู่ตลาดใหม่” กรวัฒน์ ว่า

ที่ผ่านมา อะมิตี้ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ 2 ตัวหลัก ได้แก่ อะมิตี้ บอตส์ พลัส (Amity Bots Plus) แพลตฟอร์มแชตบอต เอไอ เอเจนต์ (AI agents) สำหรับองค์กร และ เอโค่ เอไอ (EkoAI) แพลตฟอร์มสื่อสารภายในองค์กร แพลตฟอร์มทั้งสองขับเคลื่อนด้วย GenAI และได้รับเสียงตอบรับที่ดี รายได้จากแอปพลิเคชันเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในทุกไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

“ส่วนสองบริษัทที่เราเข้าซื้อกิจการ และร่วมเป็นพาร์ตเนอร์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ ทรู วอยซ์ (True Voice) และโทลล์ริง นำมาซึ่งโซลูชันวอยซ์บอต (voicebot) และ voice analytics ระดับเวิลด์คลาสที่ช่วยเสริมกัน ทำให้เราสามารถนำเสนอแพลตฟอร์มแบบองค์รวม (holistic platform) ของแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย GenAI ให้ลูกค้าองค์กรเพื่อช่วยพลิกโฉมวิธีให้บริการลูกค้า”

อย่างไรก็ตาม ในอดีต อะมิตี้ เน้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเฉพาะที่มี “กำลังซื้อ” แต่การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับโทลล์ริง ทำให้ อะมิตี้  ได้ลูกค้าเอสเอ็มอี มากกว่า 20,000 ราย และแพลตฟอร์มโซลูชันซอฟต์แวร์แบบ plug-and-play ที่สามารถปรับขยายขนาดได้สูง โมเดลราคาที่จับต้องได้

ย้ำหมุดหมาย เอไอ แชมเปียน

กรวัฒน์ ขยายความเพิ่มถึง หมุดหมายใหญ่ของ อะมิตี้ ที่บอกว่าจะเป็น เอไอ แชมเปียน โดยบอกว่า บริษัทเชื่อว่าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยค่อนข้างล้ำหน้าในแง่ของความสนใจ และการนำเทคโนโลยี GenAI มาใช้งาน สิ่งนี้สร้างโอกาสที่แตกต่างให้กับบริษัทไทย

ขณะที่มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วสำหรับบุคลากรผู้มีทักษะความสามารถในการช่วยปรับแต่ง และฝึกฝน GenAI agents หากไทยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรผู้มีทักษะความสามารถที่เหมาะสม ไทยจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประยุกต์ใช้ AI

“เราเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องโฟกัสที่ทักษะ และความรู้ในการพัฒนาต่อยอดจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLM) และเทคโนโลยี AI ที่ดีที่สุดที่มาจากสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก แทนที่จะไปพยายามพัฒนาอะไรก็ตามที่จะไปเป็นคู่แข่งกับพวกเขา ซึ่งวิสัยทัศน์ของเราคือ การใช้ประโยชน์จากความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระดับโลกด้วยเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย”

สำหรับเงินลงทุนจากการระดมทุนครั้งล่าสุด กรวัฒน์ เชื่อว่า จะช่วยให้ อะมิตี้ ติดสปีดในความพยายามด้านการวิจัย และพัฒนา ตลอดจนขยายโซลูชัน AI เพื่อให้บริการธุรกิจในไทยรวมถึงที่อื่นๆ มากขึ้น สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ ตลอดจนกลยุทธ์ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งฐานะบริษัทสู่ “เอไอ แชมเปียน” ของไทย

“เรามุ่งมั่นเป็น เอไอ แชมเปียน สำหรับประเทศไทย เพื่อปักหมุดไทยบนแผนที่โลก ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย GenAI ที่มี high impact สำหรับองค์กรทั่วโลก คลื่นลูกแรกของเงินทุนจากนักลงทุนส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ โมเดลพื้นฐาน และโมเดลที่ปรับแต่งแล้ว วางรากฐานสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน GenAI ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น แต่จะสร้างมูลค่าส่วนใหญ่จากผู้ใช้ปลายทางเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

อุปสรรคใหญ่พัฒนา AI คือ “คน”

เมื่อถามถึงอะไรคือ อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนา AI ในไทย กรวัฒน์ บอกว่า คือ ช่องว่างด้านบุคลากรที่มีความสามารถแม้ว่าจะมีความสนใจใน AI เพิ่มขึ้น แต่การมีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงในด้าน AI ยังคงมีจำกัด เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การศึกษา และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เน้นฝึกฝนเพื่อสนับสนุนคนทั่วไปที่ต้องการหาความรู้ด้าน AI หรือแม้กระทั่งส่งเสริมการพัฒนา ยกระดับทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรที่มีความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกความท้าทายหนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในการผสาน AI เข้ากับระบบที่มีอยู่เดิม ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ซึ่งอาจล้าสมัย นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องมีกรอบกฎระเบียบที่ชัดเจนที่ส่งเสริมนวัตกรรม ในขณะที่ต้องให้ความสำคัญปกป้องมาตรฐานทางจริยธรรม ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว

สุดท้าย การสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของ AI ในทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง และด้วยการลงทุนที่เหมาะสมในด้านบุคลากรที่มีความสามารถ และโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยสามารถกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการพัฒนา AI ได้

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...