กสทช.รับลูกสมาคมทีวีดิจิตอลฯ ถกรัฐบาลหาช่องแก้กฎหมายก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ที่อยากได้ความชัดเจนจาก กสทช.ก่อนจะสิ้นสุดใบอนุญาตในการออกอากาศปี 2572 ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดาเพราะอีก 4 ปี มองว่าเทคโนโลยีการรับชมเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในทุกๆ ปีอุตสาหกรรมโทรทัศน์ถูกดิสรัปชั่นจากบริการ Over The Top (OTT) โดยเฉพาะยูทูบ และการสตรีมมิ่ง อีกทั้ง ยังมีการรับชมผ่าน IPTV

อย่างไรก็ดี การกำกับดูแลของ กสทช.จะต้องพิจารณาบริบทของเทคโนโลยีว่าจะมีกฎหมายใดเข้าไปควบคุมหรือไม่ ไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 15 ช่องที่เหลือเวลาอายุสัมปทาน 4 ปี 8 เดือนได้รับผลกระทบให้มากที่สุด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ กสทช.จะร่วมกับสมาคมฯ เข้าไปหารือกับรัฐบาลในการหาทางออกในเรื่องดังกล่าว เพราะผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งแง่รายได้ และยอดคนดูที่หายไปรับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น

“ถามความชัดเจนตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ อีก 2 ปีมาถามก็ยังเร็วไป เพราะตอนที่มีการประมูลใบอนุญาตทุกคนก็คาดหวังที่จะสร้างกำไรมหาศาลแต่พอผ่านไปเพียง 1 ปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด ดังนั้น เมื่อถามว่ายุติธรรมหรือไม่คนที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย กลับมีรายได้มีคนดู มันก็ไม่แฟร์อยู่แล้ว สิ่งที่ กสทช.ทำได้คือ ดูว่ากฎหมายที่เรามีในมือ จะเข้ากำกับดูแลอะไรได้บ้าง”

ประธานบอร์ด กสทช.เสริมว่า นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของสมาคมทีวีดิจิตอลฯ ที่อยากจะใช้คลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ต่อไม่ต้องการให้สำนักงาน กสทช.นำไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมสำหรับอุตสาหกรรมดาวเทียม ก็ต้องมีการพูดคุยทำงานร่วมกันว่าจะจัดสรรความถี่สล็อตนี้อย่างไร ส่วนการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ พ.ศ.2553 ที่ยกเลิกการประมูลใบอนุญาตก็ต้องมีการแก้กฎหมายเพราะกิจการที่ใช้คลื่นความถี่มีการระบุว่าเป็นสมบัติของชาติต้องประมูลเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดตรงนี้ ดังนั้น กสทช.ก็ต้องมาดูว่า การแก้กฎหมายจะเปลี่ยนเป็นจัดสรรโดยวิธีการอื่นได้ไหม 

เผย 3 ฉากทัศน์ทีวีไทยหลังปี 72

นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (ออนไลน์ ไมเกรชั่น) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ภายใต้โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงฯ หลังสิ้นสุดใบอนุญาต ในปี 2572 เพื่อประกอบการวางแนวทาง และนโยบายรองรับกิจการโทรทัศน์ในอนาคตนั้น กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

โดยขณะนี้ กสทช. ได้ริเริ่ม และเป็นตัวกลาง ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบ "แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ" ที่จะบูรณาการเนื้อหาจาก "ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภค" ให้อยู่ในระบบเดียวกัน และบริหารจัดการบริการเสริมที่วิ่งบนโครงข่าย (Over the top : โอทีที) ที่ถือเป็น แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหาสำคัญและกำลังได้รับความนิยม

ฉากทัศน์อนาคตทีวีไทย

ฉากทัศน์ที่ 1 : ทีวีไทยล่มสลายรัฐไม่แทรกแซง ไม่มีมาตรการใดๆ กิจการ Broadcast เดิมกับ OTT ยังคงกำกับดูแลต่างกัน แพลตฟอร์มระดับโลก (GAFAM) ยึดครอง ผู้บริโภคหันไปดูทีวีผ่าน OTT แทน ผู้ให้บริการ TV ดั้งเดิมสูญเสียรายได้ค่าโฆษณาจนต้องปิดตัวลงคนจน คนแก่ เสียสิทธิ เข้าถึงบริการสาธารณะ

ฉากทัศน์ที่ 2 : ทีวีไทยพอแข่งขันได้ (ระยะหนึ่ง) มีกฎหมายกำกับดูแลเกิดเป็นตลาดที่ผสมผสานแพลตฟอร์ม OTT ระหว่างผู้ประกอบการไทย มีมาตรการสนับสนุนให้ทีวี กับผู้ประกอบการระดับโลกดั้งเดิมเข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ฝั่ง BVOD USA กับฝั่ง Asia แข่งกัน แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเพื่อครอบครองกิจการไทยตามกลไกตลาด ไม่มีการ กระตุ้น ไม่แทรกแซง เปรียบเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ฉากทัศน์ที่ 3 : ทีวีไทยสู่แพลตฟอร์มระดับโลก ปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กำจัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตรายต่อกลุ่มเปราะบาง รวมถึงข่าวปลอมทั้งหลาย จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ

1. Regulatory Authority for Digital Audiovisual Media (RADAM) : องค์กรขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การกำกับดูแล แนวทางการส่งเสริมสนับสนุน

2. Thai Audiovisual Industry Council (TAVIC) : องค์กรขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ นำนโยบายของ RADAM : มาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่อ โดยการสนับสนุนความช่วยเหลือต่างๆ อุตสาหกรรมทีวีไทยพัฒนาสู่ระดับสากล เช่นเดียวกับฝรั่งเศส และเกาหลีเนื้อหา Thai Wave เติบโต และเป็นที่ต้องการในตลาดโลก

เร่งปรับปรุงประกาศฯ ให้เท่าทัน

ขณะที่ ในปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย และการส่งเสริมสนับสนุนกิจการโทรทัศน์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่ต้องหยุดชะงัก เพราะรอการบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมบอร์ด กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ยกตัวอย่างโครงการ และการดำเนินงานในกลุ่มนี้ 

ได้แก่ 1. สำหรับแนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ การพิจารณานำบริการเสริมบนโครงข่ายโอทีที ที่ให้บริการแพร่ภาพ และกระจายเสียงเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล ได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล OTT ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นขั้นตอนต่อไปคือ การนำร่างประกาศนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ภายหลังจากที่เสนอเพื่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ต่อไป

2. ในด้านการสนับสนุนการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมีแนวทางการสนับสนุนรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รายการเกี่ยวกับวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศนั้น ได้จัดทำและเสนอ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52)

ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว เข้าบรรจุวาระที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 แต่ต่อมาประธาน กสทช. มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 30 ต.ค.2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป

3. ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2566 ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แล้ว แต่ประธาน กสทช. ยังไม่บรรจุวาระ โดยสั่งการให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป

4. มีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ โดยมุ่งหมายให้มีการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ทั้งในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้สามารถเป็นสื่อกลางในการสร้างการมีส่วนร่วม และเกิดความเข้มแข็งในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ร่างประกาศดังกล่าวก็อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. เช่นกัน

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...