สกัดไม่อยู่! โจรไซเบอร์ ป่วนระบบ ‘OT’ ในไทย

“พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์”  เผย องค์กรในไทยกำลังรับศึกหนัก ถูกโจมตีทางด้านไซเบอร์ในระบบ OT (Operational Technology) มาอย่างต่อเนื่อง

ปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ผู้ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ชั้นนำ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องและแพร่หลายมากขึ้นจนทำให้ต้องหยุดดำเนินงานชั่วคราว

จากการประเมินสถานะระบบรักษาความปลอดภัยด้าน OT แนวโน้ม รวมถึงความเสี่ยง พบด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้สูญเสียรายได้และเกิดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ จากการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่มาใช้งาน

ไม่ว่าจะเป็น AI การเข้าถึงจากทางไกล คลาวด์ 5G และหุ่นยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ให้ทันสมัยตามความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

กระทบหนัก งานหยุดชะงัก

สำหรับประเทศไทยจากรายงานฉบับนี้ยังเผยให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลในระบบรักษาความปลอดภัยด้าน OT ประกอบด้วย

การดำเนินงานทางอุตสาหกรรมเผชิญความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง : ในอดีตเชื่อกันว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากเป็นระบบที่แยกส่วนออกมาจากเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย มีการใช้เทคโนโลยียุคเก่า เป็นเทคโนโลยีเฉพาะทาง และเป็นตลาดที่มีความหลากหลายสูง

แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เหล่านี้ได้เปลี่ยนไป จากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย 72% ระบุว่า องค์กรของตนเองต้องเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ความถี่ของการถูกโจมตีก็อยู่ในระดับที่น่าตกใจเช่นกัน โดยกว่า 58% ระบุว่าเกิดการโจมตีบ่อยครั้งในทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์ 

การโจมตีทางไซเบอร์ทำให้การดำเนินงานด้าน OT ของไทยหยุดชะงัก : การโจมตีเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมาก โดย 35.1% ขององค์กรในประเทศไทยต้องหยุดการดำเนินงานทางอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาเนื่องจากถูกโจมตีเป็นผลสำเร็จ 

สถานการณ์ที่น่ากังวลนี้ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมระบบ OT มากขึ้น โดย 49% มองว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 57% คาดว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับระบบ OT ในอีกสองปีข้างหน้า 

AI เป็นดาบสองคม

ความขัดแย้งระหว่างฝ่าย OT และ IT เป็นอุปสรรค : แม้สถานการณ์จะมีความเร่งด่วน แต่ความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่าย OT และ IT ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับภัยคุกคาม

เมื่อมีการสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่าย OT และ IT 40% ระบุว่ามีความขัดแย้งระหว่างกัน โดยมีเพียง 11.8% ที่ตอบว่าทั้งสองฝ่ายทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้มี 33% เท่านั้นที่ระบุว่า มีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างสองทีมในการตัดสินใจซื้อโซลูชันระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับระบบ OT

“ความไม่ลงรอยนี้เกิดจากหน้าที่ในอดีตที่แตกต่างกัน โดยฝ่าย IT มักจะรับผิดชอบด้านความปลอดภัยทั่วองค์กร ในขณะที่ฝ่าย OT จะมุ่งเฉพาะการดำเนินงานทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก” 

AI เป็นดาบสองคม : AI ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังมองคุณค่าไปคนละทางกัน มีทั้งที่กังวลต่อการโจมตีด้วย AI และที่ต้องการระบบป้องกันที่มีการใช้ AI

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย 84.3% มองว่าการโจมตีด้วย AI ต่อระบบ OT เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน แต่ 77% ก็เห็นด้วยว่า AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการยับยั้งการโจมตีระบบ OT ดังกล่าว

‘ซีโรทรัสต์’ คือแนวทางที่ถูกต้อง

การย้ายขึ้นคลาวด์จะเสริมสร้างความปลอดภัยของระบบ OT : AI ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่มีการนำมาใช้ในระบบ OT เพราะผู้ประกอบการยังเตรียมพร้อมที่จะนำโซลูชันคลาวด์มาใช้ด้วย

จากรายงานพบว่า 76.5% ขององค์กรในประเทศไทยเชื่อว่า การย้ายขึ้นคลาวด์จะเสริมสร้างความปลอดภัยให้ระบบ OT  ทว่า 61% ระบุว่า แนวทางดังกล่าวจะเพิ่มความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอีกสองปีข้างหน้า  

ซีโรทรัสต์ (Zero Trust) คือแนวทางที่ถูกต้อง : 76% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภาคอุตสาหกรรมเห็นพ้องว่าซีโรทรัสต์คือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม อัตราการนำแนวทางซีโรทรัสต์ไปใช้นั้นยังคงมีไม่มาก โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่นำโซลูชันซีโรทรัสต์สำหรับสภาพแวดล้อมระบบ OT/IT มาใช้ในทุกส่วน

เพื่อรับมือกับการโจมตี 2 กลยุทธ์หลักที่ควรพิจารณาคือ ประการแรกคือการเชื่อมโยงความปลอดภัยระหว่างฝั่ง OT และ IT เพื่อให้มั่นใจได้ในความปลอดภัยและลดความเสี่ยงใหม่ๆ ประการที่สองคือ การนำแนวทางซีโรทรัสต์มาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบ  

“ยุคดิจิทัลที่เกิดการเชื่อมต่อได้ทุกที่เช่นนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเดิมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อน แนวทางที่ใช้ AI เสมือนเป็นปราการชั้นแนวหน้าที่ให้ความสามารถอันไม่มีใครเทียบได้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็ว และยังระบุรูปแบบที่บ่งบอกถึงภัยคุกคามอันใกล้ได้ก่อนที่จะเกิดการโจมตี”

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่าย IT และ OT ยังมีความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายมีแนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไปในทิศทางเดียวกัน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...