‘แคสเปอร์สกี้’ ถอดรหัสภัยไซเบอร์ ‘แรนซัมแวร์’ ตัวร้ายจอมขโมยข้อมูล

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของ “แคสเปอร์สกี้” ประเมินความเสี่ยงด้านภัยคุกคามพบ “แรนซัมแวร์ (ransomware)” ยังคงเป็นภัยคุกคามหลัก เนื่องจากผู้ก่อภัยคุกคามใช้ AI แพร่กระจายในเชิงรุก ซึ่งอาจเพิ่มความซับซ้อนและความล้ำหน้าในการโจมตี

โดยการสร้างอีเมลและอินพุตสำหรับการโจมตีแบบฟิชชิงที่ดูปกติมากขึ้น สร้างพาสเวิร์ด ช่วยเข้ารหัสมัลแวร์ และการโจมตีรหัสผ่าน

กล่าวได้ว่า การถือกำเนิดของ AI ทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถกำหนดเป้าหมายเหยื่อด้วยการโจมตี adversarial attack โดยทำการปรับเปลี่ยนไฟล์เล็กน้อยเพื่อให้สามารถจัดการระบบ AI เพื่อจัดประเภทมัลแวร์อย่างไม่ถูกต้อง ให้กลายเป็นไฟล์ที่ปลอดภัย

อิกอร์ คุซเนตซอฟ ผู้อำนวยการทีมวิจัยและวิเคราะห์ระดับโลกแคสเปอร์สกี้(GReAT) มีมุมมองต่อภาพรวมภัยคุกคามทางไซเบอร์ว่า อาชญากรรมไซเบอร์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดทั่วโลกคือแรนซัมแวร์ โดยผู้ก่อภัยคุกคามจัดการเหมือนการดำเนินธุรกิจ (RaaS)

ขณะที่ ช่องทางการติดมัลแวร์ที่พบบ่อยที่สุด คือการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของแอปพลิเคชันที่เผยแพร่สู่สาธารณะ รองลงมาคือการบุกรุกและละเมิดข้อมูลรับรองตัวตน

นอกจากนี้ ภัยคุกคามใหม่ที่ควรคำนึงถึงคือ การละเมิดซัพพลายเชน ซึ่งเหตุการณ์จำนวนครึ่งหนึ่งถูกตรวจพบหลังจากการโจมตีประสบความสำเร็จไปแล้ว โดยอุตสาหกรรมที่ถูกเพ่งเป้าโจมตีมากที่สุด คือหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน และบริษัทการผลิต

AI หลีกเลี่ยงไม่ได้

เอเดรียน เฮีย กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์และองค์กรที่จ้างผู้ให้บริการต้องปรับเปลี่ยนท่าทีด้านความปลอดภัยไซเบอร์และตระหนักถึงผลทางกฎหมายในภูมิภาคที่ตนปฏิบัติงานอยู่

การผสานรวม AI เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับองค์กรจำนวนมาก เนื่องจาก AI มีความสามารถอันล้ำค่าในการประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องตระหนักถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับ AI จำเป็นต้องมีการนำนโยบายมาใช้ในการจัดการข้อมูล

โดยพิจารณาว่าข้อมูลนี้เป็นความลับอย่างไร และข้อมูลด้านใดที่ AI เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่องค์กรต้องปฏิบัติตามในพื้นที่ที่ตนดำเนินงานอยู่

ขณะที่ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องพิจารณาในยุคที่ “เวลาทำงาน” หรือ “uptime” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรับมือภัยคุกคามนั้นต้องใช้การวัดเทเลมิทรีและการบันทึกข้อมูลเพื่อระบุและตอบสนองต่อเหตุการณ์ไซเบอร์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนโยบายการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ครอบคลุม เพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากการโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็ว

ระวัง !! การโจมตีซัพพลายเชน

อเล็กซี่ แอนโทนอฟ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า การโจมตีที่เกี่ยวข้องกับ AI เติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

โดยการโจมตีบางส่วนยังคงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลที่มีทักษะสูงและชำนาญอย่างมาก แต่ก็พบว่าการโจมตีอื่นๆ ได้ถูกนำไปใช้ในเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนหลัก ประการแรกคือ Offensive AI ซึ่งผู้โจมตีจะใช้เทคนิคขั้นสูงเพื่อเร่งขั้นตอนการทำงาน ค้นหาเวกเตอร์ภัยคุกคามใหม่เพื่อนำไปใช้ เช่น deep fakes ซึ่งแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในปีนี้ ประการที่สองคือช่องโหว่ของ AI โมเดล AI บางโมเดลอาจถูกผู้โจมตีบังคับให้ทำสิ่งที่ถูกจำกัดหรือคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การโจมตีโมเดลภาษาขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ปัญหาเร่งด่วนที่สุดประเด็นหนึ่งคือ การโจมตีซัพพลายเชนที่อาจสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร สายการบิน และอื่นๆ

โดยประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์จากสหรัฐ Crowdstrike อัปเดตซอฟต์แวร์ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์หน้าจอสีน้ำเงินแห่งความตายบนเครื่อง Windows กว่า 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลก และก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

วิทาลี คัมลุค ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ทีมวิจัยและวิเคราะห์ระดับโลก (GReAT) แคสเปอร์สกี้ กล่าวเสริมว่า แนวทางที่เป็นไปได้ของการโจมตีซัพพลายเชนต่อโมเดลแมชีนเลิร์นนิง คือการปรับข้อมูลการฝึกอบรมเพื่อสร้างช่องโหว่ในโมเดล หรือปรับเปลี่ยนโมเดล AI ด้วยเวอร์ชันที่แก้ไขเพื่อสร้างผลลัพธ์ไม่ถูกต้อง

เนื่องจาก AI จะอยู่คู่โลกต่อไป และการโจมตีดังกล่าวจึงอาจส่งผลกระทบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างที่เราเคยประสบมา 

ท้ายที่สุด องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องวางแผนและมีกลยุทธ์บรรเทาผลกระทบสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงแผนการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีการฝึกอบรมพนักงานเรื่องช่องทางการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น การฟิชชิง บังคับใช้แนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ดีที่สุด และมีข้อมูลภัยคุกคามล่าสุดของพันธมิตรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งสามารถรับรองการป้องกันเชิงลึกได้ ฯลฯ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...