เจาะอินไซด์ TikTok เบื้องหลังกลยุทธ์ ‘Trust & Safety’ โลกดิจิทัล

ในบรรดาโซเชียลแพลตฟอร์มยอดฮิตของคนไทย TikTok นับเป็นผู้ให้บริการที่สามารถจัดการคอนเทนต์ได้อย่างเข้มงวด ไม่ค่อยได้เห็น เนื้อหาที่รุนแรง เลือดสาด หรือคำหยาบคายหลุดรอดออกมา แน่นอนว่ากว่าเบื้องหน้าจะเป็นแบบนี้ เบื้องหลังต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนคอยรับมือ...

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and Safety - TikTok เผยถึงเบื้องหลัง แนวคิด และความท้าทายของการทำงานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มว่า ความยากและความท้าทายของงานด้าน “Trust and Safety” คือ การสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัย

ภายใต้ “หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน ” ที่ร่างขึ้นมาและมีการปรับปรุงอยู่เสมอ TikTok พยายามอย่างมากที่จะเปิดกว้างสำหรับทุกมุมมองของความคิดเห็น ขณะเดียวกันนอกจาก “มาตรฐานระดับโลก” ที่ต้องยึดถือเป็นแกนหลัก เบื้องหลังยังมีอีกหลายเลเยอร์ซึ่งต้องปรับให้เข้ากับบริบทในแต่ละท้องถิ่น แม้จะต้องเข้มงวดในหลายแง่มุมเพื่อรักษามาตรฐานการฟีด แต่ยังคง “คิดในมุมที่ผู้ใช้จะรับได้มากที่สุด” ด้วย

TikTok วางจุดยืนไว้เป็น “โซเชียล ดิสคัฟเวอร์รี แพลตฟอร์ม” ไม่ใช่แค่ “โซเชียลมีเดีย” ให้ความสำคัญอย่างมากกับ “Freedom of Expression”

สำหรับเคล็ดลับที่กล่าวได้ว่าเป็น “Secret Ingredient” คือ การทำงานของ “นักวิทยาศาสาตร์ข้อมูล” ที่จะมีการพัฒนาระบบอัลกอริทึมที่สอดคล้องไปกับความต้องการของแต่ละบุคคล มีความสามารถที่จะจับคู่ที่เหมาะสม อ้างอิงจากความชอบซึ่งผู้ใช้มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม เช่น จากการเสิร์ช การกดไลก์ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ต่างๆ กับวิดีโอ

พร้อมกันนี้ พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมคอนเทนต์ที่ต้องการรับชมด้วยตนเอง เช่น รีเฟรช เพื่อเรียนรู้อัลกอริทึมใหม่ตามความต้องการ

‘3 กุญแจ’ สร้างความสำเร็จ

ด้านแนวทางการทำงาน TikTok ยึด 3 กุญแจสำคัญ คือ policies and control, Technology and peoples, และ Cultural adaptation and customization

TikTok ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นอันดับหนึ่ง ที่ผ่านมาแพลตฟอร์มได้ลงทุนอย่างมหาศาลด้านเทคโนโลยีเพื่อป้องกันเนื้อหาที่เป็นอันตรายและผู้ไม่ประสงค์ดี

โดยเฉพาะการใช้งานของกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 13 - 15 ปี ซึ่งหากอายุไม่ถึง 13 ปี จะมีการจำกัดการใช้งานบางฟีเจอร์ เช่น DM, รวมถึงการจำกัดการใช้งานหน้าจอไม่ให้เกินไปกว่า 60 นาที

ปัจจุบัน มีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทเองทำงานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเพื่อรักษาและบังคับใช้แนวทางปฏิบัติชุมชน (Community Guidedline) ข้อกำหนดในการให้บริการ (Terms of Service) และนโยบายด้านการโฆษณา (Advertising Policies) ซึ่งนำไปใช้กับเนื้อหาทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม

สถิติระบุว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 ได้ลบวิดีโอที่ละเมิดกฎของแพลตฟอร์มไปแล้วกว่า 160 ล้านวิดีโอ คิดเป็น 0.9% จากวิดีโอที่ถูกอัปโหลดทั้งหมด กว่า 97.7% ของวีดีโอดังกล่าวถูกลบก่อนที่จะมีการรายงานจากผู้ใช้ และกว่า 89.8% ถูกลบภายใน 24 ชั่วโมง 

ดึง ‘เอไอ’ คัดกรองคอนเทนต์

สิริประภา เล่าว่า งานเบื้องหลังมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ฉะนั้นต้องมีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรในแต่ละท้องถิ่น เอ็นจีโอ เวิร์กกิ้งกรุ๊ปในแต่ละอุตสาหกรรม อย่างประเทศไทย นอกจากประเด็นอ่อนไหวโดยทั่วไปเรื่องศาสนา การเมือง ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวงต่างๆ ที่ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ และพัฒนาฟีเจอร์ที่จะช่วยเชื่อมโยง แจ้งเตือน ไม่ให้เกิดการหลอกลวงฉ้อโกง

“เราเน้นการจัดการที่โปร่งใส ปลอดภัย ความโปร่งใสของข้อมูล การคัดกรองมีเอไอและแมชีนเลิร์นนิงเป็นตัวช่วย พร้อมด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่จะร่วมตัดสินใจเรื่องที่มีความซับซ้อนได้แบบเรียลไทม์ อีกทางหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการทำงานด้านนี้สร้างความเครียดให้กับทีมงานอย่างมาก ดังนั้นต้องมีโปรแกรมช่วยเรื่องสภาพจิตใจของผู้ทำงานด้วย”

สำหรับก้าวต่อๆ ไป ยังคงต้องเกาะติดเทรนด์ให้ทันกับเหตุการณ์ และความครีเอทีฟของผู้ใช้ที่มักจะมีทริกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ เรื่องนี้การทำงานระดับท้องถิ่นจึงสำคัญอย่างมาก ต้องเข้าใจถึงบริบทที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ มีการปรับและประกาศนโยบายชุมชนทุกไตรมาสแรกของทุกปี โดยปรับเปลี่ยนไปตามปัญหา พร้อมสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนให้กับครีเอเตอร์ อีกทางหนึ่งพยายามทำให้การดูแลคอนเทนต์ทำได้ง่ายที่สุดด้วยเครื่องมือที่เป็นเช็กลิสต์และใช้งานง่าย สอดคล้องไปกับประสบการณ์ของยูสเซอร์ มีการแยกประเภทเรื่องที่ผิดบ่อยๆ รวมถึงต้องทำงานใกล้ชิดกับครีเอเตอร์

ปักธงสร้างพื้นที่ปลอดภัย

จากการได้มีโอกาสไปเยือนศูนย์ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability Center - TAC) ที่สิงคโปร์พบว่า เบื้องหลังการทำงานเป็นไปอย่างเข้มข้น อยู่ภายใต้หลักการการรักษาความปลอดภัยที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ความปลอดภัย 2. ความโปร่งใส และ 3. ความรับผิดชอบ

เป้าหมายของ TikTok คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม ที่ซึ่งผู้คนและแบรนด์สามารถสร้าง แบ่งปัน ค้นพบ และเชื่อมโยงกับชุมชนทั่วโลก

ผู้บริหาร TikTok เผยด้วยว่า ภาพที่อยากไปให้ถึง คือ เรื่องของความโปร่งใส การตรวจสอบ คัดกรองคอนเทนต์ และระบบแนะนำคอนเทนต์ ที่ตอบโจทย์สำหรับทุกภาคส่วนรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

“เรายืนยันได้ว่าเรื่อง Trust and Safety เป็นพันธกิจที่ทาง TikTok ให้ความสำคัญอย่างมากและมีแผนที่จะพัฒนาดำเนินการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบถึงวิธีการทำงานเบื้องหลังว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...