เอ็นไอเอ กางแพลนใหม่เที่ยวให้จุใจกับ 4 ชุมชนนวัตกรรม

ประเทศไทยยังคงเป็นหมุดหมายที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการเสิร์ชหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2562

นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลักจะได้รับความนิยมแล้ว เมืองรองก็สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เช่นกัน

การท่องเที่ยวเมืองรองนั้นมีมุมที่น่าสนใจทั้งเรื่องราวชุมชนสุดอันซีน วัฒนธรรม และนวัตกรรมฉบับคนท้องถิ่น ความแปลกใหม่ของอาหาร รวมทั้งการทำคอนเทนต์ที่ไม่ซ้ำใคร

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อาสาพานักเดินทางไปปักหมุดจุดท่องเที่ยวตามเส้นทาง ที่เคยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก NIA เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังวางแพลนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้

สโลว์ไลฟ์ไปกับวิถีประมง กับเส้นทางนวัตกรรมของชุมชน “คลองปากประ”

จังหวัดพัทลุงมีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตที่สะท้อนถึงความเป็นลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็น “ทะเลน้อย” แหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าพรุขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และ “คลองปากประ” แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการไหลมารวมกันของลำน้ำหลายสาย มีฝูงปลาจำนวนมากอาศัยอยู่

ชาวบ้านที่นี้จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงเป็นหลัก โดยมีวิถีประมงพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือการใช้ “ยอยักษ์” ดักจับปลาลูกเบร่ ปลาพื้นถิ่นของทะเลน้อยที่แม้จะมีขนาดเล็กที่สุดของห่วงโซ่อาหาร แต่กลับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

โดยชาวบ้านนิยมนำมาแปรรูปอบแห้งด้วยระบบความร้อนแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบลมร้อนภายในตู้อบแห้งพาราโบล่า เพื่อลดการปนเปื้อน สามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ราคาสูง สร้างรายได้กลับเข้าชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อมาเยือนชุมชนปากประ จังหวัดพัทลุง กิจกรรมที่เป็นมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด คือการล่องเรือจากคลองปากประสู่ทะเลน้อย เพื่อชมแสงแรกของวัน ยามพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณกลางลำน้ำ และเมื่อล่องเรือไปตามเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “ตามหาปลาลูกเบร่” ก็จะได้ชมวิถีชีวิตที่โดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์และภูมิปัญญา

ภาพของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ยอยักษ์จับปลา รวมถึงระบบนิเวศทางธรรมชาติที่งดงาม ทั้งทุ่งดอกบัว นกน้ำหลากหลายพันธุ์ และควายน้ำ หากเป็นช่วงน้ำลงจะได้เห็นภาพฝูงควายน้ำซึ่งเป็นควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้สำหรับทำการเกษตรพากันมากินหญ้าและแช่น้ำในทะเลน้อย ให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ยลโฉมความน่ารัก

สำหรับชุมชนปากประมีนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนที่มีจุดเด่นจากโครงการปากประโลว์คาร์บอน กิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวลองทัวร์ปากประสำหรับชุมชนคลองปากประ จากโครงการ Long Tour Pak Pra

โดยส่งเสริมให้นําแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในธุรกิจการท่องเที่ยววิถีชุมชน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนให้สามารถพัฒนาการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เวิร์ค & ทราเวล สไตล์ “ดอยสเตอร์ โนแมด” แม่ฮ่องสอน

รูปแบบการทำงานของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศหรือสถานที่มากขึ้น เพื่อลดภาวะหมดไฟในการทำงาน ดังนั้น การพาตัวเองพร้อมโน๊ตบุ๊ค 1 เครื่องไปทำงานและพักผ่อนยังต่างจังหวัดที่ห่างไกลผู้คนและได้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ

จึงกลายเป็นเทรนด์ที่สนับสนุนให้ “เครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน” มีแนวคิดที่จะใช้นวัตกรรมกระบวนการมาปรับรูปแบบการท่องเที่ยว ทั้งการเดินทาง การบริการของชุมชน และพื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับการทำงาน

เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวชาวไทยในด้านการเปลี่ยนที่ทำงานจาก Work From Home เป็น Work From Anywhere รวมถึงดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งเยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย ที่ต้องการมาพักผ่อนและเรียนรู้วิถีชีวิตไปพร้อมกับคนพื้นเมือง ควบคู่กับความต้องการพื้นที่ทำงานส่วนตัวในหมู่บ้าน

ทั้งนี้ นวัตกรรมการท่องเที่ยวแบบ Workation ที่ชุมชนและพื้นที่มีการปรับรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดินทางมาถึง มีการจัดการดูแลตั้งแต่เริ่มเข้าพื้นที่ การพักผ่อน การทำงานนอกสถานที่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าและเกิดรายได้ต่อพื้นที่

มีการพัฒนากลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่มาคอยอำนวยความสะดวกและบริการนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การต้อนรับ การดริปกาแฟ การทอผ้า ซึ่งผู้ที่มาเยือนไม่เพียงแต่สามารถนั่งทำงานได้อย่างมีความสุข ในช่วงพักหรือเลิกงานก็สามารถลงไปสัมผัสวัฒนธรรมพื้นถิ่นและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

ไม่ว่าจะเดินป่า พูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ หรือเล่นดนตรี แต่หากผู้ที่มาเที่ยวต้องการปลีกวิเวก เพื่อทำงานและรับชมธรรมชาติเท่านั้น นักท่องเที่ยวก็สามารถดีไซน์รูปแบบการท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้

โหลดแอปฯ “มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว” แล้วไปเดินป่าพิชิตยอดเขา กับเส้นทางอนุรักษ์มรดกโลก

ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นยอดเขาที่มีความสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย มีความสูงเกินกว่า 1,900 เมตร มีลักษณะเป็นป่ากึ่งอบอุ่นเหมือนต่างประเทศที่อุดมไปด้วยพรรณไม้กว่า 2,000 ชนิด พืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลกมากกว่า 100 ชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์มากถึง 672 ชนิด

ทำให้ปัจจุบันดอยหลวงเชียงดาวได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล หรือพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งด้านป่าไม้ พันธุ์พืช และสัตว์ป่า ตลอดจนวัฒนธรรมในพื้นที่

ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าและพื้นที่ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบการจัดการ เพื่อแบ่งเขตในการอนุรักษ์ และการทำมาหากินในพื้นที่อย่างชัดเจน นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย

ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเดินทางมาศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งหากขาดความรู้อาจทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและวิถีชีวิตดั้งเดิมถูกทำลาย

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์สัมผัสความงามธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกับ NIA สร้างนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยววิถีใหม่ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชัน “มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว” ที่สามารถใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์

สำหรับหาข้อมูลเตรียมตัวก่อนขึ้นไปศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว และแบบออฟไลน์ เพราะเมื่อเข้าสู่พื้นที่จะไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดข้อมูลลงในสมาร์ทโฟนไว้ล่วงหน้า

เมื่อเดินทางถึงจุดที่กำหนดก็สแกน QR Code เพื่อให้แอปพลิเคชันแสดงข้อมูลตลอดเส้นทาง เช่น ข้อมูลพืชพรรณเฉพาะถิ่น คำแนะนำสถานที่จุดชมวิว ฟอสซิลหอย 230 ล้านปี รวมถึงเรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธาในพื้นที่ ประวัติเจ้าหลวงคำแดง เทพอารักษ์ประจำดอยหลวงฯ และช่องทางการบริจาคเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากร

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่สนใจการอนุรักษ์เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาว เช่น อาสาสมัครทำแนวกันไฟ การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าดอยหลวงเชียงดาวนับเป็นพื้นที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญทั้งด้านระบบนิเวศพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่า รวมถึงวัฒนธรรมชุมชน

ดังนั้น การนำนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ นอกจากจะช่วยอนุรักษ์พื้นที่พิเศษแล้วยังสามารถช่วยต่อยอดและรักษาความมหัศจรรย์ของดอยหลวงเชียงดาวให้คงอยู่สืบต่อไป

ฟังดนตรี “ม้งไซเบอร์” จากเด็กดอยบ้านน้ำจวง และชมการพลิกหมู่บ้านนาขั้นบันไดสู่เทศกาลดนตรี

ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ โรงเรียนชายขอบ และโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ขาดแคลนครูและเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

ซึ่งโรงเรียนบ้านน้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโรงเรียนแห่งเดียวของหมู่บ้าน มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย รวม 500 คน ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้คือ เด็กขาดทักษะอาชีพที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เมื่อถึงวัยทำงานจึงต้องไปเป็นแรงงานต่างถิ่น

ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนในหมู่บ้านเข้าถึงทักษะอาชีพที่ต้องการเรียนรู้ และสามารถนำไปสร้างอาชีพให้กับตัวเองได้ บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด จึงร่วมกับชุมชนบ้านน้ำจวง ออกแบบ 3 หลักสูตรสำหรับพัฒนาอาชีพ

ได้แก่ หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร หลักสูตรพื้นฐานการผลิตสื่อโฆษณาและสื่อออนไลน์ และหลักสูตรการแสดงดนตรีและละครเวที เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านมีโอกาสเข้าถึงอาชีพทางเลือกได้มากขึ้น

โดยเป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ชุมชนที่เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และงานเทศกาลดนตรี (Hmong Cyber Music Festival) เพื่อให้เยาวชนที่จบหลักสูตรได้มีพื้นที่การแสดงออก และต้องการให้ผู้ปกครองเห็นว่าการเรียนการสอน สามารถนำมาต่อยอดทำงาน สร้างรายได้เสริมในพื้นที่ชุมชนของตนเองได้ โดยไม่ต้องละถิ่นเข้าไปทำงานในเมือง

ความสนุกจากการท่องเที่ยวในวันนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่ไปแล้วรู้สึกได้ถึงความสวยงาม อากาศดี อาหารอร่อย แต่การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การได้สัมผัสวัฒนธรรมที่ผสานไปกับนวัตกรรมอย่างลงตัว รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และควรร่วมผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความนิยมกับนักท่องเที่ยว สร้างการเป็นที่รู้จักในระดับโลก.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...