โจรไซเบอร์ ‘หลอกผู้โดยสาร’ ใช้ Wi-Fi ปลอมในสนามบิน

แน่นอนว่า ต้องมีคนจำนวนไม่น้อยเคยไปสนามบินเพื่อเดินทาง ทำงานในสนามบิน หรือไปรับ-ส่งคน และไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าหลายคนเลือกใช้ wifi ฟรีในสนามบินโดยลืมคำนึงถึงความปลอดภัยและภัยร้ายเงียบที่แฝงตัวมา

โดยกรณีล่าสุดที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ทางสายการบินหนึ่งได้รายงานเกี่ยวกับเครือข่าย Wi-Fi ที่น่าสงสัย ซึ่งพนักงานของสายการบินตรวจพบระหว่างเที่ยวบินภายในประเทศออสเตรเลียและได้แจ้งเรื่องให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ

ส่งผลให้ตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย AFP ตรวจสอบและได้รวบตัวชายชาวออสเตรเลียวัย 42 ปี ในข้อหาสร้าง Wi-Fi ปลอมเพื่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยขณะเดินทางกลับมายังสนามบินเพิร์ธด้วยเที่ยวบินภายในประเทศ จากนั้นได้ค้นสัมภาระและยึดอุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายแบบพกพา แล็ปท็อป และโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตรวจค้นบ้านของเขาในเมืองพอลไมรา รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม โดยทีมปฏิบัติการอาชญากรรมไซเบอร์ของกองบัญชาการภาคตะวันตกของ AFP ได้วิเคราะห์ข้อมูลและอุปกรณ์ที่ยึดมาได้ และพบว่ามีเพจ Wi-Fi ปลอมถึง 3 สนามบิน ทั้งในเมืองเพิร์ธ เมลเบิร์น และแอดิเลดบนเที่ยวบินภายในประเทศ รวมถึงในสถานที่ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับที่ทำงานเดิมของผู้ต้องสงสัย มากกว่านั้นยังตรวจพบข้อมูลส่วนบุคคลหลายสิบรายการที่เป็นของบุคคลอื่นบนอุปกรณ์ของเขาอีกด้วย

ผู้ต้องสงสัยรายนี้ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ถึง 9 ข้อหา จากที่มีการสร้างเครือข่ายจุดเชื่อมต่อที่ลอกเลียนแบบเครือข่ายที่ถูกต้องตามกฏหมายและติดตั้ง Free Wi-Fi ปลอมหลายตำแหน่งภายในสนามบินเพื่อบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลจากเหยื่อที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจ

เมื่อเหยื่อเริ่มการเชื่อต่ออุปกรณ์กับเครือข่าย Wi-Fi ฟรี ก็จะถูกนำไปยังหน้าเว็บปลอมที่กำหนดให้ต้องลงชื่อเข้าใช้ด้วยอีเมลหรือข้อมูลเข้าสู่ระบบโซเชียลมีเดีย ข้อมูลทั้งหมดเหล่านั้นจะถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์ของเขาเพื่อนำมาใช้เข้าถึงไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล การสื่อสารออนไลน์ รูปภาพ วิดีโอที่บันทึกไว้ และรายละเอียดทางการเงินธนาคารของเหยื่ออีกด้วย

กรณีดังกล่าวถือเป็นการเตือนให้ระมัดระวังในการเข้าสู่ระบบเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะและเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ผู้ใช้งานจึงควรทำตามคำแนะนำในการใช้งาน Wi-Fi Hotspot อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • ติดตั้ง VPN (Virtual Private Network) ที่น่าเชื่อถือบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งานเพื่อเข้ารหัสและรักษาความปลอดภัยข้อมูลเมื่อมีการใช้งานอินเทอร์เน็ต
  • ปิดการใช้งานการแชร์ไฟล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi ฟรีเพื่อทำงานที่ต้องใช้ข้อมูลสำคัญอย่าง การทำธุรกรรมทางการเงิน
  • เมื่อใช้ Wi-Fi ฟรีเสร็จแล้ว ให้เปลี่ยนการตั้งค่าอุปกรณ์ของคุณเป็น “forget network” ทันที
  • ปิด Wi-Fi บนโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไปเชื่อมต่อกับฮอตสปอตโดยอัตโนมัติ

สุดท้ายผู้ใช้งานต้องจำไว้เสมอว่า “การเชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรี ไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดส่วนตัวใดๆ หรือการเข้าสู่ระบบผ่านอีเมล/บัญชีโซเชียลมีเดีย” ครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...