เงินดิจิทัล 10000 - เงินช่วยเหลือฯปุ๋ยคนละครึ่ง ทำไม “เพื่อไทย” เดินเกมพลาด

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” คืออะไร ทำไมสู้แจกเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทไม่ได้ ทั้งที่ รัฐบาลใช้งบเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถึง 4.68 ล้านครัวเรือน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือชื่อทางการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ คนละครึ่ง” คือ โครงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ด้วยการที่รัฐบาลจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ไม่เกินไร่ละ 500 บาทต่อครัวเรือน ไม่เกิน 20 ไร่

วิธีเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าว ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. ระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวิภัณฑ์ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ คนที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ยังรวมถึงลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2567 - 31 พฤษภาคม 2568

ประเด็นที่เห็นชัด นอกจากการช่วยเหลือชาวนาในการผลิตข้าวนาปีดังกล่าว จะไม่จ่ายเป็นเงินสด 1,000 บาท เหมือนที่ผ่านมาแล้ว ยังต้องจ่ายค่าปุ๋ยอีกครึ่งหนึ่งด้วย 

จริงอยู่, รัฐบาลเศรษฐา อาจมองในมุมของการใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตข้าว แต่ในมุมของ “ชาวนา” คนยากคนจน “เงิน” เป็นสิ่งสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงต้นฤดูทำนา ไม่แต่เฉพาะ “ค่าปุ๋ย” หากแต่มีปัจจัยการผลิตอื่นมากมายในกระบวนการผลิตที่ต้องลุงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าไถอย่างน้อย 2 รอบ ค่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจ น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ก็อาจต้องลงทุนใหม่ ค่าแรงงานหว่าน-ดำ และชาวนาส่วนใหญ่ ใช้มูลสัตว์“วัว-ควาย” แทนปุ๋ยได้อยู่แล้ว จึงอาจจำเป็นน้อยกว่า “เงินสด” 

อย่างนี้นี่เอง ที่นักกิจกรรมทางสังคมมักโจมตีรัฐบาลและนักวิชาการหอคอยงาช้างว่า “คิดจากบนลงล่าง” คือ ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของชาวนา แต่ชอบคิดแทนชาวนา  

ขณะที่รัฐบาลเศรษฐา อาจคิดว่า รัฐบาลช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้เกษตรกรมาแล้ว ด้วยมาตรการ “พักหนี้” ธ.ก.ส. ในรายที่มีเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี นั่นอาจเป็นคนละเรื่อง ที่เกษตรกร คาดหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะชอบอวดอ้างว่า รู้จักความเดือดร้อนของ “คนรากหญ้า” ดี ยิ่งกว่านั้น “เงิน” 1,000 บาท เป็นสิ่งที่เคยได้จากรัฐบาลก่อนมาแล้ว ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลเดือดร้อนอะไร

หรือว่า ต้องการเก็บงบประมาณเอาไว้ใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลฯ อย่างที่มีบางคนตั้งข้อสงสัย?  

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนับแต่เป็นรัฐบาลภายใต้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อปี 2557 จนถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ก็มีมาตรการช่วยชาวนาด้วยการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ใช้งบกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีด้านอื่น เช่น  มาตรการ “จำนำข้าวยุ้งฉาง” ซึ่งสาระสำคัญแตกต่างจากจำนำข้าว 2 ข้อ คือ

หนึ่ง กำหนดราคาจำนำแค่ 90% ของราคาตลาด เพื่อให้ชาวนาได้มีโอกาสไถ่ถอน หากราคาข้าวในตลาดสูงกว่า 

สอง ชาวนาสามารถเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาฝากไว้ที่รัฐ อ้างว่า เป็นการปิดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต ที่สำคัญ ไม่เป็นภาระต่องบประมาณ ที่ต้องเสียค่าจัดเก็บและดูแล

ไม่นับมาตรการอื่นอีก เช่น ทำเกษตรกรรมแปลงใหญ่ โซนนิ่งปลูกข้าว หรือให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้ราคาดีกว่า ฯลฯ 

ดังนั้น ไม่แปลกที่ชาวนา จะนำเอามาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเศรษฐา มาเทียบกับรัฐบาล “ลุงตู่” ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รัฐบาล “ลุงตู่” ทำให้เกษตรกรได้จับเงินสดมากกว่า

ความจริง ไม่เพียงนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เท่านั้น ที่ถือว่า รัฐบาลเศรษฐา อาจเดินเกมผิดพลาด และอ่านปัญหาคนรากหญ้าในสายตาคนเมือง คนรวย คนมีอันเหลือกิน 

ยังรวมถึงโครงการตามนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนอายุ 16ปีขึ้นไป ครอบคลุมถึง 50 ล้านคน ก็มีข้อผิดพลาดทั้งในแง่ของ “แหล่งที่มาของเงิน” และเงินที่ได้ตกถึงมือของใคร? ซึ่งไม่ใช่คนยากคนจนได้ประโยชน์สูงสุด  

เริ่มจากผู้มีสิทธิ์ได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คือประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้านมีสัญชาติไทยอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนลงทะเบียน ไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000บาท

ส่วนวิธีใช้เงินดิจิทัลฯ ที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า “เงินสด” จะไปตกอยู่ที่ใคร? 

หนึ่ง - ประชาชน 50 ล้านคน ได้รับเงินดิจิทัลฯ 10,000 บาท จากรัฐบาล

สอง - ประชาชนลงทะเบียน เริ่มใช้เงินดิจิทัล ภายใน 6 เดือน

สาม- ประชาชนนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่อยู่ในซูเปอร์แอป ไปซื้อของ ในเขตอำเภอตัวเอง 878 แห่ง

สี่ - พ่อค้า แม่ค้า ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นในชุมชน สแตนด์อะโลน ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน (พ่อค้า แม่ค้า คนที่ 1 รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท)

ห้า - พ่อค้า แม่ค้า ร้านขนาดเล็ก คนที่ 1 ไม่สามารถนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปขึ้นเงินสด

หก - พ่อค้า แม่ค้า คนที่ 1 ต้องนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ได้จากประชาชน ไปซื้อสินค้าต่อจากพ่อค้าคนที่ 2 ได้ในทุกขนาดร้านค้า อาจจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกได้ทั่วประเทศ

เจ็ด - พ่อค้า แม่ค้า คนรับเงินคนที่ 3 ที่อยู่ในระบบภาษี VAT และภาษีนิติบุคคล นำเงินดิจิทัลที่ได้ทั้งหมด ไปขึ้นเงินสด

นั่นแทบไม่ต้องสงสัยว่า ใครได้ “เงินสด” และเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเงินดิจิทัลฯ 10,000 บาท 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมี “เงื่อนงำ” ที่น่าสนใจหลายประการ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอธิบายไม่กระจ่างแจ้ง 

ประการแรก ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ตอบแทน “นายทุน” ทางการเมืองของตัวเองกันแน่? กรณีไม่แจก “เงินสด” และสร้างขั้นตอนให้ “ซับซ้อน” จนผู้รับเงินสดเป็น “เจ้าสัว” เจ้าของกิจการรายใหญ่ 

ประการที่สอง ต้องการช่วยเหลือใครกันแน่ คนจน ชนชั้นกลาง (เกณฑ์ผู้มีเงินได้ 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท) หรือ เจ้าของโรงงาน ผู้ผลิตสินค้า(ที่เดิมพวกเขาก็ได้สิทธิด้วย เพียงแต่มาปรับในภายหลัง) เรื่องนี้ หนีไม่พ้น การใช้คนจน ชนชั้นกลางมาเป็นข้ออ้างของความชอบธรรมในการแจกเท่านั้น? 

ประการที่สาม งบประมาณถึง 5 แสนล้านบาทที่ต้องใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ แต่ผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ และเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างคุ้มค่าที่ลงทุน ใครต้องรับผิดชอบ

รวมถึงการสูญเสียโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณดังกล่าวในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ใครเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง 

ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ ทำไมโครงการที่เห็นได้ชัดว่า ใครได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีปัญหาผิดกฎหมายในการนำเงินงบประมาณมาใช้ จนมีคำเตือนจากหลายฝ่าย รวมทั้ง “ป.ป.ช.” ที่มีอำนาจเอาผิดหากโครงการ “ล้มเหลว” แต่รัฐบาลเศรษฐา ก็ยังดันทุรังที่จะทำให้ได้ คือ คำตอบว่ารัฐบาลตอบสนองใครหรือไม่?

แน่นอน, แม้ว่าประชาชน จะไม่คัดค้าน เพราะยังมีส่วนได้อยู่บ้าง แต่ถ้าให้เลือกกับการได้ “เงินสด” ประชาชน ก็คงเลือกเงินสด เพราะสอดคล้องกับความเดือดร้อนมากกว่า

น่าแปลก ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง “เงิน” คือ สิ่งที่คนยากคนจนต้องการ แต่รัฐบาลกลับบังคับให้ใช้ “สินค้า” คนละ10,000 บาทภายใน 6 เดือน แต่กลับประเคน “เงินสด” ไปให้กับ “เจ้าสัว” ซึ่งร่ำรวยเงินทอง ไม่มีความเดือดร้อนแต่อย่างใด

อย่าลืมว่า รัฐบาลเศรษฐาคิดอย่างนี้ได้ ประชาชนคนรากหญ้า ฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทยและของ “ทักษิณ ชินวัตร” เขาก็คิดได้แล้วเช่นกัน ว่าเลือกตั้งสมัยหน้าเขาจะเลือกใคร

คำกล่าวที่ว่า ถ้าให้เป็นเงิน กลัวว่าประชาชนจะนำไปใช้ในสิ่งฟุ่มเฟือยและอบายมุข ซึ่งเท่ากับเหมารวมประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่จริง และเท่ากับเป็นการ “ดูถูก” ประชาชน

อย่าลืม สิ่งที่พรรคการเมืองบางพรรคชอบพูดว่า “อย่าดูถูกประชาชน” มันคือ สิ่งที่พรรคการเมืองพรรคนั้นกำลังทำอยู่หรือไม่ 

เหนืออื่นใด นโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ยอมให้ “เงิน” กับประชาชน เพราะกลัวใช้ผิดวัตถุประสงค์ นั้น คำว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” อาจน่ากลัวกว่าที่คิดก็เป็นได้ ใครจะรู้!? 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...