92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

ในปีนี้เช่นเดียวกับทุกปี ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานทางวิชาการ เพื่อเป็นการรำลึกถึง ความเสียสละ ความกล้าหาญ การเสี่ยงชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

งานเสวนาทางวิชาการปีนี้ จัดงานที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 13.30-17.00 น.  

เราชาวไทยต้องการแสวงหาความคิดและแนวทางในการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับ “ขบวนการประชาธิปไตย” เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ภารกิจเฉพาะหน้า คือ การประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ณ เวลานี้ รอดพ้นจากการรัฐประหารให้ได้เสียก่อน และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในประเทศไทย

นั่นก็คือ รัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการลุแก่อำนาจหรือดำเนินการใดๆ ที่ผิดหลักการผิดกฎหมายอันชอบธรรม

ประการต่อมา ต้องสามัคคีพลังทั้งหมดของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในการผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญ” ฉบับของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย และ สร้างสรรค์ ค่านิยมประชาธิปไตย และ ค่านิยมสันติธรรม ให้หยั่งรากลึกไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ ทุกครอบครัวของสังคมไทย  

หลังจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. หมดวาระลงและจัดให้มีระบบการเลือกตั้งกันเองเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่แล้ว จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น คาดว่าองค์ประกอบของวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไป และผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่วุฒิสมาชิกชุดใหม่จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีจุดยืนประชาธิปไตย

มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และดำเนินการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนมากกว่าทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ คาดว่าน่าจะมีเสียงมากพอที่จะร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้

ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องระหว่าง ขั้วรัฐประหารและขั้วความคิดอนุรักษ์อำนาจนิยมขวาจัด กับ ขั้วฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยมและความคิดก้าวหน้า

หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปไปมีความซับซ้อนมากขึ้นและพัฒนาการของประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป 

ทั้งสองขั้วต้องการดึงมวลชนมาเป็นฐานการสนับสนุน มีการใช้การสื่อสารแบบเลือกข้างทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างต่อเนื่อง แม้นความรุนแรงจะลดระดับลงเมื่อเทียบกับช่วงความขัดแย้งเหลืองแดงและช่วง กปปส. 

การเมืองบนท้องถนน การเมืองปลุกระดมมวลชนอย่างบ้าคลั่ง ได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่ “นิติสงคราม” ยังดำรงอยู่และมีการใช้ “องค์กรอิสระ” และ “ตุลาการ” จัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยมขวาจัดต่อไป  

การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้าและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง

ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมือง เพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศจะมีกระบวนการเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ

สิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองได้รับการรับรองไว้ในระดับสากล คือ มาตรา 20 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมและสมาคมโดยสันติ”

ในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) รับรองสิทธินี้ไว้เช่นกันในมาตรา 22 “บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง

การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน หรือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ปัจจัยชี้ขาด พลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากผู้นำกองทัพ (การรัฐประหาร) มาที่ อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เสียงและอำนาจประชาชนยังคงเป็นเพียงส่วนประกอบให้ดูเหมือนว่า ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ปีที่ 92 ของประชาธิปไตยไทย ภารกิจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรให้ “เสียงของประชาชน” มีความหมาย ทำอย่างไรให้ “ประชาชนส่วนใหญ่” เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางประเทศเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนที่ไปทำ “ดีลต่างๆ” โดยประชาชนเจ้าของประเทศไม่ได้มีความหมายอะไร    

 การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและภาคชนบทไทย พัฒนาการทางประชาธิปไตยไทยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาได้ระยะหนึ่ง ประชาชนยากจนในชนบทที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ และมักถูกซื้อด้วยเงินเวลาเลือกตั้งได้เปลี่ยนไปแล้ว

การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่นำเสนอนโยบายให้คนชนบท ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องการแข่งขันทางนโยบายมากขึ้น และสิ่งนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมายังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ปี พ.ศ. 2562 และ ปี พ.ศ. 2566 พรรคการเมืองต่างๆต่างแข่งขันกันในทางนโยบายเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

นโยบายที่นำเสนอมีทั้งที่ออกแนวนโยบายประชานิยมและเป็นนโยบายสาธารณะทั่วไป นโยบายกองทุนหมู่บ้านมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านโดยเฉพาะชุมชนที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน

การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว  ในกรณีของไทยมีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มักมาจากแต่งตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึงสองครั้ง และ ยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดผลาดในการบริหารประเทศ

การทุจริตคอร์รัปชันหรือกล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายต่อประเทศ ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย

ซึ่งรวมถึงกลุ่มการเมืองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครอง โดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น

พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น จะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) 

ประชานิยมของหลายพรรคการเมืองที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นสถาบันของประชาธิปไตย และผลของนโยบายประชานิยมไม่ชัดเจนว่าทำให้เสรีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ในประเทศไทย

แต่ “ประชานิยม” ได้สร้างสภาวะทางการเมืองที่เสียงของประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย อีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

โดยข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ถูกใช้ในกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วยเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557 

เมื่อคณะรัฐประหารได้เข้ามาปกครองประเทศและมีการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่า เป็น หนึ่งในนโยบายประชานิยม รัฐบาลของคณะรัฐประหารเองก็มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งก็มีลักษณะเป็นประชานิยมเช่นเดียวกัน

มีมาตรการหรือนโยบายหลายอย่าง เช่น สวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการคนจน ที่ก็เข้าข่ายนโนบายประชานิยมเช่นเดียวกัน หลายนโยบายก็เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐบาลไหนก็ตาม (มีต่อตอน 2)

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 2)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...