รัฐบาลดิจิทัล (7) : ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

เริ่มจากตอนนี้ เราจะพูดถึงผลลัพธ์ในมิติที่สองของรัฐบาลดิจิทัล นั่นก็คือ “ด้านข้อมูล”

ปัญหาสำหรับภาครัฐคือ ข้อมูลจำนวนไม่น้อยยังอยู่บนกระดาษ เวลาจะนำข้อมูลเข้าระบบก็ต้องอาศัยคนมาป้อนข้อมูล ซึ่งเสี่ยงที่จะผิดพลาดได้ง่าย และใช้เวลานานกว่าที่จะได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ไม่รู้ว่าอยู่กับหน่วยงานไหน พอได้ข้อมูลมา ก็ไม่พร้อมให้ใช้งาน เช่น สแกนจากกระดาษเข้ามาเก็บเป็นภาพ ทำให้ค้นหาคำในเอกสารไม่ได้หากไม่แปลงจากภาพเป็นตัวหนังสือด้วยโปรแกรมอ่านตัวอักษร เสียก่อน 

พอนำมาทำรายงานเสนอผู้บริหารก็มีปัญหาอีกว่า ข้อมูลต่างๆเหล่านั้น มีนิยามอย่างไร เข้าใจตรงกันหรือไม่ หลายครั้ง ข้อมูลจากหลายแหล่งไม่สอดคล้องกัน ท้ายสุด ผู้บริหารจะเชื่อถือในความถูกต้องของข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ตัดสินใจได้หรือไม่ 

ที่ผ่านมา เรามักถือว่าข้อมูลคือ สิ่งที่ได้มาจากการปฏิบัติราชการตามปกติ ไม่ได้มีการตระหนักถึงความสำคัญ หรือมีการบริหารจัดการโดยเฉพาะ อย่างมากก็มีการจัดเก็บในฐานข้อมูลและดูแลโดยฝ่ายไอทีเท่านั้น 

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมจึงต้องมีการวาง “ระบบกำกับดูแล” เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลในองค์กร หรือที่เรียกกันว่า “ธรรมาภิบาลข้อมูล” (Data Governance)

เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย  หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ไปจนถึงแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล (Data Management) ซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตของข้อมูล ตั้งแต่การสร้าง จัดเก็บ ใช้ เผยแพร่ จัดเก็บถาวร ไปจนถึงการทำลายข้อมูล 

คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้วาง “กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ” เพื่อเป็นกรอบการทำงานของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Quality) มีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว (Data Privacy) และรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 

กรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ  ไม่ใช่ “ลัทธิ” ที่คาดหวังให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องทำตามเพียงเพื่อให้เกิด “ธรรมาภิบาลข้อมูล”ขึ้น หากแต่มีความมุ่งหมายผลลัพธ์ด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลใน 3 ด้านเป็นสำคัญ 

ประการแร เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ สองคือ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน  และสุดท้าย เพื่อให้มีการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และแสดงผลเพื่อการตัดสินใจ (Data Visualization & Analytics)

ขณะเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐต้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้มีการรั่วไหลออกไปหรือนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ

การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล จึงเป็นมาตรการแรกที่จำเป็นสำหรับทุกหน่วยงานในการดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย (Compliance)

สำหรับการขับเคลื่อนในระยะแรก เราเน้นให้ หน่วยงาน ต้องจัดทำ “บัญชีข้อมูล” (Agency Data Catalog) ของชุด “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” เพื่อรวบรวมรายชื่อและคำอธิบายข้อมูลที่หน่วยงานใช้ในการปฏิบัติงานตาม “ภารกิจหลัก” ของหน่วยงานนั้นๆ แล้วนำบัญชีข้อมูลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนำข้อมูลเปิดไปขึ้นที่ data.go.th

ทั้งนี้ DGA ได้จัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ จัดทำบทเรียนออนไลน์ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา (มิติคน) มีการปรับปรุงกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยเพิ่มแนวทางการนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ

เช่น กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลด้านธรรมาภิบาลข้อมูลมาแล้ว (มิติกระบวนการ)

นอกจากนี้ DGA และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมมือกับ NECTEC นำระบบ CKAN Open-D มาใช้เป็นระบบบัญชีข้อมูลของหน่วยงาน ทำให้หน่วยงานลดภาระไม่ต้องป้อนข้อมูลซ้ำซ้อน และสามารถดึงข้อมูลเปิดจากหน่วยงานมาขึ้นที่เว็บ data.go.th ได้โดยอัตโนมัติ (มิติเทคโนโลยี)

DGA ยังได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล” (Data Innovation and Governance Institute) ขึ้น เพื่อสนับสนุนหน่วยงานให้เกิดการกำกับดูแล และการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล พัฒนาทักษะด้านข้อมูล สร้างเครือข่ายการใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมจากข้อมูล 

โดยมีการจัดค่ายสานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ (DIGI Data Camp)  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล สร้าง dashboard หรือสร้างบริการใหม่ (ด้วยเทคโนโลยี ​Low Code/No Code) จากข้อมูลเปิดภาครัฐ

แล้วประกวดคัดเลือกผลงานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีผลกระทบสูง มีผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้จำนวนถึงกว่า 1,000 คน รวม 400 ทีม จากกว่า 350 หน่วยงาน

ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัล เช่น ข้อมูลภาพรวมสถานการณ์ไข่ไก่และไก่ไข่ ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลภาพรวมการบริหารพัสดุคงคลังและการแก้ปัญหาพัสดุไม่เคลื่อนไหว ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

เราพบว่า ทุกคนต่างเห็นความสำคัญของการทำธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อพัฒนาคุณภาพของข้อมูล  ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลก็เกิดความภาคภูมิใจ เห็นความสำคัญและสนับสนุนทีมงานข้อมูลอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

ผลจากการขับเคลื่อนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทุกหน่วยงานเริ่มจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลและนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในระยะต่อไป จึงมุ่งเน้นไปที่ชุดข้อมูลหลัก (Master Data) ที่มีการแบ่งปันกับหน่วยงานอื่น โดยให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานในโดเมนต่างๆตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทั้ง 10 ด้าน เช่น การศึกษา สาธารณสุข และเกษตร เป็นต้น

การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูลไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญ กำหนดขอบเขตและเป้าหมายให้ชัด แต่งตั้งผู้รับผิดชอบและทีมงานจากทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง แล้วติดตามผลอย่างต่อเนื่องจริงจัง 

การพัฒนาบุคลากรทุกระดับของหน่วยงานให้มีทักษะด้านข้อมูล เป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล

หวังว่า ต่อไปเราจะเห็นการบูรณาการข้อมูลในระดับกระทรวง เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมในการบริหารงานและสามารถวิเคราะห์และกำหนดนโยบายบนฐานของการใช้ข้อมูล (Data-Driven) อย่างแท้จริง. 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...