พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยนโยบายสาธารณะเรื่อง AI

แม้แต่ช่องวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจก็ยังต้องหยิบยกเรื่อง AI มาพูดถึง ทั้งในแง่การแข่งขัน ผลกระทบต่อสังคม โอกาสใหม่ ๆ อันตรายต่าง ๆ ตลอดจนพยายามอธิบายว่า AI นั้นคืออะไร ทำงานอย่างไร

ด้วยการที่ AI มีพัฒนาการที่เร็วมาก ออกเวอร์ชั่นใหม่ทุก 2-3 เดือน เร็วขนาดที่แม้แต่วิทยากรและกูรูทั้งหลายยังหัดใช้ (เพื่อเอาไปใช้สอน) กันแทบไม่ทัน แถมบริษัทผู้ผลิต (ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งอเมริกา) ยังมีนโยบายการเก็บค่าบริการ (ที่แทบจะเปลี่ยนรายไตรมาส !!)

โดยมีแนวโน้มถูกลงเรื่อย ๆ หรือเปลี่ยนใจให้ใช้ฟรีกับแบบชั่วข้ามคืนก็มี เรียกว่า แข่งกันดุเดือดทุ่มเงินมหาศาลชนิดที่เรียกว่าเท่าไหร่เท่ากัน  ซึ่งผู้ใช้/ผู้บริโภคก็เลยได้ประโยชน์ มี AI (ของหรู) ให้ใช้กันแสนถูก

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ ประชาชนในมิติบทบาทต่าง ๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคราชการ ย่อมปรับตัวตามไม่ทันยิ่งกว่า และบางคราวในมุมประชาชนทั่วไปอาจขาดภูมิคุ้มกันทางสติปัญญา พิจารณาใช้งาน AI ไม่เหมาะสม หรือถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจนเกิดผลเสียหายได้ โดยรู้ไม่ถึงการณ์

มีหลายเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ว่าภาครัฐควรออกนโยบายมาส่งเสริม มากำกับ และมาช่วยให้สังคมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง 

ตัวอย่างเช่น ในฝั่งสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็ถึงขั้นเร่งด่วนแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการ “วิสามัญ” พิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ประกอบด้วยกรรมาธิการ ประกอบด้วย ส.ส. มากมาย และโดยเฉพาะที่ปรึกษาอีกหลายสิบท่าน รวมทั้งหมดแล้วอาจจะแตะเกือบร้อยคน นับว่าน่าทึ่ง

ในฝั่งภาครัฐ ก็มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นโต้โผจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)  เริ่มต้นมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว

ต่อมาก็ถูกหยิบยกไปตั้งเป็นคณะทำงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (โดยอดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ) ผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู จนได้เข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน (26 กรกฎาคม 2565 [2])

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ AI พัฒนาไปเร็ว “แบบติดจรวด” นโยบายอะไร ที่ทำไว้เกิน 1-2 ปี ถือว่า ต้องเอามาปัดฝุ่นกันใหม่หมด เพราะฝุ่นมันตลบและเกาะเร็วเหลือเกิน

สิงคโปร์เอง ออกนโยบาย ยุทธศาตร์ AI แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Strategy) ไปเมื่อ พฤศจิกายน 2562 (ค.ศ. 2019) ก็ยังต้องรีบออกเวอร์ชั่น 2.0 อย่างไว ตามมาอีกเมื่อ ธันวาคม 2566 (ค.ศ. 2023) ทั้ง ๆ ที่เล่มแรก ก็วางวิสัยทัศน์ไว้ถึงปี 2030 แล้ว 

เหตุเพราะปลายปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) มีการเปิดตัว AI Chatbot ชื่อ ChatGPT จากบริษัท OpenAI ทำให้ฉากทัศน์ของวงการดิจิทัลรวมถึงเศรษฐกิจและสังคมโลกเปลี่ยนแบบมโหฬาร

ส่วนยุโรปเอง พัฒนากฎหมายควบคุมกำกับดูแล AI (EU AI Act) เป็นคนแรก ๆ (ผลักดันร่างเข้าสภากันตั้งแต่ 2564) แต่พอกำลังสะเด็ดน้ำผ่านสภากลับต้องชักออกมาทบทวนอย่างด่วน ๆ จนประกาศล่าช้าไปถึง ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เพราะ ChatGPT ดันเปิดตัวมา (พฤศจิกายน 2565)  ทำให้วิธีใช้ วิธีคิด วิธีพัฒนาและส่งเสริม เกี่ยวกับ AI เปลี่ยนไปสิ้นเชิง 

สำหรับไทยเองควรทำอย่างไร ? แผนก็ยังไม่ได้ปรับ กระบวนการภาครัฐก็ช้า กำลังคนก็ไม่พร้อม เทคโนโลยีก็แพง งบประมาณก็ขาดแคลน (เสมอ) ฝ่ายนโยบายระดับสูงเองก็เรียนรู้ก็ไม่ทัน (แม้แต่กลุ่มกูรูในวงการเองก็ยังหอบ) เพราะมันยุ่ง ยาก และเยอะ แถมเกมการเมืองรุมเร้าหนัก 

ผมอยากให้ฝ่ายนโยบายระดับสูงมองเรื่องนี้ “แบบใช้วิกฤติเป็นโอกาส” ก็ในเมื่อ AI เป็นกระแสที่ทุกคนพูดถึงและเห็นตรงกันว่าสำคัญ ก็ใช้แรงนี้เป็นตัวยกระดับการจัดทำข้อมูลดิจิทัลของประเทศให้ได้มาตรฐานจริงจัง เพราะข้อมูลเปรียบเหมือนอาหารป้อน AI ถ้าอาหารไม่มี หรือไม่ดี AI ก็แคระแกร็น สมองไม่พัฒนา 

การยกระดับข้อมูลดิจิทัลนี้จะส่งผลยั่งยืน เพราะเป็นการบีบให้ทำการปฏิรูปกระบวนการทำงานเชิงดิจิทัลไปในตัว นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปจนถึงนโยบาย Cloud First อีกด้วย เพราะต้องจัดระบบระเบียบข้อมูลให้เรียบร้อย

กล่าวคือ การคัดกรองแยกข้อมูล ว่าอะไรเปิดสาธารณะได้ อะไรแค่แชร์ใช้งานระหว่างภายในภาครัฐ อะไรต้องเก็บไว้ลับภายใน และอะไรที่จะเอาไปสอน AI ให้ฉลาดได้ ซึ่งข้อมูลต้นน้ำ คือ ข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำมาตามภารกิจ เป็นระดับละเอียดที่สุด  

ข้อมูลต้นน้ำที่ว่า ต้องผ่านกระบวนการจัดเตรียม หรือแปลงข้อมูลให้มีความละเอียดที่เหมาะสม (แต่ไม่หยาบเกินไป จนแทบไม่มีประโยชน์)

เช่น การลบชื่อบุคคลแล้วแทนด้วยชื่อสมมติ  การลบเลขบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขหมายโทรศัพท์ แล้วแปลงเป็นค่าอื่นที่ไม่สื่อกลับไปถึงบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อให้นำไปใช้ต่อยอดได้สบายใจ

อย่าลืมว่า หัวใจสำคัญที่สุด ของการพัฒนา AI และการพัฒนางานด้านดิจิทัลทั้งหลายทั้งปวง คือ ข้อมูลที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ หรือ ฮาร์ดแวร์ราคาแพงไฮโซ หรือ เครือข่าย Super 5G

เมื่อเร็ว ๆ นี้ (29 พฤษภาคม 2567 [3]) กระทรวง อว. เขาแอ่นอกเตรียมทำในส่วนของงานฐานรากให้ มีการประกาศนโยบาย “อว. for AI” ติดอาวุธคนไทยใช้ AI พัฒนาประเทศ โดยเน้นพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานผ่านการให้ทุนสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ นับเป็นเรื่องน่าชื่นชม

นโยบายและการสนับสนุน AI ไม่จำเป็นว่าชื่อกระทรวงหรือชื่อหน่วยงานต้องประกอบด้วยคำว่า “ดิจิทัล” หรือ “เทคโนโลยี” เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกกระทรวง ทุกกรม

ตัวอย่างเช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวอะไรกับ AI และดิจิทัลเลย) ถือฐานข้อมูลคนไทยทั้งหมดไว้ หากจะมีการพัฒนาระบบที่ช่วยให้บริการกรองชื่อบุคคลออกจากข้อมูลก่อนที่จะนำไปใช้สอน AI ก็จะมีคุณูปการยิ่ง (และมีเอกชนใจบุญมากมาย ยินดีช่วยอาสาทำให้ฟรี เพราะหลายท่านก็อยากทำอะไรเพื่อส่วนรวม) 

อย่างไรก็ตาม การประกาศนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ควรมีความชัดเจนเรื่องการลงทุน คือ จะใช้เงินทำอะไร เมื่อไหร่ ผ่านกลไกแบบไหนอย่างไร และแต่ละเรื่องเชื่อมต่อส่งเสริมกันเองและเสริมกับภาพใหญ่อย่างไร

หากดำเนินการได้เช่นนี้ นโยบายสาธารณะนอกจากได้ประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว ยังดูแลเศรษฐกิจและยกระดับสังคมได้ผลด้วย เนื่องจากองคาพยพต่าง ๆ ทั้ง การลงทุนภายในประเทศและจากต่างประเทศ จะมีหลักให้จับ และ สามารถร่วมกันลงทุนต่อเนื่องเกี่ยวพันกันไปได้แบบเสริมแรงกัน.

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...