อดีต2ขุนคลัง ชี้ พายุเศรษฐกิจกำลังมา จี้ รัฐแก้ ‘หนี้ครัวเรือน’ อุ้มรายย่อย

นายอุตตม สาวนายน กรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการด้านนโยบาย และอดีตรมว.คลัง พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ และอดีตรมว.คลัง ร่วมเสวนาหัวข้อ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนครั้งใหม่ โดยนายอุตตม กล่าวตอนหนึ่งว่า หนี้ครัวเรือนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ประชาชนโดยตรง การพัฒนาเศรษฐกิจจะไปได้ดีแค่ไหน หนี้ถ้าใช้ถูกทางเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามากไปก็เป็นตัวถ่วง ประเทศไทย ช่วง10กว่าปีที่ผ่านมา หนี้ฯ เมื่อเทียบกับGDP แนวโน้มเพิ่มตลอดเวลา เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตั้งแต่ปี65 เศรษฐกิจดูจะฟื้นตัวบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ก็ยังไม่ได้เต็มที่ สัดส่วนหนี้ฯ ต่อGDP ยังอยู่ประมาณร้อยละ91 แนวโน้มไม่เห็นจะลดลง เกาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ฟังแล้วดูดี เช่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา หรือเกาหลีใต้ ขีดความสามารถสูงกว่าเรา แต่ระดับหนี้ฯ ของเราใกล้เคียงเขา น่าคิดว่าในภาพใหญ่เศรษฐกิจควรบริหารจัดการในทิศทางใด 

นายอุตตม กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนประมาณ 16.2 ล้านล้านบาท  น่าสนใจคือหนี้เพื่อการบริโภค ร้อยละ 77 ประมาณ 12.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยบัตรเครดิต 1.3 ล้านล้าน กู้ไปใช้อย่างอื่นที่ไม่อยู่ในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ล้านล้าน ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ส่วนหนี้เพื่อการศึกษาไม่สูง แค่7 แสนกว่าล้าน กู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้5 พันกว่าล้าน เป็นต้น   

“เราอันดับ7 ของโลกสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของGDP ในอาเซียนเรานำเลย มาเลเซีย ระดับร้อยละ60กว่า อินโดนีเซีย ร้อยละ60-70 เรานี่91 ต้องถามว่าอีกข้างของสมการ คือหาเงินหาเก่งแค่ไหนในแต่ละประเทศ” นายอุตตม กล่าว 

นายอุตตม กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารรัฐ เอกชน เครดิตบูโร ต้องระดมสรรพกำลังแก้ปัญหา โดยข้อเสนอมี 4 มิติ 1.ต้องครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ 2.ครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาอยู่ที่ไหน กฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริงก็ต้องปรับ ซึ่งแก้หนี้แค่ต้นทาง จะต้องสนับสนุนให้ผู้กู้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เติมทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอาไปประกอบอาชีพยิ่งดี 3.เติมทักษะดิจิทัล ขับเคลื่อนเทคโนโลยี ข้อมูลต่างมีประโยชน์ในการบริหารจัดการมาก เตรียมพร้อมรับวิกฤติต่างๆ ในอนาคต และ 4.มีกระบวนการที่ต่อเนื่อง  

นายธีระชัย กล่าวว่า รายได้ประชาชนช่วงหลังโควิด ยังขึ้นมาไม่เท่าตอนก่อนโควิด มีกลุ่มเดียวที่ทะลุจากที่เคยได้คือ ท็อป10% ของประเทศ กลุ่มที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ โดยกลุ่มที่มีปัญหารายได้ไม่พอชำระหนี้ มี3กลุ่ม กลุ่มที่หนักสุดคือ รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท รายได้หักรายจ่ายติดลบอยู่แล้ว มีภาระชำระหนี้เป็นสัดส่วนของรายได้อีกร้อยละ 25 กลุ่มนี้ติดลบทุกเดือน38%ของรายได้ กลุ่มที่2 รายได้ระหว่าง 1.5-3หมื่นบาท ปัญหาอาจจะเบากว่า บวกประมาณ 10% แต่ภาระชำระหนี้ก็เกิน เฉลี่ยประมาณ19% และกลุ่มที่รายได้เกิน 3หมื่น ไม่ถึง5หมื่น ก็ยังมีปัญหา ภาระชำระหนี้เฉลี่ยประมาณ22% 

นายธีระชัย กล่าวว่า อยากเรียนไปยังรัฐบาลว่า เวลานี้ ปัญหาที่กำลังจะเกิดก็มีขนาดใหญ่ ตัวเลขลูกหนี้ในระบบเครดิตบูโร 14 ล้านล้าน แล้วคำนวณคาดการณ์สิ่งที่เกิดกับหนี้ทั้งระบบ 16.2 ล้านล้าน ลูกหนี้ในระบบเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ค้างหนี้ 90 วันขึ้นไป มีอยู่1.05 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ผ่อนรถยนต์ อีกกลุ่มผ่อนกะปริดกะปรอย 6แสนกว่าล้าน โดยรวมหนี้ที่มีปัญหาขณะนี้ 1.6 ล้านล้าน ประมาณ 12 ล้านบัญชี 2กลุ่มนี้กำลังเพิ่มขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

“ในความเห็นผม พายุสมบูรณ์แบบกำลังจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก แล้วถ้าหากไม่ช่วยให้ประชาชนแก้ปัญหาตรงนี้ เตรียมรับมือเอาไว้ จะรับมือไม่ไหว” นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวว่า เราต้องช่วยลูกหนี้รายย่อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ชะลอดอกเบี้ย แล้วเอาดอกเบี้ยไปโป๊ะท้าย เราต้องการให้ลดยอดหนี้ ผ่าน3มาตรการ 1.กระทรวงการคลังทุบโต๊ะกำหนดเป็นนโยบายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ลดอัตราเงินที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งให้กับกองทุนฟื้นฟู ลงครึ่งหนึ่ง 0.23% ต่อยอดเงินฝาก6เดือน ชั่วคราว5ปี 

2.ธนาคารที่ร่วมรายการต้องเอากำไรสะสมของตัวเอง มาร่วมในการลดหนี้ ไม่น้อยกว่า25% ของหนี้ที่ลด สำหรับลูกหนี้รายย่อยเท่านั้น และ3.ส่วนลูกหนี้ที่ฟ้องคดีเสร็จสิ้น กำลังจะถูกบังคับยึดทรัพย์สิน ยึดหลักประกัน อาจถูกฟ้องล้มละลาย หากยอดไม่เกิน3ล้าน ขอตั้งเงื่อนไขธนาคารที่ร่วมโครงการ ที่ประหยัดในเรื่องกองทุนฟื้นฟูแล้ว ควรสละสิทธิ์ในการฟ้องล้มละลาย สำหรับลูกหนี้รายย่อย ต่ำ3ล้าน ชะลอยึดหลักประกัน ลูกหนี้อาจแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง บ้านจะได้ไม่หลุด จะได้ไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...