Cyber Resilience ความท้าทายทางไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน

ตลอดจนช่องว่างด้านความสามารถขององค์กร ในการรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ เป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสร้าง Cyber Resilience หรือความสามารถในการคืนสู่สภาพปกติหากถูกโจมตีจากภัยไซเบอร์ ที่ควรมีการประสานการทำงานอย่างเป็นระบบในระดับนานาชาติ 

ทั้งนี้ ในเอกสารระบุถึงประเด็นท้าทายสำคัญ 3 ด้าน

1.ความสามารถในการคืนสู่สภาพปกติที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ (Inequity in Cyber Resilience Capability)

2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความก้าวทางเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ Generative AI ที่ถูกนำไปใช้จากฝั่งผู้โจมตีทางไซเบอร์ และประการสำคัญคือ

3.จำนวนบุคลากรผู้ชำนาญการทางไซเบอร์ ที่ไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรับมือกับภัยไซเบอร์ 

บทความนี้จึงขอนำบางประเด็นในเอกสารอ้างอิงดังกล่าว มาเป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และอยากชวนให้ท่านทั้งหลายไปศึกษาเอกสารฉบับเต็มให้ครอบคลุมต่อไป

เหตุที่มีความจำเป็นจะต้องร่วมมือกันในหลากหลายระดับ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ดังกล่าว เพราะในโลกยุคปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจจะมีการเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Connected World) และตามห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่ผูกโยงกันเป็นเครือข่าย 

จึงเป็นการยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถผลิตสินค้าและบริการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยลำพังแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น สินค้าและบริการขององค์กรหนึ่งจะเป็นปัจจัยนำเข้าเพื่อไปผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กลายเป็นสินค้าและบริการใหม่ 

การที่ธุรกรรมของหน่วยงานหนึ่งหยุดชะงักลงจากภัยไซเบอร์ (หรือจากสาเหตุอื่นใดก็ตาม) อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรอื่นในห่วงโซ่คุณค่าลำดับถัดไป จนอาจทำให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงักตามกันไปด้วยแบบโดมิโน

หรืออาจจะเป็นกรณีที่ผู้โจมตีเจาะระบบเข้าในองค์กรที่อ่อนแอกว่า แล้วค่อยคืบคลานต่อไปยังองค์กรเป้าหมายที่แม้จะมีความสามารถ มีระบบป้องกันภัยไซเบอร์ที่แข็งแรงกว่าได้ (Supply Chain Attack) 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (state-sponsored APT Group) ในภาพของนักรบไซเบอร์เพื่อโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ และส่งกระทบเป็นวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการทหารได้เช่นกัน

จากสถิติผลสำรวจของ WEF พบว่า 45% ของผู้นำองค์กรมีความกังวลสูงสุดต่อการดำเนินงานหยุดชะงักลงจากภัยไซเบอร์ ทั้งนี้หากแยกตามภูมิภาคแล้ว ผู้นำองค์กรทางยุโรปและอเมริกาเหนือมีความกังวลมากที่สุด

ขณะที่ผู้นำองค์กรแถบแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกา จะกังวลสูงสุดจากการสูญเสียทางการเงินอันเกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์อย่าง ransomware ส่วนผู้นำทางตะวันออกกลางจะกังวลด้านความเสียหายที่เกิดกับตราสินค้าและชื่อเสียงขององค์กร เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทำให้ผู้นำต้องผวาตื่นตอนกลางคืน หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการสำคัญ รวมถึงการขู่กรรโชกทางไซเบอร์อีกด้วย และความกังวลประการสำคัญที่สุดคือการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปกติ

กรณีตัวอย่างที่เอกสารของ WEF อ้างถึงคือ การหยุดชะงักของบริษัท MGM Resorts International ในเดือน ก.ย.2566 จากการถูกโจมตีด้วยเทคนิค social engineering ที่ใช้เวลาเพียง 10 นาทีผ่านการโทรศัพท์ไปยัง help desk ของบริษัท นำไปสู่การหยุดชะงักของการดำเนินงานเป็นเวลา 10 วัน ส่งผลกระทบสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) ต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 

สำนักข่าวรอยเตอร์ให้รายละเอียดไว้ว่า กลุ่มแฮกเกอร์ที่ชื่อ AlphV ร่วมมือกับ Scattered Spider เจาะเข้าระบบของ MGM และขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่มาใช้บริการในช่วงก่อนเดือน มี.ค.2562 ออกไปขู่กรรโชก

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ยังคงมีช่องโหว่ให้แฮกเกอร์สามารถเจาะเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ ได้ โดยเฉพาะการใช้เทคนิค social engineering ยังคงทำให้แฮกเกอร์ประสบผลสำเร็จเสมอมา

ดังนั้น พื้นฐานที่แข็งแรงทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ควรเริ่มจากองค์กรจะต้องสร้างการตระหนักรู้แก่พนักงานทุกคน ให้ศึกษาอบรมถึงภัยไซเบอร์และแนวทางการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการมีแผนตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่แข็งแกร่ง ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบของการดำเนินงานหยุดชะงักลงได้พอสมควร

จากสถิติผลสำรวจของ WEF พบว่า สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ (วัดจากรายได้) 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกถึงอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นคืนสู่สภาพปกติ คือการป้องกันเทคโนโลยีเก่า (legacy technologies) นั่นเอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีเก่าๆ ที่ใช้อยู่ในกระบวนการทำงาน (Operational Technology : OT)

หากเทียบเคียงกับประเทศไทย เราก็มักจะพบเทคโนโลยีเก่า ฐานข้อมูลเวอร์ชันเก่าที่เก็บสินทรัพย์สำคัญทางดิจิทัลยังคงมีใช้อยู่ทั่วไป 

อาจจะเป็นเพราะการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีมีมูลค่าสูง การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานยุ่งยาก และที่สำคัญเรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า “ระบบยังทำงานได้ดีอยู่แล้ว อย่าไปยุ่งกับมัน” ซึ่งการไม่ได้ upgrade ระบบ โดยเฉพาะพวก security patches ต่างๆ จะทำให้องค์กรตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่าย

แนวทางที่ WEF นำเสนอคือ การสร้างระบบนิเวศทางไซเบอร์ที่ดีขึ้น โดยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรตั้งแต่ซัพพลายเออร์ บริษัทด้านประกันภัย ตลอดจนหน่วยงานกํากับดูแล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสําคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางไซเบอร์ที่ปลอดภัยมากขึ้น 

การต่อสู้กับภัยไซเบอร์แต่เพียงลำพัง หรือเพียงกลุ่มเล็กๆ ยากจะประสบผลสำเร็จในโลกที่มีการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายในปัจจุบัน หากดูฝั่งตรงข้ามที่ร่วมมือเป็นเครือข่าย เช่น การแชร์เครื่องมือเจาะระบบและแบ่งปันความรู้ถึงกัน หรือกระทั่งร่วมกันโจมตีแบบกรณีของ MGM นั้นเอง

ก็หวังว่าเราจะเริ่มเสริมสร้างความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพปกติ (Cyber Resilience) ให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการป้องกันภัยไซเบอร์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดอยู่แล้ว

*อ้างอิง : (2024, January 11). Global Cybersecurity Outlook 2024. World Economic Forum.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...