'ชยพล' เสียดายตัดงบ ทร.ซื้อเรือฟริเกต ชี้คุ้มค่าไม่เหมือนซื้อเรือดำน้ำ

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว Policy Wach ในหัวข้อ "รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ. โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงข้อสังเกตต่อการตัดงบประมาณจัดซื้อเรือฟริเกตโดยกองทัพเรือ (ทร.) ว่า ในงบประมาณปี 2567 นี้ กองทัพเรือได้มีการตั้งงบประมาณจำนวน 1.7 พันล้านบาท หรือ 10% ของวงเงินโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขอซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือยังไม่เคยได้สื่อสารในรายละเอียดเชิงลึกของโครงการ จนกระทั่งได้เข้ามาถึงห้องอนุกรรมาธิการงบประมาณด้านความมั่นคง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กองทัพเรือนำเอกสารมาชี้แจงถึงความจำเป็นของการจัดหาเรือในครั้งนี้

นายชยพล กล่าวว่า โดยตามการประเมินของกองทัพเรือ ได้ประเมินไว้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตทั้งหมด 8 ลำเพื่อปกป้องน่านน้ำไทย โดยแบ่งพื้นที่เป็นฝั่งอันดามัน 4 ลำและฝั่งอ่าวไทย 4 ลำ แต่ในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตใช้งานเพียง 4 ลำเท่านั้น แต่ละลำก็มีอายุถึง 29-38 ปี ยกเว้นเรือหลวงภูมิพลที่มีอายุ 5 ปี ทั้งที่เรือฟริเกตควรใช้อยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากว่ากองทัพเรือไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเรือและยืดอายุการใช้งานยาวไปจนถึง 40 ปีจึงค่อยเริ่มปลดระวาง ทำให้ประเทศไทยกำลังจะอยู่ในสถานการณ์ที่เหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง 3 ลำเท่านั้น จากความต้องการขั้นพื้นฐานในการดูแลน่านน้ำไทยทั้งหมด 8 ลำ 

นายชยพล กล่าวอีกว่า การซื้อเรือฟริเกตปกติจะใช้เวลาในการต่อเรือ 4-5 ปี ซึ่งเพียงแค่สถานการณ์ในตอนนี้ การดำเนินงานของกองทัพเรือในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลก็ยากที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และเป็นไปได้ว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณอีกครั้งอาจจะเป็นปีงบประมาณ 2569 เลย แปลว่าเราจะมีเรือฟริเกตในการป้องกันประเทศเพียง 3 ลำต่อไปถึงอีก 4 ปี เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคงอย่างยิ่ง

นายชยพล กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคงแล้ว ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการจัดหาเรือฟริเกตครั้งนี้กองทัพเรือได้ชี้แจงในห้องอนุกรรมาธิการว่ามีความตั้งใจจะให้เรือลำนี้ต่อในไทยโดยให้บริษัทต่อเรือในไทยทำสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับองค์ความรู้ในการต่อเรือครั้งนี้ไปใช้ในการต่อยอดอุตสาหกรรมภายในประเทศ จะมีการเพิ่มองค์ความรู้ในการต่อเรือ เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ พัฒนาความสามารถของอู่ต่อเรือในไทย เป็นเจ้าขององค์ความรู้เทคโนโลยีป้องกันประเทศที่สามารถต่อยอดได้ สร้างเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

"การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ไม่เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งก่อนของกองทัพเรือ เช่นการซื้อเรือดำน้ำที่เป็นการเอาเงินไปแลกเรือเปล่าๆ และไร้ซึ่งองค์ความรู้อื่นนอกจากการใช้งาน พรรคก้าวไกลจึงมองเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ถ้ากองทัพเรือทำตามที่ตัวเองวางไว้ได้ครบทั้งหมด ก็สมควรแก่การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว" นายชยพล กล่าว

นายชยพล กล่าวว่า โดยกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคก้าวไกลเองก็ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดพร้อมตั้งคำถามให้กับกองทัพเรือจนกระทั่งเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการ แต่ก็น่าเสียดายที่กรรมาธิการสัดส่วนอื่นๆ กลับไม่ได้มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน โดยเห็นว่าไม่จำเป็นไม่เร่งด่วน รอบรรจุในงบประมาณปีถัดไปได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าตั้งคำถามจริงๆ ว่าได้ฟังที่กองทัพเรือชี้แจงมาบ้างหรือไม่ ว่าไม่มีเรือฟริเกตเหลือแล้ว

เหตุผลต่อมา คือเรื่องของทีโออาร์กับ offset policy ไม่ชัด ทั้งที่กองทัพเรือได้เตรียมเอกสารมาชี้แจงเรียบร้อยแล้ว แต่น่าเสียดายที่คนที่เข้าไปศึกษาตัวเอกสารทั้งหมดมีอยู่แค่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลเท่านั้น ซึ่งก็คือตนและ ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคก้าวไกล จนกระทั่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความตั้งใจและแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทภายในไทย ทำให้ตนคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่ากรรมาธิการคนอื่นไม่ได้อ่านเอกสารเหล่านี้เลย แต่มีการตั้งธงมาแล้วว่าจะต้องมีการตัดเท่านั้น 

สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้ออกมาสื่อสารถึงข้อดีต่างๆ ของโครงการจัดหาเรือฟริเกตในครั้งนี้ ก็มีหลายคนจากฝั่งรัฐบาลออกมาให้ความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกลในทางลบ ทั้งที่ความคิดเห็นทั้งหมดที่มีต่อโครงการนี้ผ่านการศึกษาดูข้อมูลแล้ว มีการซักถามจนเข้าใจเห็นภาพใหญ่ของตัวโครงการแล้ว 

นอกจากนี้ ที่น่าสังเกตคือมีมติ ครม. วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ออกความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับตัวโครงการนี้ โดยผู้ที่ได้รับทราบประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่ ครม. ได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ลงมติอนุมัติความเห็นและให้กระทรวงกลาโหมรับความคิดเห็นไปดำเนินการต่อแล้ว 

“คือทุกคนก็เห็นด้วยหมดแล้ว ถามจริงคือได้คุยกันเองก่อนไหม ก่อนที่จะออกมาค้านที่เราสนับสนุนโครงการนี้ เพราะว่ามันก็คือ ครม. ของรัฐบาลเองไม่ใช่หรือที่สนับสนุน แล้วก็กลายเป็น สส. ของรัฐบาลเอง กลายเป็นกรรมาธิการของรัฐบาลเองที่ออกมาค้าน ผมแนะนำให้ทุกคนไปคุยกันเองก่อนดีกว่า ไม่ใช่อนุมัติมาอย่างนี้เสร็จแล้วก็มาตีตกทีหลัง จะไม่รับผิดชอบอะไร แล้วก็ปล่อยประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางและสูญเสียโอกาสทางการทางเศรษฐกิจในระดับนี้ได้” นายชยพล กล่าว

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้มีจุดยืนต่อต้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ แต่ต้องมีการซื้อยุทโธปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ความจำเป็นทางด้านความมั่นคง ที่มีหลักฐานประกอบอย่างแท้จริง นั่นคือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ตั้งเป้าในการตัดงบ พรรคก้าวไกลเพียงต้องการให้กองทัพเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ กะทัดรัด และสมเหตุสมผล สามารถทำงานทุกอย่างอย่างคุ้มค่าต่องบประมาณให้เหมาะสม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...