‘ไทย’ ประกาศแผน ‘ฮับท่องเที่ยว’ ‘สิงคโปร์’ เดินหน้าแผน ‘ฮับAI’

ความใกล้เคียงกับระหว่าง “ซอฟต์พาวเวอร์” และการเป็น “ศูนย์กลาง” หรือ “ฮับ” ก็คือการได้รับการยอมรับจากโลก “ภายนอก” มากกว่าเราบอกกันเองว่า “เรามี” หรือ “เราเป็น”

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตอกย้ำ แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศนโยบายทั้งซอฟต์พาวเวอร์ และการเป็นศูนย์กลางหลายด้านทั้งการบิน การท่องเที่ยว การเงิน ฯลฯ ตามแผนของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายไว้ในงาน “Ignite Thailand” เมื่อต้นเดือน มี.ค.แต่การจะไปสู่เป้าหมายได้ยังต้องอาศัยแผนงานที่ดี การติดตามงานที่เข้มข้น งบประมาณที่พร้อม และความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย

พูดง่ายๆคือทั้งประเทศต้องเห็นภาพเดียวกัน และมีเป้าหมายไปสู่เส้นชัยด้วยกันถึงจะสำเร็จได้

ที่จริงแล้วการประกาศเป้าหมายการเป็น “ฮับ” หลายด้านรวมทั้งฮับท่องเที่ยวนั้นไม่ได้ผิด เพราะเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศให้เป็นประโยชน์ แต่ทุกครั้งที่เราประกาศความเป็นฮับ สิ่งที่ควรจะตามมาคือแผนปฏิบัติการ หรือ Action Plan ที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นเวลาก็จะผ่านไป โดยไม่ได้เกิดความก้าวหน้าที่จับต้องได้แต่อย่างใด

เมื่อไม่นานมานี้มีประเทศหนึ่งที่มีการประกาศแผนที่จะเป็นฮับทางเศรษฐกิจเช่นกัน แต่ตั้งเป้าว่าจะเป็นฮับด้านนวัตกรรมของโลก ประเทศที่ว่านี้คือประเทศสิงคโปร์ โดยเริ่มจากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (Singapore National AI Strategy) หรือ “NAIS” เมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อน

โดยแผนนี้เป็นการเปลี่ยนมุมมองต่อ AI จาก “สิ่งที่ประเทศควรมี” มาเป็น “สิ่งที่จำเป็นของประเทศ”  หลังจากประกาศแผนนี้ไม่นาน นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็ประกาศแผนจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็นผู้นำปัญหาประดิษฐ์ในอีก 5 ปี

แผนนี้ครอบคลุมการแจกเงินให้ประชาชนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเข้าโครงการ “Skills Future” ได้รับเครดิตคนละ 4 พันดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1 แสนบาท ภายในเดือน พ.ค.นี้ ทำให้แรงงานที่เข้าสู่วัยกลางคน และทำงานมาระยะหนึ่งสามารถเข้าสู่การรีสกิล และอัพสกิลให้มีความพร้อมรับยุค AI ที่จะมาถึง เมื่อแรงงานมีทักษะ AI พร้อม อนาคตการลงทุนด้านนี้ในสิงคโปร์ก็จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

หันกลับมามองที่ประเทศไทยนั้นการเปลี่ยนผ่านทักษะแรงงานไปสู่การมีทักษะ AI นั้นยังเป็นคำถามขนาดใหญ่ว่าจะเริ่มอย่างไร และใครเป็นเจ้าภาพ แม้ข้อมูลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะมีการนำ AI มาปรับใช้ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจ AI Readiness Index ที่จัดทำโดย Cisco พบว่า มีเพียง 20% ขององค์กรในประเทศไทย ที่มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จาก AI ช่องว่างที่สำคัญ คือ ด้านบุคลากร ที่ยังไม่เปิดรับการใช้ AI เท่าที่ควร และยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI อีกมาก

ข้อเสนอจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าประเทศไทยควรส่งเสริมการอัพสกิล – รีสกิล  และสอนทักษะด้าน AI ให้แก่แรงงานในตลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่มากขึ้น รวมถึงควรมีการสนับสนุนการผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับทิศทางการเติบโตของภาคธุรกิจในอนาคต

โลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง และ AI เป็นปัจจัยหนึ่งที่แบ่งแยกแรงงานที่มีทักษะ AI กับที่ไม่มีทักษะ AI ออกจากกัน ดังนั้นไม่ว่าประเทศไทยจะประกาศแผนว่าจะเป็นฮับด้านใด ก็หนีไม่พ้นต้องเพิ่มทักษะด้านนี้ให้แรงงานในที่สุด

การอัพสกิล รีสกิลจึงต้องเริ่มได้แล้วในเวลานี้ และความจำเป็นจะมากขึ้นเนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว วัยแรงงานกำลังลดลง เราต้องเสริมอาวุธทางปัญญา (ประดิษฐ์) ให้กับแรงงานเราให้เพียงพอรอรับการเปลี่ยนแปลงของโลก 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงค่าเงิน หลังรูเปียห์ร่วงหนักในรอบปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (7 ต.ค.) ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) กำลังเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเ...

เกิดระเบิดใกล้สถานทูตอิสราเอลในเดนมาร์ก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เกิดระเบิดห่างจาก สถานทูตอิสราเอล ประจำกรุงโคเปนเฮเกนของ เดนมาร์ก ราว 500 เมต...

‘ทูตไทย-ตม.เกาหลีใต้’ ร่วมมือเข้ม ‘ลดผีน้อย’ เพิ่มแรงงานถูกกฎหมาย

กระแส “แบนเที่ยวเกาหลี” ของชาวไทยกระหึ่มโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ปลายปี 2566 เนื่องจากสำนักงานตรวจคนเข้...

รีวิว 'PICO 4 Ultra' แว่น VR/MR รุ่นใหม่สู่โลกเสมือนที่สมจริงยิ่งกว่าเดิม

ในยุคที่เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality - VR) และผสมความจริง (Mixed Reality - MR) กำลังเปลี่ยนแ...