ดีเอ็นเอขยะ เพื่อมนุษยชาติ | จตุพล พลไธสง

ดีเอ็นเอเป็นองค์ประกอบหลักที่กำหนดว่าเราจะมีรูปร่างลักษณะเช่น สีผิว สีตา หรือรูปร่างเป็นอย่างไร ดีเอ็นเอเป็นตัวกำหนดให้เราเป็นเรา ดีเอ็นเอจะได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและจะส่งผ่านไปยังลูกหลานต่อไป

การสืบทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นและการผสมผสานพันธุกรรม ทำให้มนุษย์มีลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย

 โครงสร้างของดีเอ็นเอจะประกอบด้วยหน่วยย่อยคือ นิวคลีโอไทด์ 4 ชนิด คือ Adenine (A), Thymine (T), Cytosine (C) และ Guanine (G) นิวคลีโอไทด์จะเข้าคู่กันและเรียงต่อกันเป็นเส้นสายดีเอ็นเอ

การเรียงลำดับของนิวคลีโอไทด์ทั้งสี่ชนิดนี้ ทำให้เกิดลำดับของนิวคลีโอไทด์ที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ดีเอ็นเอจึงสามารถเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตได้เป็นปริมาณมาก 

การทำงานโดยทั่วไปของดีเอ็นเอจะเริ่มจากการถอดรหัสเป็นโมเลกุลอาร์เอ็นเอ จากนั้นอาร์เอ็นเอก็จะแปลงรหัสไปเป็นกรดอะมิโนที่จะต่อกันกลายเป็นโปรตีน ถัดจากนั้นโปรตีนจะไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเซลล์หรือภายในร่างกายต่อไป 

ในกระบวนการทำงานจากดีเอ็นเอเป็นโปรตีนนั้น กรดอะมิโนหนึ่งตัวจะมาจากลำดับนิวคลีโอไทด์ที่กล่าวข้างต้นมาเรียงต่อกันสามตัว ซึ่งชุดลำดับสามตัวนี้จะมีความจำเพาะต่อกรดอะมิโนแต่ละตัว

ดังนั้น การเรียงสลับกันของนิวคลีโอไทด์จะทำให้ได้ชุดลำดับสามตัวที่หลากหลาย ส่งผลให้ได้กรดอะมิโนหรือโปรตีนมากมายหลายประเภท 

หากเปรียบเปรยเป็นบทเพลง นิวคลีโอไทด์อาจเปรียบได้กับตัวโน้ตตัวโน้ตหนึ่ง ซึ่งการเรียงสลับไปมาทำให้ได้ท่วงทำนองต่าง ๆ ของบทเพลงนั่นเอง

จากการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบลำดับดีเอ็นเอรูปแบบหนึ่ง คือ ลำดับดีเอ็นเอซ้ำ (Repeated DNA Sequences) ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบของลำดับดีเอ็นเอที่ซ้ำ ๆ กัน

เช่น ลำดับ CAGCAGCAGCAGCAG โดยลำดับดังกล่าวเป็นการซ้ำกันของลำดับดีเอ็นเอ CAG จำนวน 5 ซ้ำ เปรียบดังรูปแบบท่วงทำนองซ้ำ ๆ ที่เราพบในบทเพลง

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าลำดับดีเอ็นเอซ้ำนี้ ไม่มีหน้าที่หรือมีประโยชน์ ดีเอ็นเอกลุ่มนี้จึงเคยถูกเรียกว่า ดีเอ็นเอขยะ (Junk DNA) แต่เมื่อมีการศึกษามากขึ้น โดยใช้ทั้งเทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุล หรือชีวสารสนเทศศาสตร์

ศาสตร์ใหม่ที่ใช้ศาสตร์ทางด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยาที่ปัจจุบันมีข้อมูลในปริมาณมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ลำดับดีเอ็นเอซ้ำนี้ มีประโยชน์และหน้าที่ ไม่ได้เป็นดีเอ็นเอขยะแต่อย่างใด 

จากการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์พบว่า ดีเอ็นเอของมนุษย์ประกอบด้วยดีเอ็นเอซ้ำในปริมาณมาก โดยพบในปริมาณร้อยละ 70 ของดีเอ็นเอทั้งหมด

ซึ่งหากดีเอ็นเอเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์และหน้าที่อะไร น่าจะถูกกำจัดออกไปในระหว่างเราวิวัฒนาการมา หลังจากเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับดีเอ็นเอซ้ำ มีการนำดีเอ็นเอกลุ่มนี้มาใช้ประโยชน์ในหลายแง่มุม

ตัวอย่างหนึ่งคือการนำมาใช้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากดีเอ็นเอซ้ำบางบริเวณสามารถนำมาใช้พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้

ดีเอ็นเอซ้ำอาจมีจำนวนซ้ำที่ไม่เท่ากัน เมื่อนำดีเอ็นเอซ้ำหลาย ๆ บริเวณมาวิเคราะห์จะได้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint) ซึ่งจะแตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล ซึ่งนำไปใช้พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ และยังสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้ เนื่องจากเราได้ดีเอ็นเอซ้ำนี้มาจากพ่อและแม่หรือบรรพบุรุษของเรา 

นอกจากการใช้ทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าดีเอ็นเอซ้ำบางบริเวณเป็นสาเหตุของโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบประสาท

เช่น โรคฮันติงตัน (Huntington's Disease) ที่ส่งผลให้เซลล์ประสาทสมองเสื่อมสภาพ ทำให้การใช้ความคิด การเคลื่อนไหวของร่างกายค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ

และยังค้นพบว่า ดีเอ็นเอซ้ำนี้ยังมีส่วนช่วยให้สิ่งมีชีวิตเกิดวิวัฒนาการขึ้น ช่วยให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดอยู่รอดได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการค้นพบว่าดีเอ็นเอซ้ำมีส่วนในการควบคุมการทำงานของดีเอ็นเอส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นต่อการควบคุมการทำงาน การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

 เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองนำดีเอ็นเอซ้ำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดในหลอดทดลอง ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นคุณลักษณะบางประการของเซลล์มะเร็งปอดที่เปลี่ยนแปลงไป

การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าดีเอ็นเอซ้ำอาจจะนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งในอนาคตได้ แต่ยังคงต้องมีการศึกษาทดลองเพิ่มเติมต่อไป

ดีเอ็นเอที่เคยถูกมองว่าเป็นขยะ จึงกลับเป็นดีเอ็นเอที่จุดความหวังการเยียวยามนุษยชาติที่ท้าทายการค้นหาที่ไม่สิ้นสุดต่อไป.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...