จักรวาล ไม่ได้อยู่แค่ปากซอย! บทเรียน ‘แอน จักรพงษ์’ ลงทุนผิด?

Key Points:

  • องค์กรมิสยูนิเวิร์สเปลี่ยนมือ! จากนักธุรกิจข้ามเพศพันล้าน "แอน จักรพงษ์" สู่อภิมหาทุน "เม็กซิโก"
  • เมื่อเส้นทางธุรกิจระดับโลก และการปฏิรูปจักรวาล ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ 
  • บทเรียนความเจ็บปวดและผิดหวัง เมื่อมงไม่ลงนางงามในดวงใจ แฟนนางงามฟันธง เป็นความผิดพลาดโอกาสต่อยอด ทำเงินสร้างรายได้อู้ฟู่
  • วิกฤติหุ้นกู้ สภาพคล่อง "เจเคเอ็น" สู่การหาทางออกครั้งใหม่ กอบกู้กิจการไหวแค่ไหน 
  • ฝันปั้นสินค้าจักรวาล แต่ภาพลักษณ์แบรนด์ การตลาดไม่ปัง 

 

กระแสข่าวใหญ่ในแวดวงนางงามจักรวาลที่ต้องจับตานาทีนี้คือ “การเปลี่ยนมือ” องค์กรมิสยูนิเวิร์ส จากเจ้าของคนไทยอย่าง “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ไปอยู่ในมือของ “ราอูล โรชา” ผู้ครองอาณาจักร Legacy Holding Group ทุนใหญ่ในประเทศเม็กซิโก ที่มีกิจการหลากหลายทั้งพลังงาน สายการบิน อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ การตลาด บันเทิง และอีกมากมายในพอร์ตโฟลิโอ

 

แวดวงนางงาม ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งออฟฟิศมิสยูนิเวิร์ส ที่ประเทศเม็กซิโกมีความเอาจริงเอาจังอย่างมาก

  • ย้อนเส้นทางจักรวาล “จักรพงษ์”

เดือนตุลาคม ปี 2565 “แอน จักรพงษ์” แม่ทัพใหญ่ เจเคเอ็นฯ ได้สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการนางงาม เมื่อคิดการใหญ่ เข้าซื้อกิจการองค์กรมิสยูนิเวิร์ส หรือ Miss Universe Organization (MUO) ผู้จัดการประกวดนางงามจักรวาลหรือ Miss Universe ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 800 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้ประกาศกร้าวว่า เมื่อครอบครองกิจการประกวดนางงามใหญ่สุดของโลก จะทำการ “ปฏิรูปจักรวาล” เสียใหม่ และวาดแผนธุรกิจสวยหรู ต่อยอดความยิ่งใหญ่ ใช้สื่อเจเคเอ็น สร้างการเติบโต การปั้นสินค้าจักรวาล เช่น น้ำดื่ม น้ำแร่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มองโอกาส “ท่องเที่ยว” ประเทศต่างๆเพื่อทำเงิน รวมถึงการทำเงินจาก “ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส” ไปเกือบทั่วโลกให้แฟนๆรับชม เป็นต้น

รายได้ที่ตั้งเป้าไว้ไม่น้อย เพราะระดับ 800-1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ทว่า เหมือนฝันกำลังจะสลาย! เพราะเส้นทางการทำธุรกิจในจักรวาลไม่ง่าย เนื่องจาก “แอน จักรพงษ์” ต้องเจอมรสุมรอบด้าน โดยทันทีซื้อกิจการเข้าพอร์ตโฟลิโอ ก็กระเทือนงบการเงิน และต้องดำเนินการ “เพิ่มทุน” ทั้งที่ตอนซื้อกิจการนั้น แม่ทัพใหญ่ยืนยันจะใช้ “กระแสเงินสด” ที่มี โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินแต่อย่างใด

  • เพราะจักรวาลไม่ใช่แค่ปากซอย!

การขับเคลื่อนธุรกิจ แม่ทัพองค์กร นักลงทุน นอกจากมี Passion มี Vision หรือวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ กลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโต จะเห็นว่าการตั้งเป้าหมายใหญ่อย่างทะเยอทะยานจะไปให้ถึงให้ได้ และแม้ไม่ถึงไม่เป็นไร ยังเริ่มใหม่ได้เสมอ หรือเทียบให้เห็นภาพ ต้องหยิบวรรคทอง “จงตั้งเป้าหมายไว้ที่ดวงจันทร์ เพราะแม้จะไปไม่ถึง คุณก็ยังอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว”

แต่ว่า..จักรวาล ไม่ได้อยู่แค่ปากซอย เพราะองค์กรระดับโลก เป็นตำนานวงการขาอ่อน การประกวดนางงามที่คนทั้งโลกรอคอยได้ ย่อมมี “คัมภีร์ความสำเร็จซ่อนอยู่”

สำหรับองค์กรมิสยูนิเวิร์ส หรือ MUO เป็นองค์กรระดับโลกที่มีประวัติความยิ่งใหญ่มายาวนานกว่า 71 ปี และการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สแต่ละครั้ง จะมีแฟนๆนางงามเฝ้าหน้าจอกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก เพื่อเชียร์ตัวแทนของประเทศ หรือนางงามที่เข้าตา ถูกจริตตนเอง นอกจากนี้ มีประเทศมากมายที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์การจัดการประกวดนางงามจักรวาล และส่งนางงามเข้าประกวดมากกว่า 94 ประเทศ เรียกว่าสมมงมาก

เมื่อ “แอน จักรพงษ์” เข้าซื้อกิจการ MUO จะประกอบด้วย 5 บริษัท ได้แก่ 1.IMG Universe, LLC. 2.IMG Universe FranchCo, LLC. 3.Miss USA BR Production LLC. 4.MUO Productions, LLC. และ5. Miss USA Productions OH, LLC.

Cr.IG : porxild

  • เมื่อ “แอนโท” มงไม่ลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกวดนางงามจักรวาล แม้จะเฟ้นหาคนสวย สมาร์ท ฉลาดรอบด้าน อีกคุณสมบัติมากมายเพื่อคว้ามงกุฏมิสยูนิเวิร์ส และไปทำหน้าที่ของนางงามตลอดปีที่ได้รับตำแหน่ง มิติการ “ทำเงิน” ให้กับองค์กรก็สำคัญ

การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2023 แน่นอนว่าตัวแทนประเทศไทยอย่าง “แอนโทเนีย โพซิ้ว” เป็นที่สุดแห่งความหวังในรอบทศวรรษ ที่จะคว้ามงกุฏที่ 3 ให้กับประเทศไทย ทว่า สุดท้ายการประกาศผล “แอนโท” ได้เพียงรองอันดับ 1 ซึ่งกลับมายังประเทศไทย ได้การต้อนรับจากแฟนๆนางงามแบบฉ่ำๆ พร้อมทั้งเดินสายออกอีเวนท์อย่างคึกคัก

ขณะที่มิสยูนิเวิร์สปี 2023 คือ “เชย์นิส ปาลาซิโอส” (Sheynnis Palacios)สาวจากเมืองมานากัว ประเทศนิการากัวคว้ามงกุฏไปครอง

แน่นอน มุมของแฟนนางงาม มีความเห็นที่หลากหลาย ด้านความสวยก็ว่ากันไป แต่มิติทางธุรกิจ การหารายได้ หลายคนมองว่า “พลาด” จนมีแฟนคลับนางงามจำนวนมากวิเคราะห์เป็นฉากๆ ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ฯ ซึ่งไม่ทันแล้ว เพราะผลการตัดสินสิ้นสุดลงเรียบร้อยแล้ว โดยหนึ่งโจทย์ยากการหารายได้ คงหนีไม่พ้นการเมือง ที่ตัวเธอเองและครอบครัวเห็นต่าง “ต้าน” รัฐและผู้นำเผด็จการ เรียกว่าสั่นสะเทือนจักรวาล

สำหรับนางงามจักรวาล ทำเงินให้องค์กรได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์การประกวด การเดินสายออกอีเวนท์ โชว์ตัวต่างๆ การต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ ฯ เป็นต้น

เชย์นิส ปาลาซิโอส มิสยูนิเวิร์ส 2023

อย่างไรก็ตาม เวทีนางงามระดับโลกมาอยู่ในอาณาจักรข้ามเพศพันล้าน “แอน จักรพงษ์” ได้ต่อยอดแจ้งเกิดแบรนด์สินค้าตัวแรก ในกลุ่มเครื่องดื่ม ทั้ง “เอ็มยู นอร์” น้ำด่างจากไอซ์แลนด์มาเจาะตลาดเมืองไทย และเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลที่วาดเป้าใหญ่สู่ตลาดโลก พร้อมงัดกลยุทธ์ 3Ps จาก “Pageant” หรือเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส สู่การสร้าง Platform และทรานส์ฟอร์ม Product นั่นเอง

  • บทเรียนใครเจ็บปวด?

“แอน จักรพงษ์” อยู่บนเส้นทางธุรกิจหลักคือ “คอนเทนต์” มานาน 25 ปี สร้างการเติบโตจน “มั่งคั่ง” และนิยามตนเองเป็นนักธุรกิจ “ข้ามเพศพันล้าน” ทว่า ปี 2566 บริษัทเผชิญมรสุมลูกใหญ่ จากการผิดนัดชำระหุ้นกู้ก้อนโต และพยายามหาทางออก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการประกาศ “หาพันธมิตร” มาช่วยกอบกู้วิกฤติ

ปัจจุบัน อาณาจักร “เจเคเอ็น” ของแอน จักรพงษ์ ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายไปแล้ว หลังมีปัญหา “สภาพคล่อง” เป็นเวลาหลายเดือน

เพราะทุกการลงทุน ล้วนมีความเสี่ยง หากมอง “บทเรียน” ที่เกิดขึ้นกับ “แอน จักรพงษ์”

และบริษัท เจเคเอ็น ฯ ใครเจ็บปวดบ้าง คงพอนับได้ ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน เจ้าของเงินหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ต่างมีความหวัง อยากเห็นธุรกิจเติบโต ต่อยอดทำเงินจากการลงทุนต่างๆ ของบริษัท แม้กระทั่ง “แฟนนางงาม” ก็เจ็บปวด กับการที่เวทีนางงามระดับโลก มี “คนไทยเป็นเจ้าของ” แต่มงไม่ลงที่ตัวแทนประเทศไทย เป็นต้น

เครื่องดื่มจักรวาล น้ำแร่อัลคาไลน์ M*U NØR 

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ก้าวที่พลาดในการลงทุนของ “แอน จักรพงษ์” ไม่ใช่การซื้อกิจการองค์กรมิสยูนิเวิร์ส ทว่า เป็นการ “ต่อยอด” ศักยภาพของสินทรัพย์ที่มีไม่เกิดความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์น้ำด่าง เครื่องดื่มฟังก์ชันนอล ฯ 2 หมวดนี้อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มูลค่า “หลายแสนล้านบาท” ก็จริง แต่เมื่อเจาะลึกใน 2 หมวดขนาดตลาดไม่ใหญ่มาก และ “คู่แข่ง” จำนวนมาก ทุนหนา

การสร้างแบรนด์ และการตลาด ถูกมอง “องค์กรระดับโลก” แต่สินค้ามีความเป็นท้องถิ่น Local ไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ นอกจากนี้ การซื้อกิจการในยุคที่ “ต้นทุนพุ่ง” ทิศทาง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” หากบริหารการเงินไม่ดี ย่อมส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้น ที่สำคัญทุกธุรกิจล้วนมี “แกน” หรือ Core Business ในการขยับขยายอาณาจักร ต้องมองการ “ซีนเนอร์ยี” สร้างการเติบโต ที่ยุคนี้ไม่ใช่ 1+1 เป็น 2 แต่ต้องมากกว่านั้น!

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ หากการขายกิจการ MUO ออกไปครั้งนี้ ธุรกิจของเจเคเอ็น ยังไปต่อไหวหรือไม่ติดตาม

อ่านเพิ่มเติม

ย้อนเรื่องราว แก้วิกฤติ "แอน จักรพงษ์"

โจทย์หาเงินต่อยอดจาก "จักรวาล" สู่ "จักรวาล"

"แอน จักรพงษ์" เทขายหุ้น ก่อนเพิ่มทุน

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ฮิซบอลเลาะห์ระส่ำวันที่ 2 ว.ระเบิด ดับ 20 ราย l World in Brief

เลบานอนระเบิดอีก รอบนี้เป็น ว.ฮิซบอลเลาะห์ วิทยุมือถือที่กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ใช้ ระเบิดทั่วภาคใ...

AI Governance ก้าวแรกที่อย่ามองข้ามสำหรับทุกองค์กร

ในขณะที่แต่ละองค์กรกำลังตื่นตัวกับการวางแผนหรือเริ่มประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับกระบวนการแล...

ภาคอีสานครึ่งแรกซัพพลาย5หมื่นล้านโคราชขายบ้านสูงสุดขอนแก่นคอนโดขายดี

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(RE...

ด่วน! เฟดลดดอกเบี้ย 0.5% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตลาดหุ้นสหรัฐเด้งรับก่อนปิดลบ!

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เมื่อวันพุธที่ 18 ก.ย. 2567 ถือเป็นการเริ่...