‘ซัมซุง’ ส่งฟีเจอร์ ‘Auto Blocker’ บล็อกแอปเถื่อน - กันภัยโจรไซเบอร์

การโจรกรรมทางไซเบอร์นับเป็นวาระระดับชาติและภัยอันตรายใกล้ตัวที่สร้างความสูญเสียทางทรัพย์สิน รวมไปถึงการใช้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในทางที่ผิดกฎหมาย

ไชยวัฒน์ อุดมศรีรุ่งเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงได้เสริมเกราะเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันประชาชนจากอันตรายบนโลกไซเบอร์ พร้อมช่วยตำรวจตัดตอนมิจฉาชีพ ยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ใช้ซัมซุงกาแล็คซี่ ด้วยนวัตกรรมใหม่ฟีเจอร์ “Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ)” 

ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีได้มีการพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปิดตัว ONE UI 6.0 ที่มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยของสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต

การเปิดตัวฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ “Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ)” จะช่วยเสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ประชาชน ตอบโจทย์ยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้นใช้เก็บข้อมูลส่วนตัวรวมถึงใช้ทำธุรกรรมออนไลน์เป็นประจำ

Auto Blocker สร้างมาเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์แบบอัตโนมัติสำหรับผู้ใช้งานกาแล็คซี่ โดยเฉพาะการโจรกรรมประเภท Side loading ซึ่งเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันจากแหล่งดาวน์โหลดอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้อนคำสั่งเจาะเข้าเครื่อง ผ่านรูปแบบต่างๆ

อาทิ SMS ที่มาพร้อมกับลิงก์หรือแอปพลิเคชันแชทต่างๆ และการดาวน์โหลดแอปที่ไม่ได้มาจาก Play store หรือ Galaxy store ซึ่งอาจมีมัลแวร์แฝงมาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น App protection การตรวจสอบความปลอดภัยของแอปที่อาจเป็นมัลแวร์ก่อนติดตั้งและตรวจสอบอัตโนมัติรายวันหลังติดตั้ง รวมถึงป้องกันการใช้คำสั่งที่อันตรายหรือติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่านสาย USB เพื่อปกป้องผู้ใช้ในสถานการณ์ที่มีผู้อื่นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์โดยตรง เช่น การชาร์จโทรศัพท์ที่สนามบิน หรือ การใช้ USB ในการย้ายไฟล์งานข้ามอุปกรณ์ฯลฯ 

เสียหายนับ 2 หมื่นล้านบาท

พลตำรวจตรี ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์สร้างความสูญเสียมหาศาลให้กับประชาชน และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

สถิติของการโจมตีในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมที่เกิดขึ้นสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทจาก 185,814 คดี และมีจำนวนเคสเฉลี่ยต่อวันประมาณ 700 - 800 เคส

สำหรับกลวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ พันตำรวจเอกเจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฟิชชิง การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว, การ Scam call ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

ขณะที่อีกหนึ่งกรณีอันตรายที่หลายๆ ครั้งแฝงมาในแบบที่เราไม่ทันรู้ตัวก็คือประเภทที่เรียกว่า Side loading การโหลดแอปที่ไม่ได้รับการอนุมัติ และอาจแฝงมัลแวร์หรือไวรัส ที่มักมาพร้อมกับไฟล์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ อีเมล หรืออุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์

โดยเมื่อทำการติดตั้งก็จะทำให้มิจฉาชีพสามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้ ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น การกดลิงก์ SMS หรือการติดตั้งแอปฟรี แอปเถื่อนต่างๆ ซึ่งนับวันการโจมตีเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนารูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นไปเป็นลำดับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...