‘รีเล็กซ์โซลูชันส์’ ส่งเอไอ หนุนธุรกิจค้าปลีก ลดขยะส่วนเกินทั้งซัพพลายเชน

1 ใน 3 ของอาหารสดจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะ ในทางกลับกันมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีอาหารจะกินจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาหารที่เหลือทิ้งเท่ากับโยนเงินทิ้ง ขยะอาหารเหล่านี้เกิดมาจากกระบวนการในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การขนส่ง การกักเก็บ-แช่เย็น และการปรุงอาหาร ตลอดจนการสต็อกสินค้าที่ไม่มีการวางแผน ส่งผลให้มีสินค้าค้างสต็อกและกลายเป็นขยะจำนวนมาก

รีเล็กซ์ โซลูชันส์ (RELEX Solutions) บริษัทซอฟต์แวร์จากฟินแลนด์พัฒนาเอไอจัดการกับสินค้า ซึ่งสามารถช่วยลดขยะอาหารทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีกหรือร้านอาหาร ในปี 2566 สามารถลดปัญหาขยะอาหารได้ 10-40% 

รีเล็กซ์เข้ามาทำการตลาดกับประเทศไทย มีกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เป็นลูกค้าสองรายแรก

เอไอกับการลดขยะ

สวานเต เกอเธ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัท รีเล็กซ์ โซลูชันส์ กล่าวว่า ปัญหาขยะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ฝั่งของผู้บริโภคจะต้องวางแผนการก่อนซื้อสินค้า เช็กของที่มีที่บ้านก่อนซื้อ ไม่ซื้อมากกว่าที่จำเป็น รวมถึงกระแสคนรักสุขภาพ และชอบของสด ก็เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาขยะเนื่องจากสินค้าสดเน่าเสียได้ง่าย

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่คำนวณและคาดการณ์อย่างถูกต้องสำหรับการสต็อกสินค้าแต่ละประเภทในร้านค้า เพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสินค้าคงคลัง สินค้าหน้าร้าน และอยู่ในจำนวนที่พอดีไม่ให้เกิดของเสีย

ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ รีเล็กซ์ โซลูชันส์ ส่งผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำหรับกลุ่มค้าปลีก บริษัทค้าส่งและโรงงาน เพื่อวางแผนซัพพลายเชนรวมถึงคาดการณ์ความต้องการสินค้า เพื่อหาจุดเหมาะสมสำหรับสินค้าในการวางจำหน่ายบนชั้น

“รีเล็กซ์ โซลูชันส์ ไม่มีเอไอที่สร้างเฉพาะสำหรับปัญหาขยะอาหาร แต่โซลูชันของเราซึ่งมีบริษัทหลายร้อยแห่งทั่วโลกใช้ สามารถช่วยให้ลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการวางแผนซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ราคา โปรโมชัน และข้อมูลสภาพอากาศ ให้เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาค"

การทำงานของเอไอจะใช้ข้อมูลธุรกรรม (การขาย การขนส่ง ฯลฯ) และข้อมูลหลัก (ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลซัพพลายเออร์ ฯลฯ) เพื่อเริ่มการคำนวณการคาดการณ์ สินค้าคงคลังขั้นต่ำ และข้อเสนอการสั่งซื้อ

โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่อมีเอไอคอยวางแผนจะช่วยลดสต็อกและลดของเสียจากอาหารส่วนเกิน โดยในปี 2566 นี้ รีเล็กซ์สามารถลดปัญหาขยะอาหารได้ 10-40% ในลูกค้ากลุ่มค้าปลีกที่มีอาหารและของสด ซึ่งคิดเป็น 11 ล้านกิโลกรัมทั่วโลก

“เราต้องสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ผู้คน โดยตัวเขาเองมักจะสอนลูกสาว 7 ขวบในเรื่องนี้ โดยบอกว่า ถ้านำขยะอาหารที่เหลือมาวางเรียง 1 คน ต่อ 1 เมตร สามารถต่อขยะอาหารได้สูงขึ้นไปได้ถึงพระจันทร์เลยทีเดียว ดังนั้น การจัดการกับขยะส่วนเกินจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ควรทำอย่างจริงจัง”

การตลาดในไทย

บริษัทมีสำนักงานทั่วโลกใน 21 ประเทศ พนักงาน 1,800 คน ปัจจัยที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ปีละ 50% คือ เทคโนโลยี เป็นผลมาจากการทุ่มเทงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทำให้แพลตฟอร์มของรีเล็กซ์ โซลูชันส์ เป็นโซลูชันครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในระบบซัพพลายเชนสำหรับธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง อาหารและเครื่องดื่ม อีคอมเมิร์ซ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี และอื่น ๆ

บริษัทใช้เงิน 25% ของรายได้ในแต่ละปีทุ่มลงในงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของงบลงทุนด้าน R&D ของตลาดที่อยู่ที่ 10-15% ทำให้มีแพลตฟอร์มที่ครบและฉลาดที่จะช่วยให้ลูกค้าแข่งขันและเติบโตได้

ตัวอย่างองค์กรใหญ่ที่เป็นลูกค้าของรีเล็กซ์ เช่น LIDL, Morrisons, EDEKA และ SPAR ส่วนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เป็นกลุ่มลูกค้ารายแรกที่นำเทคโนโลยีมาวางแผนผังออกแบบพื้นที่สาขา และระบบจัดวางสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณการขาย 

สวานเต มองว่าการค้าปลีกในไทยจะเติบโตขึ้นอย่างมาก และต่างมองหาเทคโนโลยีและวิธีลงทุนให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มุ่งเน้นถึงความยั่งยืน ดังนั้น ผู้ค้าในไทยจะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับบริษัทค้าปลีกในไทย

ความผันผวนทางเศรษฐกิจ

ด้าน พอล สตีเฟ่น ฮาวเว่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานเทคโนโลยี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยน โลกที่ร้อนขึ้น มลพิษที่มากขึ้น ความผันผวนทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายของกลุ่มธุรกิจที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ไม่กระทบต่อลูกค้า และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ธุรกิจต่างต่างๆ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่กดดัน ทำให้ลูกค้าและพาร์ทเนอร์ต้องรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย เอไอจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยจัดการกระแสเงินหมุนเวียนเพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้นได้อย่างแท้จริง

“การขยายความร่วมมือกับรีเล็กซ์ในครั้งนี้ตอบโจทย์ทุกมิติที่กล่าวไปข้างต้น โดยจะช่วยเสริมประสิทธิภาพเติมสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณการขาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การลดการจัดเก็บสินค้าคงคลัง และสร้างโอกาสในการขายได้มากขึ้น"

เอไอของรีเล็กซ์ สามารถคาดการณ์ได้ว่า โปรโมชันใดให้ผลดีและทำกำไรได้ เพื่อให้บริษัทค้าปลีกมีสินค้าพร้อมจำหน่ายและให้บริการแก่ลูกค้าได้ในราคาที่เหมาะสม เมื่อเกิดความเหมาะสม ปริมาณขยะส่วนเกินก็จะลดน้อยลง จึงมองว่านี่เป็นโซลูชันที่สร้างประโยชน์แก่ระบบนิเวศและคนทำธุรกิจอย่างมาก

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...