ไล่ล่า ‘แป้ง นาโหนด’ ปลุกอดีต ‘ภูบรรทัด’ เมืองหลวงคอมฯใต้

ยุทธการไล่ล่า เชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” ที่หลบหนีออกจากการควบคุมตัวใน รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช ที่มีข้อมูลว่า ได้หลบซ่อนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (ตรัง พัทลุง และสตูล) ผ่านมาแล้ว 9 วัน ยังจับตัวไม่ได้
 แม้จะมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสนธิกำลังกันหลายหน่วย เพื่อติดตามไล่ล่าเสี่ยแป้ง ก็ยังไร้ผล จนต้องขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้

ระหว่างการปิดป่าปิดเขาตามล่าเสี่ยแป้ง ได้มี “เรื่องเล่า” มาก มายเป็นสีสันของข่าวสาร รวมถึงตำนาน “บ้านตระ” แห่งเทือกเขาบรรทัด

จะว่าไปแล้ว ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยชีวิต พร้อมอาวุธครบมือ มี ฮ.บินวนหลายลำ เสียงดังสนั่นลั่นป่า ทำให้ชาวบ้านแถวนั้น นึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 30-40 กว่าปีที่แล้ว

บ้านตระ บนเทือกเขาบรรทัด หรือภูบรรทัด ในอดีต ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อครั้งเปลวไฟสงครามประชาชนลุกโชนทั่วภาคใต้
 

ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ภาคใต้ ได้ประกาศให้บ้านตระ บนภูบรรทัด เป็น “เมืองหลวงคอมมิวนิสต์ภาคใต้”

จากข้อมูลเอกสารรายงานการศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อน กรณีบ้านตระ โดย ทีมวิจัยชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า บ้านตระ เป็นชุมชนเก่าแก่มากว่า 300 ปี เป็นเส้นทางการค้าโบราณในยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง เดิมมีชื่อเรียกว่า “บ้านสระ” และ “ในตระ” มีผู้ปกครองคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองปะเหลียน 

 ปี 2457 บ้านตระ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ มูสา การะนิล มีชาว บ้านประมาณ 100 ครัวเรือน นับถือศาสนาอิสลาม การปกครอง จึงได้นำหลักการของศาสนามาใช้ในการปกครองด้วย

บ้านตระ ในยุคหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและสาธารณสุข มีการอพยพหนีโรคระบาด จนเหลือ 12 ครัวเรือนเมื่อปี 2513

 “บ้านตระ มีลักษณะเป็นที่ราบบนภูเขาสูงและเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาบรรทัด ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 300 ฟุต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่ง กำเนิดต้นน้ำ ลำธาร และเป็นแหล่งน้ำตกที่สวยงามในตำนานเทือกเขาบรรทัด” (หนังสือ บนเส้นทางภูบรรทัด ตำนานการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน)

 ปี 2514 พคท.ภาคใต้ ได้ส่งสหายชุดหนึ่งมาบุกเบิกเขตงานใหม่ และจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง และสตูล

“ในช่วงที่การปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูง ฝ่ายนำตัดสินใจย้ายศูนย์การนำของภาคใต้ มาสร้าง ‘เมืองหลวงของภาค’ โดยใช้เวลาเดินทัพทางไกลประมาณ 45 วัน มาตั้งสำนักงานลับๆที่ในตระหรือบ้านตระ ระหว่างปี 2521-2523 เรียกว่าค่าย 842 ซึ่งเวลานั้น มีการทดลองตั้งสถานีวิทยุ และทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำตก....”

 ผลสะเทือนจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 มีนักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท.ภาคใต้ โดยเฉพาะบนเทือกเขาบรรทัด กลายเป็นแหล่งชุมทางนักคิด-นักเขียน

ผลงานของนักศึกษาปัญญาชน ในเขตบ้านตระ ที่ได้รับการโจษขานทั่วภาคใต้คือ นสพ.ตะวันแดง ที่มีเนื้อหาข่าวสารการเมืองและศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้เป็นหลัก 

 กองบรรณาธิการ นสพ.ตะวันแดง เป็นผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาหลายคน และที่มิตรสหายได้พูดถึงอยู่บ่อยๆคือ สหายประยูร หรือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2519

 สหายประยูร หรือ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตระ 2 ปี ก็เดินทางขึ้นไปอยู่ที่ภูพยัคฆ์ เขตที่มั่นน่านเหนือ

ผู้เขียนหนังสือภูบรรทัด ได้สรุปไว้ว่า เทือกเขาบรรทัด ไม่ได้มีความหมายทางภูมิศาสตร์หรือนิเวศวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สร้างตำนานของบ้านเมืองมากมาย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการปกครอง

 “เขาบรรทัด เป็นที่ให้โอกาสแก่ผู้คนในการหักร้างถางพง ทำไร่ ทำสวน ทำนา จับสัตว์ป่ามาเลี้ยงและขาย ขณะเดียวกันกันก็ยังมีความหมายในแง่ของความมั่นคง และอิสรภาพให้แก่บรรดาผู้เป็นโจร และผู้ถูกทางการข่มเหงได้เล็ดลอดหลบซ่อนเจ้านาย และตั้งชุมโจรในอดีต รวมทั้งเป็นที่พึ่งแก่ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินรัชชูปการ ให้แก่รัฐส่วนกลางได้ในอดีตด้วย”

ทุกวันนี้ คนใต้รุ่นหลังในรอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง และสตูล ยังไม่ลืมตำนานการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชน ที่ธงปฏิวัติโบกสะบัดเหนือภูบรรทัด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...