GIT อัปเดตโครงการ “เอไอ” ระบุแหล่งกำเนิดอัญมณีโลก

อีกก้าวสำคัญของ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ในการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์อัญมณีของห้องปฏิบัติการของประเทศไทย และยกระดับความเชื่อมั่นการซื้อขายอัญมณีผ่านใบรับรอง ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การระบุที่มาหรือแหล่งกำเนิดอัญมณีต้องใช้ข้อมูลทั้งองค์ประกอบทางเคมี และลักษณะทางสเปกโทรสโกปี ที่ได้จากการวิเคราะห์ของเครื่องมือขั้นสูงมาประกอบการพิจารณา ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากและมีความซับซ้อนในการวิเคราะห์

ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัย GIT จึงนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  AI มาช่วยให้สามารถระบุ แหล่งที่มา หรือ แหล่งกำเนิด ได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นในการออกใบรับรองอัญมณี

ปี 66 ขยับสู่ “แฟนซีแซปไฟร์”

GIT พัฒนาระบบบ่งชี้แหล่งกำเนิดอัญมณีตั้งแต่ปี 2563 ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อเริ่มต้นจัดทำระบบฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดพลอยทับทิม ซึ่งเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมในตลาดและมีมูลค่าสูง

ถัดมาปี 2564-2565 ได้รับสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พลอยไพลินและพลอยมรกต ตามลำดับ

มณฑิรา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา นักวิจัย GIT กล่าวว่า ปี 2566 โครงการวิจัยดำเนินการกับกลุ่มแฟนซีแซปไฟร์ที่มีมูลค่าและดีมานด์สูง 3 ประเภท คือ พัดพารัดชา (Padparadscha) แหล่งกำเนิดจากศรีลังกา มีโทนสีผสมระหว่างส้มกับชมพูซึ่งหาได้ยาก

ส่วนอัญมณีอีกสองประเภทคือ บุษราคัม และ pink sapphire ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบโมเดลที่พัฒนาขึ้นมาว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง

ในการพัฒนาระบบมีอยู่ 7 ขั้นตอน เริ่มจาก 1.การรวบรวมข้อมูล 2.การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาธาตุเคมีหรือ “ธาตุร่องรอย” ในชิ้นงาน ซึ่งเปรียบเสมือน “ลายนิ้วมือทางธรณีเคมี” หรือที่เรียกว่า “เอกลักษณ์เฉพาะของธาตุร่องรอยในพลอยแต่ละแหล่งกำเนิด” 

3.การเลือกอัลกอริธึมที่เหมาะสมจะใช้ในโปรแกรม 4.การทำฟีเจอร์ที่สั่งให้อัลกอริธึมหาความสัมพันธ์ของธาตุเคมี ส่วนขั้นตอนที่เหลือเป็นการออกแบบและทดสอบประสิทธิภาพของโมเดล นำไปสู่การสรุปผล

"แฟนซีแซปไฟร์ถือเป็นน้องใหม่ในวงการแมชชีนเลิร์นนิง เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปีนี้ ดาต้าเบสจึงยังน้อยอยู่ ทำให้การใช้ AI ยังมีความแม่นยำน้อย เมื่อเทียบกับไพลินและทับทิม ซึ่งมีความคืบหน้ามากที่สุด

แต่ก็ยังต้องเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูลอยู่ตลอด เพราะดาต้าเบสยิ่งมากความถูกต้องแม่นยำก็จะมากตามไปด้วย”

สำหรับเทรนด์ปี 2567 พบว่า พลอยเนื้ออ่อน “สปิเนล” (Spinel) สีแดงและสีน้ำเงินคล้ายทับทิมและไพลิน กำลังเป็นที่นิยมในตลาดและมีราคาสูง เริ่มมีความต้องการให้ตรวจสอบแหล่งกำเนิด

มณฑิรา กล่าวถึงความสำคัญในการระบุแหล่งกำเนิดอัญมณีว่า นอกจากใช้กำหนดราคาซื้อขายแล้ว ยังใช้ด้านการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการทำเหมืองอย่างมีธรรมาภิบาล เชื่อมโยงกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานและความรับผิดชอบต่อสังคม (ESG) แสดงถึงความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และห่วงโซ่อุปทานที่เป็นธรรม

งานวิจัยต้องทำต่อเนื่อง

ชเนนทร์กันต์ จักรวาลวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบอัญมณี GIT, หัวหน้าโครงการวิจัย “ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (AI)” กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ตัวอย่างอัญมณีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลบรรจุลงในฐานข้อมูล

ตัวอย่างดังกล่าวต้องได้มาจากแหล่งกำเนิดนั้น ๆ จริง จึงจะทำให้ฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์

ในส่วนห้องปฏิบัติการอัญมณีระดับโลกจะจัดตั้งทีม พร้อมเงินสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งกำเนิดอัญมณีที่สำคัญทั่วโลก พร้อมมีงบประมาณจัดซื้อตัวอย่างอัญมณีที่เพียงพอเหมาะสมในการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการออกใบรับรองอัญมณี

ขณะเดียวกันยังมีการค้นพบแหล่งกำเนิดใหม่ ที่ต้องจัดหาตัวอย่างอัญมณีและจัดทำฐานข้อมูลให้ทันกับตลาดการค้าโลกในปัจจุบัน

ดังนั้น การทำวิจัยที่ต่อเนื่องและงบประมาณที่เพียงพอในการจัดหาตัวอย่างและการพัฒนาโปรแกรมและฐานข้อมูล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก สามารถช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้อย่างยั่งยืน

ทีมวิจัยคาดว่าความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้จะสามารถต่อยอดในการระบุแหล่งกำเนิดอัญมณีชนิดอื่นๆ รวมถึงการระบุชนิดและประเมินมูลค่าของอัญมณีต่อไปในอนาคต รวมถึงทำให้มีการขยายการเปิดห้องปฏิบัติการอัญมณีของไทยได้มากขึ้น

โดยสามารถนำฐานข้อมูลเดียวกันนี้ไปใช้กับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ในการออกใบรายงานผลที่แม่นยำและรวดเร็ว จะเป็นส่งเสริมตลาดการค้าอัญมณีของไทย และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระดับโลก.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...