Work From Home กับมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การประชุมผ่านระบบวิดิโอ การพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ ส่งผลให้ WFH เป็นเรื่องที่มีความยืดหยุ่นและสร้างความสะดวกสบายสำหรับองค์กรและพนักงาน

การที่องค์กรมีนโยบายให้พนักงานสามารถ WFH ได้ นำมาซึ่งความท้าทายของการบริหารความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร เพราะองค์กรยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนหน้าที่ของการจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม

เพื่อธำรงไว้ซึ่งความลับ (Confidentiality) ความถูกต้องครบถ้วน (Integrity) และสภาพพร้อมใช้งาน (Availability) ของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกใช้ภายจากในองค์กรหรือถูกใช้จากโดยการรีโมทหรือเข้าถึงจากระบบภายนอกก็ตาม

ICO (Information Commissioner’s Office) หน่วยงานกำกับดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหราชอาณาจักร ได้แนะนำแนวทางสิ่งที่ต้องรู้ 10 ประการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กรจากการ WFH ไว้ดังนี้

1.องค์กรควรทบทวนมาตการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้มั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ โดยพนักงานต้องปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอน และคำแนะนำขององค์กร และหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจสะดวกแต่ไม่ปลอดภัย เช่น การส่งอีเมลผ่านบัญชีส่วนตัวของตนเอง เป็นต้น

2.องค์กรควรมีการจัดหาเทคโนโลยีให้กับพนักงาน เช่น ฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์ที่เชื่อถือได้และพนักงานต้องไม่ใช้เทคโนโลยีอื่นใดที่องค์กรไม่อนุญาตให้ใช้

3.พนักงานต้องรักษาความลับ เมื่อมีการสนทนาเรื่องงานภายในองค์กร พนักงานต้องมั่นใจว่าในบริเวณดังกล่าวไม่มีบุคคลภายนอกได้ยิน

4.พนักงานต้องมั่นใจว่า เอกสารซึ่งมีข้อมูลส่วนบุคคลต้องถูกทำลายอย่างถูกต้อง หรือมีการจัดเก็บในที่ปลอดภัย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความลับ

5.พนักงานต้องทำงานโดยการแยกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กร ซึ่งอยู่บนอุปกรณ์และซอฟแวร์ที่องค์กรจัดหาให้ออกจากกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้นานเกินความจำเป็นโดยไม่เจตนา โดยองค์กรต้องจัดหาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยให้กับพนักงานด้วย

6.ควรกำหนดรหัสผ่านเพื่อเข้าใช้งานอุปกรณ์ และมีการล็อกหน้าจอทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวสูญหายหรือถูกขโมย

7.ไม่ควรคลิกลิงก์หรือเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นชินและไม่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บนอุปกรณ์

8.ควรกำหนดรหัสผ่านการเข้าใช้งานที่คาดเดาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใช้งานบนอุปกรณ์ หรือในรูปแบบออนไลน์

9.ควรใช้เทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารที่องค์กรจัดหาให้ หากต้องการแบ่งปันข้อมูลให้กับผู้อื่น ควรต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย มีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่แบ่งปันโดยการเข้ารหัสผ่าน

10.ควรอัปเดทซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้าถึง แก้ไข เปลี่ยนแปลงโดยบุคคลที่ปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หน่วยงานกำกับดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการดำเนินการขององค์กรในกรณีดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

แต่ตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 ข้อ 4  ได้กำหนดไว้ว่ามาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำดังนี้ 

1.จะต้องครอบคลุมการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล) ไม่ว่าข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบเอกสารหรือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม 

2.จะต้องประกอบด้วยมาตรการเชิงองค์กร และมาตรการเชิงเทคนิคที่เหมาะสม อาจรวมถึงมาตรการทางกายภาพ ที่จำเป็นด้วย โดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนโอกาสเกิดและผลกระทบจากเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล 

3.จะต้องคำนึงถึงการดำเนินการตามขั้นตอนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับ ตั้งแต่การระบุความเสี่ยงที่สำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นและระบุทรัพย์สินสารสนเทศที่สำคัญ การป้องกันความเสี่ยงที่สำคัญที่อาจจะเกิดขึ้น การตรวจสอบ เฝ้าระวังภัยคุกคาม การเผชิญเหตุเมื่อมีการตรวจพบภัยคุกคามและเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาและฟื้นฟูความเสียหาย

4.จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการธำรงไว้ซึ่งความลับ ความถูกต้องครบถ้วน และสภาพพร้อมใช้งาน ของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ได้อย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยง โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเทคโนโลยี บริบท สภาพแวดล้อม

5.สำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องครอบคลุมส่วนประกอบต่าง ๆ ของระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ระบบและอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย (clients) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ ระบบเครือข่าย ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน

6.(ก) การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงและใช้งานที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงหลักการให้สิทธิเท่าที่จำเป็น

(ข) การบริหารจัดการบัญชีรายชื่อผู้ใช้งาน ที่เหมาะสมและเป็นปัจจุบัน และการบริหารจัดการมาตรการควบคุมการเข้าถึง เช่น รหัสผ่าน ที่เหมาะสม 

(ค) การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน

(ง) การจัดให้มีวิธีการเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลัง (audit trails) ที่เหมาะสมกับวิธีการและสื่อที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 

อย่างไรก็ตาม แม้องค์กรจะจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยซึ่งเป็นไปตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่หากผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคลากรภายในองค์กรขาดซึ่งความตระรู้ด้านความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Privacy and security awareness)

การ WFH ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กรยังคงมีความรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562.

ที่มา : ICO (Information Commissioner’s Office) UK GDPR Guidance

คอลัมน์ Tech, Law and Security

ศุภวัชร์ มาลานนท์

GMI มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภัทรวิรินทร์ หมวดมณี

บริษัท ดีพีโอเอเอเอส จำกัด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...