‘เอก-ป๊อก’ วิถีนักล่าฝัน ความคิด อุดมการณ์ บนเส้นขนาน

ก้าวไกลเข้าสู่ยุค “เพื่อนเอก” ปรับตัวสู้ความจริงตามวิถีรัฐสภา รู้ จักยืดหยุ่น ไม่ทิ้งจุดยืน ตรงไปตรงมา แต่ไม่เอาหัวชนกำแพง

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงฟากฝั่งการเมืองใหม่ เมื่อป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ประกาศวางมือทางการเมือง

ส่วนเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เพิ่งกลับมาจากเดินมาร์ก พร้อมกับข่าวการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคก้าวไกล หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค

ในที่สุด พรรคก้าวไกล ก็ได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มีชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค และอภิชาติ ศิริสุนทร เป็นเลขาธิการพรรค

จะว่าไปแล้ว นี่เป็นการปรับทัพชั่วคราว หรือละครสลับฉาก โดยมีต๋อม ชัยธวัช เพื่อนรักเสี่ยเอก ขึ้นแท่นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อล็อกเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯไว้ในมือ

กว่าจะตกผลึกลงตัวเรื่องผู้นำฝ่ายค้าน ภายในพรรคสีส้มก็มีการพูดคุยกันหลายรอบ และเอก ธนาธร ผู้นำทางจิตวิญญาณ คงอยากให้คนก้าวไกลเล่นการเมืองแบบมีวุฒิภาวะ จึงไม่ปล่อยเก้าอี้ผู้นำค้านให้ตกไปอยู่กับพรรคเล็ก


สองคนสองคม

ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ชายหนุ่มสองคน ต่างสถานะต่างวิถี โคจรมาพบกันในวันที่บ้านเมือง มีสถานการณ์ไม่ปกติ หรือที่เรียก ว่า รัฐพันลึก ภายใต้ประชาธิปไตยที่มีการควบคุม

หากประเทศไทย ไม่มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ไม่มีอำนาจพิเศษปกครองบ้านเมือง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงไม่คิดก่อการสร้างพรรคอนาคตใหม่

ปี 2553 เอก ธนาธร เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฏร์ มาระยะหนึ่ง จึงได้มีการพูดคุยกับอาจารย์ป๊อก ปิยบุตร

“...รู้จักกันเพราะความหลงใหลทางการเมือง อุดมการณ์ที่ใกล้กันพาให้เรามารู้จักกันเองด้วยกฎของธรรมชาติ” ธนาธร เล่าความหลัง “อาจารย์ปิยบุตร จะไม่รู้เรื่องด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ แต่จะรู้เรื่องด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มันคลิกกัน”

จริงๆแล้ว ก่อนที่เอกและป๊อก จะตัดสินใจตั้งพรรคอนาคตใหม่ พวกเขาเคยพิจารณาจะทำการเมืองนอกสภา ในรูปแบบขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) แล้ว ค่อยพัฒนาเป็นพรรคการเมืองทีหลัง

เนื่องจากอาจารย์ป๊อก ได้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม(Social Movement) ในต่างประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง และเห็นว่า พรรคการเมืองกับขบวน Social Movement ควรขับเคลื่อนไปด้วยกัน

กลุ่มเพื่อนเอก

ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล คำว่า “กลุ่มเพื่อนเอก” ถูกพูดถึงมาโดยตลอด ยิ่งในวันที่ ต๋อม ชัยธวัช นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยิ่งฉายภาพกลุ่มเพื่อนเอกให้โดดเด่น

เอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ,ต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน และติ๋ง ศรายุทธ ใจหลัก ไม่ได้แค่เป็นเพื่อนนักกิจกรรมในนาม “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (สนนท.) รุ่นไล่เลี่ยกัน (ปี 2540-2543) หากยังกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกันในสมรภูมิแดง นปช.ทั้งแผ่นดิน

ต้นเดือน มี.ค.2553 นปช.เปิดฉากการชุมนุมใหญ่ ศึกเขย่าขวัญอำมาตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง นปช. 

กระทั่งเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553 ซึ่งในวันนั้นเอก ธนาธร ,ต๋อม ชัยธวัช และติ่ง ศรายุทธ ร่วมการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว 

เมื่อ นปช.ย้ายเวทีการชุมนุมจากผ่านฟ้า ไปแยกราชประสงค์ ซึ่งหลังเหตุการณ์ลอบยิง เสธ.แดง เสียชีวิต มวลชนคนเสื้อแดงตกอยู่ในจุดเสี่ยงอันตราย 

เอก ต๋อม และติ่ง ได้ร่วมกับครูประทีบ อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ ตั้งเวทีชุมนุมย่อยขึ้นที่บริเวณสามแยกตลาดคลองเตย ในวันที่ 15 พ.ค. 2553

หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สามสหายก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพส่วนตัว และเก็บเรื่องการชุมนุมเวทีย่อยไว้เล่าขานกันในหมู่เพื่อนฝูงเท่านั้น

ทั้งธนาธร และชัยธวัช สัมผัสการต่อสู้ของภาคประชาชน ด้วยการลงมือทำจริง ตั้งแต่สมัยม็อบสมัชชาจน และการชุมนุมของคนเสื้อแดง

ต้นทาง-นิติราษฎร์

ป๊อก ปิยบุตร สนใจเรื่องการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงสังคมมาตั้งแต่สมัยเรียนกฎหมายมหาชนที่ฝรั่งเศส

วันที่ 19 ก.ย.2553 อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวในนามคณะนิติราษฎร์ ได้นำเสนอทางงานวิชาการให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งในกลุ่มนี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นแกนหลัก และอาจารย์ป๊อก-ปิยบุตร เพิ่งจบจากฝรั่งเศสมาสอนหนังสือในธรรมศาสตร์ ก็เข้าร่วมด้วย

วันที่ 27 มี.ค. 2554 คณะนิติราษฎร์ แถลงข้อเสนอทางวิชาการ และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นครั้งแรก

วันที่ 15 ม.ค. 2555 คณะนิติราษฎร์ ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ และแดงอิสระ จัดตั้ง “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” (ครก. 112) และรวบรวมรายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 

วันที่ 29 พ.ค.2555  ครก.112 นำราย ชื่อประชาชน 3 หมื่นกว่าคน ที่ร่วมเสนอร่างแก้ไข ม.112 ยื่นต่อวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 2 สมัยนั้น 

ต่อมา ประธานรัฐสภา สั่งจำหน่ายเรื่องร่างแก้ไข ม.112 โดยให้เหตุผลว่า หลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

ตัดกลับมาปี 2563 กลุ่มราษฎร เสนอ10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่มีเนื้อหาไปไกลกว่าข้อเสนอนิติราษฎร์ ดังนั้น ปิยบุตร จึงลุกขึ้นมาเรียก ร้องให้พรรคก้าวไกล สนับสนุนกลุ่มราษฎรอย่างแข็งขัน

ปฏิวัติทางความคิด

อาจารย์ป๊อก ปิยบุตร ได้เล่าว่า ตอนเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้นำทฤษฎีการเมืองของปรัชญาเมธีหลายคนมาประยุกต์ใช้ คนแรกคือ อัน โตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci)

อันโตนีโอ กรัมชี ปรัชญาเมธีชาวอิตาลี เสียชีวิตในวัย 47 ปี เขาถูกเผด็จการฟาสซิสต์มุสโสลินี สั่งจำคุกเป็นเวลา 20 ปี 4 เดือน 5 วัน ระหว่างติดคุก กรัมชี่เขียนทฤษฎีการเมืองออกมาหลายเล่ม

อาจารย์ป๊อก สนใจกรัมชี่ในเรื่องอำนาจนำ (Hegemony) ซึ่งอำนาจนำ ก็คือความสามารถในการกำหนดเรื่องเฉพาะ ให้กลายเป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนต้องยอมรับ

กรัมชีบอกว่า “ถ้าคุณต้องการสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ให้สำเร็จ ต้องทำงานผ่านด้าน Civil Society เป็นหลัก”

พูดง่ายๆ หากต้องการยึดอำนาจรัฐ ไม่ผ่านการทำสงครามความคิด ไม่เปลี่ยนความคิดคน ไม่มีทางสำเร็จหรอก  

อาจารย์ป๊อก จึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคม ลำพังชัยชนะด้วยหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่เพียงต่อการเปลี่ยน แปลงสังคมไทย
กระแสต้านการแก้ไข ม.112 ในสภาสูง ส่งผลให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชวดเป็นนายกฯ บวกกับเพื่อไทยเปิดดีลรัฐบาลข้ามขั้ว โอกาสจะแก้ไข ม.112 ก็ดูจะเลือนราง

บวกกับปรากฏการณ์ติ่งแดง-ด้อมส้ม ล่าแม่มดทัวร์ลง รัฐบาลพิเศษข้ามขั้ว ดีลลับปรองดอง ฯลฯ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาจารย์ป๊อกถอดใจ ไม่คิดทำงานการเมืองต่อไป 

ธนาธร เติบโตในอาณาจักรธุรกิจอะไหล่รถยนต์ ได้เห็นอา-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เล่นการเมืองกว่า 30 ปี และสมัยพ่อ-พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ ยังชีวิตอยู่ ก็คบค้าสมาคมกับนักการเมืองรุ่นเก๋าหลายคน

ด้วยเหตุนี้ ธนาธรจึงมีความยืดหยุ่นทางการเมืองมากกว่าปิยบุตร และเข้าใจธรรมชาติการเมืองเก่า จึงปรับแกนนำพรรคสีส้มชุดใหม่ ที่เน้นความเก๋ามากกว่าความสด อาศัยประสบการณ์ลบจุดอ่อน สส.ใหม่ไร้วุฒิภาวะ

ธนาธรเหลือเวลาอีก 6 ปีเศษ ก็จะได้รับอิสรภาพทางการเมือง และเขาพร้อมจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอีกครั้ง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...