ไทยรัฐฟอรั่ม 2567 เพิ่มพลังการศึกษา แก้ปัญหา เด็กไทยจนทรัพย์-จนใจ-จนปัญญา

เวทีไทยรัฐฟอรั่ม ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ถูกกำหนดภายใต้ธีม “Empowering Through Education” หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการศึกษา ในโอกาสที่มูลนิธิไทยรัฐและโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้ก่อตั้งมาครบ 54 ปี

เวทีแห่งนี้เป็นที่รวมของ 3 บุคคล ซึ่งเกิดและเติบโตจากครอบครัวที่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างไร้ขีดจำกัด ประกอบด้วย บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และ จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ ในฐานะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐและผู้จัดงาน

ให้เกียรติมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วยเล็งเห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ปัญหาจริงของคนในต่างจังหวัด คือ จนทรัพย์ จนใจ จนปัญญา เด็กไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร เพราะแค่เงินจะกินข้าวมื้อเย็นยังไม่มี และจนทรัพย์ยังไม่เท่าจนใจ ซึ่งอันตรายที่สุด เพราะจะกลายเป็นคนไม่มีแรง ไม่มีฝัน ใช้ชีวิตเพียงแค่ให้อยู่รอด แล้วจะหาคุณภาพจากการศึกษาได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่จำกัดเฉพาะกับเด็กนักเรียน แต่รวมถึงคุณครูด้วย ซึ่งต้องอยู่ในวัยที่ยังสามารถทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อเด็กและการศึกษา ตลอดจนควรได้รับการยกระดับเงินเดือนเทียบเท่าแพทย์

แรงใจจากพวกเขาทั้ง 3 และผู้มีอุปการคุณในงาน จะทำให้ปณิธานที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด ของมูลนิธิไทยรัฐสัมฤทธิ์ผลได้

บัณฑูร ล่ำซำ
ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย

“พื้นเพของผมในสมัยเด็ก โชคดีที่มีคุณพ่อคอยส่งเรียนไปตามที่ต่างๆ ปัญหาของผมคงจะเป็นเรื่องที่ต้อง “ถูกบังคับให้เรียนในสายการเรียนที่เราไม่ได้สนใจ” เป็นเรื่องตามยุคสมัยนั้น สิ่งที่อดห่วงไม่ได้คือ ปัจจุบันการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำที่มาก แค่จะหาที่เรียนต่อในการศึกษาระดับต่างๆก็เป็นเรื่องยากแล้ว จึงอยากให้เด็กยุคนี้มองโอกาสเรื่องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ”

สำหรับคนเป็นผู้ปกครองสิ่งแรกที่อยู่ในใจคือ การตั้งคำถามว่า กำลังทรัพย์เพียงพอหรือไม่ ในการส่งเสียลูกหลานเรียน แต่ไม่อยากให้มองเรื่องการจะส่งลูกเรียนเมืองนอกหรือเรียนเมืองไทย เหรียญมีสองด้านเสมอ เรื่องนี้แล้วแต่โอกาส ความสามารถ ความสนใจ อยากให้มองในเรื่องของ “คุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา” มากกว่า อย่างที่มูลนิธิไทยรัฐทำ สนับสนุนคนรากหญ้าให้มีโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม

โจทย์ใหญ่ที่หยั่งรากลึกใน “การปฏิรูปการศึกษา” คือโอกาส โดยเฉพาะตามชนบทและในพื้นที่ห่างไกล เด็กไม่ได้มีทางเลือกมากนัก นอกจากการเข้าถึงการเรียนได้ยากแล้ว คุณภาพชีวิตก็มีส่วนไม่น้อย เช่น การเงิน สุขภาพ ครอบครัว ต่อให้การศึกษาเข้าถึงแค่ไหน หากคุณภาพชีวิตไม่ขยับตาม ก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายต่อไป

“เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มีผลแค่ตัวนักเรียนเพียงอย่างเดียว ครู เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพเช่นกัน เพราะหากคุณภาพชีวิตครูที่อยู่ในพื้นที่ หรือครูที่เข้าไปช่วยเหลือนั้นไม่ดีตามแรงใจความฝัน ความตั้งใจที่จะทำงานก็ไม่มีตามไปด้วย คุณภาพต่างๆก็จะลดลง”

“จนทรัพย์ยังไม่วาย แต่หากจนใจแล้วนี่สิอันตรายที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆและคุณครูกลายเป็นคนไม่มีแรง ไม่มีความฝัน ใช้ชีวิตเพียงแค่ประคองตัวเองให้อยู่รอดเท่านั้น และจะหาคุณภาพจากการศึกษาได้อย่างไร”

จิตสุภา วัชรพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์

“สมัยเรียนอยู่ในยุค 2.0 โตขึ้นมากับการท่องจำไปสอบ การสอนในห้องเรียนไม่ได้เน้นให้มีการคิดวิเคราะห์มากเท่าไร แต่ในรุ่นลูก ซึ่งตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ป.1 จะเห็นความแตกต่างของหลักสูตรไทยกับหลักสูตรอินเตอร์ ซึ่งจะมีคำถามให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ตั้งแต่ ป.1

ในส่วนเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษานั้น การทำมูลนิธิไทยรัฐ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นความตั้งใจที่คุณตากำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร แล้วจัดทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องน้ำ บางโรงเรียนมีการสร้างหอให้เด็กพักในละแวกนั้น บางโรงเรียนมีรถรับส่ง และบางโรงเรียนมีครูเดินทางไปรับนักเรียน

“หน้างานจริงๆเป็นชีวิตจริงของคนในต่างจังหวัดคือ จนทรัพย์ จนใจ จนปัญญา คนไม่รู้จะไปเรียนหนังสืออย่างไร แค่เงินจะกินข้าวมื้อเย็นยังไม่มี เด็กหลายๆคนที่มาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาไม่มีข้าวเช้ากิน บางโรงเรียนจึงต้องเอางบที่ทางรัฐสนับสนุน บวกกับงบที่ไทยรัฐใส่เพิ่ม เมื่อเด็กอิ่ม เขาจะเรียนได้อย่างมีสมาธิ มีประสิทธิภาพ”

ไม่แน่ใจว่าคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ใช้กันมากี่ปีแล้ว แต่เรายังพูดคำนี้กันอยู่ ยังคงพบปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา แม้ทางภาครัฐมีการเรียนฟรีมา 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวมากๆที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนฟรี 15 ปีที่ทางภาครัฐให้ ยังมีหลายเคสที่ทางมูลนิธิไทยรัฐ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยาช่วยเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ และจะยังดำเนินต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มากที่สุด

“จุดประสงค์ของเราไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่รูปแบบวิธีการอาจจะเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป แม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาของภาครัฐ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากจำนวนล้านคน ปัจจุบันพบว่าลดลงมาเกือบครึ่ง หมายความว่าอาจจะมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณ หรือทรัพยากรต่างๆให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด”

ศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

“ผมอยู่ในระบบการศึกษายุค 2.0 ซึ่งเป็นยุคที่สอนให้คนเป็นหุ่นยนต์ ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามคู่มือ ถ้ามอบหมายการบ้านทำเสร็จแน่ แต่ริเริ่มไม่เก่ง อาศัยการสอบผ่าน คิดว่าการจบปริญญาเป็นความสำเร็จ”

 แต่การศึกษาในยุคนี้เปลี่ยนไปเกินกว่ายุค 4.0 แล้ว เป็นยุคที่อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) กลายเป็นศูนย์กลางความรู้ เป็นการเรียนตามความสนใจ ความชอบ ตามความตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้ การเรียนเชิงการปฏิบัติ และการทำงานเป็นทีม ทั้งหมดนี้กลายเป็นระบบการเรียนใหม่ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“แตกต่างจากยุคผม ซึ่งเรียนรู้แบบสอบเสร็จจบ ส่งรายงานเสร็จจบ มองปัญหาเป็นภาระ แต่ยุคใหม่มองปัญหาเป็นความท้าทาย การหาทางออก นี่ควรเป็นรูปแบบของการศึกษายุคใหม่”

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ ทุกคนอยากให้ลูกได้มีโลกทัศน์ที่กว้าง เรียนรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม สามารถใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ไร้ขอบเขต ที่เหลือขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งเสียให้ลูกเรียนต่อถึงต่างประเทศได้หรือไม่

แต่หากประเทศไทยสามารถยกระดับเป็นฮับการศึกษาได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีความเป็นไปได้ จากโรงเรียนนานาชาติที่กำลังขยายตัว ทำให้เกิดการปรับตัวของระบบการศึกษาไทยเป็นวิวัฒนาการ “ถ้าสามารถสร้างกรุงเทพฯ เป็น Innovation Cluster เหมือนบอสตันหรือลอนดอนได้ ผ่านการทำให้มหาวิทยาลัยเป็น Innovation Hub ด้านการค้นคว้า วิจัย มีภาครัฐ เอกชนช่วยสนับสนุน ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลาง คนอยากมาเรียนที่เมืองไทย”

ที่สำคัญในยุค AI และยุคที่เกือบทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศอาจไม่ต่างกันมากนัก ครูจะมีบทบาทสำคัญ เพิ่มเติมสิ่งที่เรียกว่า Learning Center หรือศูนย์เรียนรู้ ซึ่งบ้านเรายังขาดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ การเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ “ในยุคนี้การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพคือการเข้าถึงเทคโนโลยี ลองจินตนาการว่าเด็กทุกคนตั้งแต่ ป.1มีโน้ตบุ๊กที่เป็นคอมพิวเตอร์สีขาว มี AI คัดกรองของเสีย เข้าถึงองค์ความรู้ ทำโปรเจกต์ เรียนภาษาอังกฤษ ศิลปะ ดนตรี ทุกอย่าง นี่คือความเสมอภาค”

“การสร้างความเท่าเทียมเป็นวัฒนธรรม และผู้ที่จะหล่อหลอมให้ระบบสังคม ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างถูกวิธีก็คือสื่อ ละครช่วงไพรม์ไทม์ของไทยที่คน 80% นิยมดูช่วง 2 ทุ่ม ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือไม่ การลงทุนทำละคร สามารถปรับโครงสร้าง (Shape) วัฒนธรรมของไทย ให้เน้นคุณค่า การศึกษา ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางกรอบความคิดได้ นี่คือเรื่องของทุกคนและสื่อมีบทบาทมาก”

ส่วนหากถามเรื่องการปฏิรูป (Transformation) การศึกษา มองว่าต้องทำพร้อมๆกัน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เป้าหมายและตัวชี้วัด ซึ่งต้องโปร่งใส พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน เข้าถึงการประเมินศักยภาพโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งในบางชุมชนอาจต้องขับเคลื่อนทุนเข้าไป นอกเหนือจากทุนของรัฐ เพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน 2.ความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู ต้องปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะครูใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวที่ 2 ของเด็ก เพราะไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะพร้อม

3.บุคลากร ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า คุณครูใหญ่ที่อยู่ในวัย 20 ปลายๆ จนถึง 30 ต้นๆ จะมีแรงทุ่มเทสุดชีวิตให้กับการศึกษาและเด็ก ต่อมาคือ เงินเดือนของครูจะต้องเท่าๆกับอาชีพหมอ 4.ต้องเปลี่ยนจากมีครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher Centric) ไปเป็นการมีเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Centric) เปลี่ยนการวัดผลงาน (KPI) ของครู มาเป็นการ ให้ความมั่นคง มั่นใจ และมองเห็นถึงความสนใจของเด็ก และ 5.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

“ถ้าเด็กๆมีคอมพิวเตอร์สีขาว มี AI มาช่วย ไม่ว่าเด็กบนดอย หรือเด็กกรุงเทพฯ ศักยภาพจะไม่ต่างกันมาก ที่เหลือเป็นเรื่องของศูนย์การเรียนรู้เพียงพอหรือไม่”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทูตยูเอ็นประจำเกาหลีเหนือ ยืนยัน โสมแดงไม่ได้ส่งกองทัพหนุนรัสเซีย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทูตยูเอ็นประจำเกาหลีเหนือกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างการประชุมสมัชชาใ...

ใครกัน "เร ลิล แบล็ก" ดาราขวัญใจหนุ่มไทย โพสต์เดือดมีผู้ชายมาขอนอนด้วย-ทั้งๆ ที่มีเมียแล้ว

เร ลิล แบล็ก โพสต์ฉุน มีหนุ่มมาขอนอนด้วย แม้จะมีครอบครัวแล้ว ทำเอาแฟนๆ แห่คอมเมนต์ วันที่ 22 ตุลาคม ...

เร่งส่งออกสุดชีวิต! รถ EV จีนถาโถมยุโรป เดือนเดียวเกือบ 6 หมื่นคัน ก่อนภาษีใหม่มีผล

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ยอดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนไปยังสหภาพยุโรปในเดือนกันยายนพุ่งสูงข...

"เป๊ป" ตัดสินใจแล้ว อนาคตกับ "แมนฯ ซิตี้" หลังยังไม่ต่อสัญญา อาจลากุนซือหลังจบฤดูกาล

มาแล้ว เป๊ป กวาร์ดิโอลา ตัดสินใจแล้ว อนาคตกับ แมนฯ ซิตี้ หลังยังไม่ต่อสัญญา มีแนวโน้มโบกมือลาหลังจบฤ...