'ปชป.' ค้าน รายงานนิรโทษกรรม หวั่นเป็นตราประทับ ล้างผิดม.112

ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อที่ประชุมว่า  พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาจะมีการนิรโทษกรรม แต่ไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ให้กับคดีความผิดประมวลอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112  ในประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักสำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 6  

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การนิรโทษกรรมถ้าจะมีในอนาคตควรยืนบนหลักการ 5 ข้อ คือ

1.ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง ไม่ใช่การสร้างความขัดแย้งแตกแยก เพราะนั่นคือการนับหนึ่งของการต้องต่อสู้กับแรงเสียดทาน และการนิรโทษกรรมต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในอนาคตอีกต่อไป

2.การนิรโทษกรรมถ้าจะมีต้องไม่นิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง เพราะถ้าทำเช่นนี้สุดท้ายก็จะไปไม่รอด จะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่ และนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกดังเช่นที่เราเคยได้รับบทเรียนตอนพยายามจะผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยในอดีต สุดท้ายก็ไปไม่รอด

3.การนิรโทษกรรมต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจหรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคนจะไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ทำผิดแล้วก็จะได้รับการล้างผิดในที่สุด

4.การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าจะมีต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฏหมาย หรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมถึงรัฐสภา รัฐบาลและองค์กรอื่นๆ

และ5.การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น คดีอาญาร้ายแรง และ  มาตรา 110 และมาตรา 112 

"ภายใต้หลักการ 5 ข้อนี้ ถ้าจะมีการนิรโทษกรรม ตนจึงเห็นว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดอันเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทั่วไป และต้องพ่วงหลักการว่าต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทานนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งในอนาคต การรวมการนิรโทษกรรมมาตรา 110 และมาตรา 112 ยิ่งข้อสังเกตของรายงานระบุไว้ชัดว่า ครม.คือรัฐบาล ควรพิจารณารายงานของกมธ.ฯ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยเร็ว พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย" นายจุรินทร์ อภิปราย

นายจุรินทร์ อภิปรายต่อว่า หากสภาฯเห็นชอบกับรายงาน อาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 ในอนาคต

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทหารอิสราเอลปลิดชีพผู้นำฮามาส ‘ยายาห์ ซินวาร์’ ในกาซา

การสังหารเขาได้ถือเป็นความสำเร็จใหญ่หลวงสำหรับอิสราเอล และเป็นเหตุการณ์สำคัญในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ...

เมเจอร์ร่วมทุนทาคาระ เลเบ็น ผุดมอลตัล รีเสิร์ฟ ปิ่นเกล้ามูลค่า1.3พันล้าน

เพชรลดา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า เมเจอร์ฯถือว่าเป็นผู้นำใ...

ลงทุนกองทุนต่างประเทศแบบไหนดี ระหว่าง Hedge vs. Unhedge

การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ นอกจากต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่มาจากสินทรัพย์ลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไ...

“เงินคู่คลัง” เจาะลึก หุ้นได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของกนง.

ถือเป็นอีกเรื่องราวสุดเซอร์ไพร์ส หลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราด...