ย้อนรอยแชร์ลูกโซ่ใหญ่ที่สุดในโลก ‘เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์’ ประธาน Nasdaq สู่ ‘บิ๊กบอส’ ต้มตุ๋น

จากกรณีคดีใหญ่ “ดิไอคอนกรุ๊ป” (The iCon Group) ที่เป็นบริษัทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงามซึ่งถูกกล่าวหาว่าอาจเป็น “แชร์ลูกโซ่” จนนำไปสู่การออกหมายจับเหล่าผู้บริหารระดับสูงหลายคน

ในอดีต โลกเคยเผชิญคดีฉาวที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” จนสร้างความเสียหายสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 2 ล้านล้านบาท โดย “บอสใหญ่” ที่ก่อเหตุนี้ก็ยิ่งใหญ่ระดับประธานกรรมการตลาดหุ้น Nasdaq ถึง 3 สมัยจนดูน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ชื่อของเขาคือ “เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์” (Bernie Madoff) เรียกได้ว่าเป็นอาชญากรแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก

- เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์ (เครดิต: AFP) -

จากประธาน Nasdaq สู่แผนแชร์ลูกโซ่

เบอร์นาร์ด หรือเบอร์นีย์ เมดอฟฟ์เริ่มต้นอาชีพในวอลล์สตรีทในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ด้วยการเป็นนักเทรดหุ้น และได้ก่อตั้งบริษัท Bernard L. Madoff Investment Securities LLC ซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นขึ้นมา โดยจุดที่ทำให้เขาขึ้นมาโด่งดังระดับท็อปของวงการการเงินยุคนั้น คือ เขาใช้ “ระบบอิเล็กทรอนิกส์” มาช่วยซื้อขายหุ้นเป็นรายแรก ซึ่งเป็นการพลิกโฉมวงการหุ้นที่เคยซื้อขายผ่านกระดาษแต่เดิม

ด้วยชื่อเสียงและความเป็นที่เคารพนับถือ ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐมา 3 สมัย รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ National Association of Securities Dealers (NASD) ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมการค้าหลักทรัพย์ที่ดำเนินการโดยเอกชน ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของเขายังดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอุตสาหกรรมอย่างเช่น Securities Industry and Financial Markets Association (SIFMA)

วันหนึ่ง เมดอฟฟ์ก็คิดแผนฉ้อโกงอันชาญฉลาดขึ้นมา โดยตั้งกองทุนซื้อขายหลักทรัพย์ขึ้น พร้อมโฆษณาว่าสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลสูงสุดถึง 20% ไม่ว่าสภาพตลาดขณะนั้นจะเป็นอย่างไร พร้อมกล่าวเสริมอีกว่า แทบจะปราศจากความเสี่ยง

แน่นอนว่าด้วยดีกรีระดับประธาน Nasdaq มาก่อน เหล่านักธุรกิจ ธนาคารที่มีชื่อเสียงอย่าง HSBC หรือแม้แต่กองทุนชั้นนำต่าง ๆ ก็ไม่ลังเลใจที่จะให้เมดอฟฟ์เข้ามาบริหารเงิน

ไม่เพียงเท่านั้น เมดอฟฟ์ยังเข้าไปสานสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกับเหล่านักธุรกิจ และผู้ทรงอิทธิพลในวงสังคมชั้นสูงในย่านนิวยอร์กและปาล์มบีชของรัฐฟลอริดา โดยชักชวนให้มาร่วมลงทุน และใช้ชื่อเสียงของพวกเขาเป็นเครื่องการันตี เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายอื่น ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีผู้สื่อข่าวสอบถามเมดอฟฟ์ว่า ทำอย่างไรถึงสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงเช่นนี้ เขาตอบว่าใช้กลยุทธ์ “Split-Strike Conversion” ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นชั้นดีราคาไม่แพง พร้อมกับซื้อ Put Option ประกันความเสี่ยงขาลงด้วย โดยสมมติซื้อประกันราคาหุ้นไว้ที่ 10 บาท หากหุ้นที่เขาซื้อร่วงลงไปที่ 8 บาท เมดอฟฟ์ก็ไม่ต้องขายในราคาตลาดที่ 8 บาทจนขาดทุน แต่สามารถใช้สิทธิ Put Option ขายหุ้นในราคา 10 บาทแทนได้ ซึ่งเหล่านักลงทุนต่างก็เชื่อใจเขาเกี่ยวกับตัวกลยุทธ์นี้

เมื่อความจริงปรากฏ เบื้องหลังผลตอบแทนที่น่าเหลือเชื่อ

ความโลภและความเชื่อมั่นในผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ทำให้นักลงทุนจำนวนมากหลงเชื่อคำโกหกของเมดอฟฟ์มานานหลายสิบปี จนกระทั่งวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ 2008 ได้เปิดโปงความจริงที่โหดร้าย ผู้คนแห่ถอนเงินจากกองทุนนี้รวมกันกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เมดอฟฟ์จัดหาได้เพียงไม่กี่ร้อยล้านเท่านั้น ทำให้รู้ว่ากองทุนที่เมดอฟฟ์ขายฝันว่า ผลตอบแทนที่สูงลิ่วซึ่งมาจากกลยุทธ์ลงทุนอันชาญฉลาดของเขานั้นเป็นเรื่องโกหก

ที่ผ่านมา บอสเมดอฟฟ์ไม่เคยดำเนินกลยุทธ์ Split-Strike Conversion จริงๆ แล้ว เขาปลอมแปลงบันทึกการซื้อขายหุ้นเพื่อโชว์ผลตอบแทนที่เป็นบวก และใช้เงินจากนักลงทุนใหม่มาจ่ายให้นักลงทุนรายก่อนเช่นนี้เรื่อย ๆ โดยไม่ได้มาจากการลงทุนจริง ซึ่งเรียกระบบลักษณะนี้ว่า “แชร์ลูกโซ่” เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจคล้ายพอน้ำลดแล้วตอผุด เงินที่หมุนวนไปมาก็ชะงักจนความลับนี้แตกขึ้นมา

อันที่จริงก่อนหน้านั้น มีนักการเงินบางราย เช่น แฮร์รี่ มาร์โคโปโลส (Harry Markopolos) เริ่มสงสัยถึงกลยุทธ์นี้มาก่อนแล้ว เพราะเป็นเรื่องน่าแปลกว่าในหลายสิบปีนี้ แม้ในช่วงที่ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวลงแรง ตลาดไม่เป็นใจ แต่กองทุนนี้กลับยังคงทำเงินได้ไม่น้อย

อีกทั้งจำนวนคู่สัญญา Option ที่เมดอฟฟ์อ้างถึงไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แม้จะมีการร้องเรียนและการสอบสวนหลายครั้ง แต่ด้วยบารมีของเขา กองทุนเมดอฟฟ์ก็ดำเนินต่อไปได้นานถึงสองทศวรรษ

ในที่สุด เมดอฟฟ์ก็ถูกจับกุมในปี 2008 และถูกตัดสินจำคุกยาว 150 ปี โดยรัฐบาลสหรัฐพยายามชดใช้ความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ถูกหลอกลวงด้วยเงินกว่า 700 ล้านดอลลาร์ แต่จำนวนนั้นยังคงน้อยนิดเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์

หลังจากถูกจับกุม เมดอฟฟ์เผยว่า “ทุกคนโลภ ทุกคนอยากไปต่อ และผมก็ไปด้วย” อีกทั้งเขายังแปลกใจว่า ด้วยความโลภบังตานั้น เหล่านักลงทุนไม่ได้สงสัยเลยว่า เขาทำผลตอบแทนได้ 15% หรือ 18% ได้อย่างไรในเมื่อเป็นช่วงที่คนอื่นทำเงินได้น้อยลง

วัยเกษียณหลายคนสูญเงินออมทั้งชีวิต

เป็นเรื่องน่าเศร้า เหยื่อที่เสียหายมีตั้งแต่ประชาชนทั่วไปที่เข้ามาลงทุน อย่างเอียน เทียร์มันน์ (Ian Thiermann) วัย 90 ปี หลังจากสูญเสีย “เงินออมตลอดชีวิต” ให้กับเมดอฟฟ์ไป เขาจำเป็นต้องเลิกเกษียณและทำงานในร้านขายของชำเลี้ยงชีพแทน แม้จะอยู่ในวัยชรามากแล้วก็ตาม

เทียร์มันน์ไม่รู้ตัวว่าเขาลงทุนกับเมดอฟฟ์ จนกระทั่งวันที่ 15 ธันวาคม 2009 เมื่อเพื่อนที่จัดการการลงทุนของเขาโทรหาเขาทางโทรศัพท์ เขาบอกว่า “ฉันเสียทุกอย่างไปแล้ว และคุณก็เสียทุกอย่าง” สำหรับเทียร์มันน์ นั่นหมายถึงเงิน 750,000 ดอลลาร์ หรือราว 24 ล้านบาท

“ตอนนี้เราไม่มีเงินสำรองเลย และเรายังคงมีหนี้บ้าน” เทียร์มันน์กล่าว

นอกจากนี้ ประมาณ 2,490 ไมล์ทางตะวันออกในเวสต์เชสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย มอรีน อีเบล (Maureen Ebel) วัย 60 ปีได้ยอมสละการเกษียณ และทำงานเป็นคนทำความสะอาดหลังจากสูญเสียเงินออมของครอบครัวมูลค่า 7.3 ล้านดอลลาร์หรือราว 240 ล้านบาทให้กับเมดอฟฟ์

6 วันหลังจากที่ทราบถึงการสูญเสีย หญิงม่ายวัย 60 ปีคนนี้ ได้หางานทำเป็นคนทำความสะอาดบ้านของเพื่อนและดูแลหญิงวัย 93 ปี สามีของอีเบลซึ่งเป็นแพทย์ เสียชีวิตในปี 2000 ขณะอายุ 53 ปี อดีตพยาบาลผู้นี้ยังขายรถ Lexus SUV หรูของเธอและบ้านพักฤดูหนาวในรัฐฟลอริดาด้วย

“ในวันแรกที่ฉันไปทำงาน หลังจากเข็นเครื่องดูดฝุ่นไปทั่ว ฉันกลับบ้านและพูดกับตัวเองว่า ‘นี่คือสิ่งที่ชีวิตฉันมาถึง’ ฉันกอดสุนัขของฉันและร้องไห้” อีเบลกล่าว

ในรัฐวิสคอนซิน แอ็บบี้ ฟรุชต์ (Abby Frucht) กำลังครุ่นคิดถึงชะตากรรมของพ่อแม่ของเธอ ซึ่งเงินเก็บออมตลอดชีวิตมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ดูเหมือนจะสูญหายไปกับการล่มสลายของบริษัทของเมดอฟฟ์ พ่อแม่ของเธอใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินจำนวนนั้นในบ้านพักคนชราในเมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก

“พ่อของฉันอายุ 85 ปี และแม่ของฉันอายุ 79 ปี เราไม่รู้ว่าพวกเขาจะอยู่ที่นั่นได้นานแค่ไหน ตอนนี้เรากำลังวางแผนเรื่องนั้นอยู่” ฟรุชต์กล่าว

ทั้งนี้ พ่อของเธอเป็นโรคอัลไซเมอร์และอาจไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอระบายความในใจว่า “พวกเขามีอายุมากแล้วและไม่สามารถกลับไปทำงานได้”

นอกจากนี้ แม้แต่คนดังหลายคนอย่างเช่น แลร์รี คิง (Larry King) พิธีกรระดับตำนานของช่อง CNN ไปจนถึงมูลนิธิต่าง ๆ กองทุนชั้นนำระดับโลก รวมไปถึงธนาคารนานาชาติหลายแห่งก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เช่น ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส เปิดเผยว่าสูญเสียเงินสูงถึง 470 ล้านดอลลาร์ ขณะที่โบรกเกอร์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอย่าง Nomura เผชิญกับการสูญเสีย 302 ล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคาร HSBC ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อรายใหญ่ของการฉ้อโกงนี้ โดยอาจได้รับความเสียหายราว 1,500 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ

ลงดาบเมดอฟฟ์และพรรคพวก

ไม่เพียงเบอร์นีย์ เมดอฟฟ์ที่ถูกจับในกรณีแชร์ลูกโซ่ ยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องถูกจับและต้องรับโทษเช่นกัน ซึ่งบางคนเป็นสมาชิกครอบครัวและพนักงานในบริษัทของเขา ตัวอย่างเช่น

ปีเตอร์ เมดอฟฟ์ (Peter Madoff) น้องชายของเมดอฟฟ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบ (CCO) และเป็นกรรมการผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Madoff Investment Securities ถูกจับและยอมรับความผิดในการช่วยดำเนินการแชร์ลูกโซ่ของพี่ชาย เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในปี 2012

แฟรงค์ ดิปาสคาลี (Frank DiPascali) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัท ถูกจับกุมในปี 2009 หลังจากที่ยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการและปกปิดการกระทำผิดในแชร์ลูกโซ่ของเมดอฟฟ์ เขาให้ความร่วมมือกับอัยการและได้รับการลดโทษ

แดเนียล บอนเวนเทรอ (Daniel Bonventre) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายจัดการบัญชี ถูกจับและต้องรับโทษจำคุก 10 ปีในปี 2014 เนื่องจากมีส่วนร่วมในการปลอมแปลงเอกสารและบัญชีเพื่อซ่อนการฉ้อโกง

แอนเน็ต บองจอร์โน (Annette Bongiorno) ผู้ช่วยเก่าแก่ของเมดอฟฟ์ที่ทำงานกับเขามานานกว่า 40 ปี ถูกจับและตัดสินจำคุก 6 ปีในปี 2014 จากการมีส่วนร่วมในการจัดการและปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อโกง

โจแอน ครูปี (Joann Crupi) ผู้จัดการฝ่ายการเงินในบริษัทของ Madoff เธอมีบทบาทในการจัดการบัญชีปลอมและทำให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ากำลังได้รับผลตอบแทน เธอถูกตัดสินจำคุก 6 ปีในปี 2014

จะเห็นได้ว่า ปมฉาวแชร์ลูกโซ่ของ “เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์” ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประชาชนจำนวนมาก ผู้คนสูญเสียเงินออมและความเชื่อมั่นไปอย่างไม่มีวันหวนคืน สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งแม้แต่บุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีและเป็นที่เคารพนับถือ ก็สามารถก่ออาชญากรรมทางการเงินที่สร้างความเสียหายร้ายแรงได้

อ้างอิง: corporate, britannica, investopedia, economic, global, nbc, reuters, justice

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ถอดรหัสเกาหลีเหนือไม่ต้องการเจรจาเกาหลีใต้ l World in Brief

ถอดรหัสเกาหลีเหนือไม่ต้องการเจรจาเกาหลีใต้ รายงานจากกองทัพเกาหลีใต้และเคซีเอ็นเอ สื่อทางการเกาหลีเหน...

ญี่ปุ่นจับตา ‘ไทย - มาเลย์’ ร่วมกลุ่ม BRICS หวั่นเปลี่ยนข้างซบ ‘จีน - รัสเซีย’

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศว่า “ญ...

นักท่องเที่ยวบุก ‘ญี่ปุ่น’ ใช้จ่ายสะพัด 9 เดือนแรก 4 หมื่นล้าน แซงยอดทั้งปี 66

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย รายงานตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเผยว่า ภายในเวลาเพียง 9 เดือ...

สรุป ‘จีน’ แถลงกระตุ้น ‘อสังหาฯ’ เร่งปล่อยสินเชื่อ ‘บัญชีขาว’ สร้างบ้านใหม่ล้านยูนิต

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์รายงานว่า รัฐบาลจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ นำโดย “ห...