อาการวิตกกังวลแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นโรคแพนิก ต้องรักษาอย่างไร

อาการวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงจนทำให้ไม่กล้าออกไปไหน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นอาการของโรคแพนิกได้

สาเหตุโรคแพนิก

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าโรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้แต่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดอาจไม่ทราบด้วยว่าอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้นเป็นอาการของโรคแพนิกที่รักษาได้ สาเหตุของโรคแพนิกนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ามีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางร่างกายและทางจิตใจ

ทางร่างกาย อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” ทำงานผิดปกติ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ความคิดที่ผิดปกติ และต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย คล้ายระบบสัญญาณกันขโมยที่ไวเกินดังขึ้นโดยไม่มีขโมยจริงๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางร่างกายอื่นๆ เช่น

  • กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติเป็นโรคแพนิคมีแนวโน้มจะเป็นได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์
  • การใช้สารเสพติด จะไปทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือสารเคมีในสมองเสียสมดุล
  • ฮอร์โมนที่ผิดปกติก็อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้

ทางจิตใจ มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่า เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เป็นต้น

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital

...

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคแพนิก (Panic Disorder) มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลและความเครียดที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการตื่นตระหนกอย่างฉับพลันโดยบางครั้งไม่มีสาเหตุมากระตุ้นชัดเจน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

อาการโรคแพนิก

อาการของโรคแพนิกมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการอยู่นาน 1 – 10 นาที บางรายอาจมีอาการนาน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หากมีอาการซ้ำภายในสัปดาห์หลายครั้ง ควรรีบมาพบจิตแพทย์ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • หัวใจเต้นแรง
  • เหงื่อออกมาก
  • ตัวสั่น
  • หายใจไม่ออก หรือมีอาการคล้ายขาดอากาศหายใจ
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • คลื่นไส้ หรือท้องเสีย
  • เวียนศีรษะ หรือรู้สึกอ่อนแรง
  • ผิวหนังเย็น หรือร้อนวาบ
  • รู้สึกชาหรือร่างกายไม่ค่อยรับความรู้สึก
  • กลัวการสูญเสียการควบคุม หรือกลัวตาย

วิธีรักษาโรคแพนิก

การรักษาโรคแพนิกสามารถทำได้หลายวิธี โดยจิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น

  • การใช้ยา: ยาที่ใช้รักษาโรคแพนิกมักจะเป็นยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาคลายความวิตกกังวล (Anxiolytics) ยาเหล่านี้ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความวิตกกังวล
  • การบำบัดทางจิตวิทยา: การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความกลัวและอาการที่เกิดขึ้น และเรียนรู้วิธีการจัดการกับอาการเหล่านั้น
  • การฝึกหายใจและการผ่อนคลาย: การฝึกหายใจลึกๆ และการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยลดอาการตื่นตระหนกและทำให้รู้สึกสงบลงได้
  • การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์: การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการแพนิคได้

อย่างไรก็ตาม โรคแพนิกถึงแม้จะไม่ได้อันตรายต่อชีวิต แต่อาจส่งผลกระทบชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากมีอาการเข้าข่ายควรรีบมาพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

ภาพ: iStock

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ลมพายุใหญ่ทำให้หลายอย่างในสหรัฐชัดขึ้น

นอกจากจะทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐฟลอริดาแล้ว พายุเฮลีนยังพัดต่อไปทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐอื่นอีกด้ว...

นายกฯ อิสราเอลชี้ สังหารผู้นำฮามาส ‘จุดเริ่มต้นยุติสงครามกาซา’

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตามที่กองทัพอิสราเอลแถลงว่า หลังจากไล่ล่ามาอย่างยาวนาน กองทัพก็ “ขจัด นายยาห์...

ทุกคะแนนมีค่า ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ เดินสายให้สัมภาษณ์ขยายฐานเสียง

สำนักข่าวเอพีรายงาน เมื่อไม่กี่วันก่อน คามาลา แฮร์ริส ให้สัมภาษณ์ชาร์ลามาญ (Charlamagne tha God) เจ้...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (3) | World Wide View

เสียมราฐ เป็นจังหวัดสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา หลาย ๆ คนรู้จักในฐานะที่ตั้งของนครวัดและโ...