‘ไฮเทค-นวนคร-โรจนะ’ สกัดน้ำท่วมนิคมฯ เร่งเฝ้าระวัง 24 ชม.

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รุนแรงในรอบหลายปี ได้สร้างความกังวลถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างไปด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูน้ำหลากที่เคยส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายเมื่อปี 2554 โดยเฉพาะน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ

นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริหาร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่ไล่ลงมาภาคกลาง และมาถึงพระนครศรีอยุธยา ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่านิคมอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมใหญ่จากภาคเหนือปี 2567 ไม่เหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทคได้ติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือตลอดเวลา เพราะอุทกภัยเป็นภัยที่น่าเป็นห่วงต่อประชาชนและนักลงทุนใน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนิคมอุตสาหกรรมกังวลว่าจะกระทบต่อบุคลากรในการเดินทางมาทำงานเช่นกัน

“สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ต่างกับปี 2554 มาก เพราะเหตุเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่อ่างเก็บน้ำยังไม่เต็มความจุ ซึ่งนิคมฯ ได้ติดตามการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่ปกติการปล่อยน้ำระดับ 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันปล่อยเพิ่มขึ้นที่ระดับ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” นายทวิช กล่าว

แจ้งข้อมูลนักลงทุนลดกังวล

ดังนั้น หากปล่อยระดับ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะท่วมพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่ที่เคยท่วม โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในการรับน้ำท่วม ระดับ 1 เมตร ถือเป็นเรื่องปกติแต่ถ้าระดับ 1.50 เมตร ถือว่ามากนิดหน่อย

นอกจากนี้ หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดงบประมาณสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่สูงจากระดับพื้นดิน 4 เมตร ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมจึงไม่น่าเป็นห่วงมากกรณีปล่อยน้ำที่ปล่อยระดับ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากปล่อยน้ำระดับ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นไป หรือถ้าเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะต้องติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด

“ตอนนี้ต้องเฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือ เพราะทุกนิคมฯ เป็นห่วงระดับน้ำเช่นกัน แต่สถานการณ์จะต่างกับปี 2554 มาก และต้องส่งข้อมูลให้นักลงทุนเพื่อคลายความกังวล และติดตามรายงานสถานการณ์ทุกวัน พร้อมติดประกาศแจ้งสถานการณ์น้ำใกล้ชิด โดยเฉพาระดับน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา” นายทวิช กล่าว

แหล่งข่าวจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือปีนี้ ยังเชื่อว่าจะไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมเหมือนปี 2554 เพราะสร้างเขื่อนเตรียมพร้อมรับน้ำตั้งแต่ตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าน้ำไม่ท่วม

“นวนคร”เฝ้าระวังน้ำ24ชั่วโมง

นางพีรยลักษณ์ ตั้งสุรนาวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สวนอุตสาหกรรมนวนครติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะบริหารจัดการภายในนวนคร โดยจะมีกลุ่มไลน์เพื่อรายงานระบบป้องกันน้ำท่วม พร้อมทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมคอยแจ้งระดับน้ำทั้งภายในและภายนอก

“ในโครงการจะวัดระดับการควบคุม ส่วนภายนอกโซนประตูระบายน้ำบางบาล เลยขึ้นไปถึงอยุธยา จะมีเว็บไซต์รายงานระดับน้ำ แต่น้ำท่วมปีนี้เชื่อว่าจะไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน”

สำหรับน้ำท่วมปี 2554 เป็นการกั้นน้ำไม่ให้เข้ามาที่ จ.สุพรรณ และไม่ให้ไหลเข้าที่รามอินทรา จึงบีบลงมาในแนววิภาวดี แต่ปี 2567 น้ำกระจายไปทั่ว เพราะรัฐบาลบริหารจัดการที่ดี ซึ่งนวนครมีการป้องกัน และ Monitor ตลอด โดยมีสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่พร้อมรับมือ แต่จะไม่สูบน้ำออกไปเยอะเพราะจะกระทบพื้นที่นอกโครงการ จึงต้องบริหารจัดการให้สมดุล

ทั้งนี้ สวนอุตสาหกรรมนวนครต่างจากนิคมอุตสาหกรรมอื่น โดยมีชุมชนร่วมกับโรงงานเป็นชุมชนระดับคนงานไม่ใช่ชุมชนระดับผู้บริหาร โดยนวนครเข้าใจดีว่าเมื่อน้ำท่วมประมาณข้อเท้าจะกระทบชุมชน เพราะกลัวจะเกิดเหมือนปี 2554 ดังนั้น จึงต้องสร้างความมั่นใจให้ชุมชน โดยในระบบป้องกันน้ำท่วมทางกายภาพจะมีกำแพงกั้นน้ำที่ทำมาภายหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

“ได้ซ่อมแซมบำรุงรักษามาตลอดแม้บางจุดเสื่อมโทรมตามอายุงาน แต่ก็ดูความคงทนและปลอดภัยตลอด 26 กิโลเมตร”

นอกจากนี้ สวนอุตสาหกรรมนวนครอยู่แถวคลองเชียงรากน้อย ซึ่งภาครัฐทำแนวเขื่อนตลอดแนวคลอง ขณะที่ถนนกาญจนาภิเษก ได้ยกระดับขึ้น 3 เมตร อีกฝั่งที่สูงมากอยู่ระหว่างการก่อสร้างถือเป็นอีกจุดของแนวกั้นน้ำ ไม่ให้เข้ามาที่ประตูน้ำพระอินทร์และนวนคร อีกทั้ง มีกำแพงกันน้ำของนวนครอีกชั้น

ดังนั้น นวนครจึงมั่นใจว่าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้ ส่วนข้างนอกโครงการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขัง เพราะติดขัดการระบายน้ำ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ระบบระบายน้ำต้องดีพอ และยอมรับว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมทุกปี

ติดตามสถานการณ์น้ำ3เขื่อนหลัก

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า กนอ.กำชับนิคมอุตสาหกรรม 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังเคร่งครัด รวมทั้งเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100%

นอกจากนี้ กนอ.ต้องเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก ใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากเกิดน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ รวมถึงถนน จะทำให้การสัญจรเข้า-ออก นิคมอุตสาหกรรมมีปัญหา อาจกระทบการขนส่งแรงงาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเกือบครบทุกแห่ง ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่กำลังสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันและมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้ 

1. สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2. ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ 3. ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100% 4. สูบระบายพร่องน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ระดับต่ำสุด ให้มีแก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด

5. เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6. ประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทราบต่อเนื่อง 

7. กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 8. กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานมาที่ผู้บริหาร กนอ.ทราบต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

สหรัฐพร้อมรับมือต่างชาติป่วนเลือกตั้ง

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน หน่วยข่าวกรองของสหรัฐบรรยายสรุปแก่ผู้สื่อข่าวถึงกิจกรรมของรัสเซีย จีน อิหร่...

ศิริราชเมดิคัล ดิสทริคบูมอสังหาฯฝั่งธนฯปักหมุดชิงเรียลดีมานด์-ปล่อยเช่า

อาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ย่านศิ...

เรื่อง “เมื่อผู้บริหาร บจ. ซื้อขายหุ้น (ที่มีนัยสำคัญ) ผู้ลงทุนต้องรู้”

กรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชี อยู่ในตำแหน่งหรือฐานะที่อาจล่วงรู้ข้อมูลภายใน (inside information) ...

ตลาดกระทิงเซินเจิ้น จริงแค่ไหน

หุ้นจีนพุ่งแรงหลังทางการจีนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะไปต่อได้อีกไหมจากตรงนี้? เป็นคำถามหลักในใจนักลง...