‘ไทยไลอ้อนแอร์’ หวังปีนี้รีเทิร์น ‘ทำกำไร’ ลุยฟื้นฝูงบินสู่ 35 ลำปี 68

แต่สายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” ยังคงเร่งฟื้นขนาดฝูงบิน เพื่อนำมาสร้างรายได้ รุกเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินใหม่ ภายใต้กลยุทธ์บริหารควบคุมต้นทุน สู่เป้าหมายการกลับมา “ทำกำไร” อีกครั้งในปี 2567

อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เล่าว่า เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 35 ลำ และจำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจ (ดาวน์ไซส์) ในช่วงการระบาดใหญ่ ปัจจุบันสามารถฟื้นฝูงบินกลับมาที่ 20 ลำแล้ว แบ่งเป็น Boeing 737-800 จำนวน 16 ลำ และ Boeing 737-900ER จำนวน 4 ลำ

โดยในปี 2567 จะรับมอบเครื่องบินเข้ามาอีก 5 ลำ และในปี 2568 จะรับมอบอีก 5 ลำเช่นกัน ทั้งหมดยังคงเป็น Boeing 737-800 หรือ Boeing 737-900ER เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ในสิ้นปี 2568 จะมีฝูงบินรวม 30 ลำ

“เราจะมุ่งฟื้นฝูงบินและปริมาณที่นั่งโดยสาร ให้บริการที่ฐานปฏิบัติการสนามบินดอนเมืองกลับมาเต็มที่ก่อน ส่วนสนามบินอู่ตะเภาซึ่งก่อนโควิดระบาด ไทยไลอ้อนแอร์เคยวางกลยุทธ์ตั้งเป้าให้เป็นอีกฐานปฏิบัติการบินหลักนั้น ปัจจุบันยังไม่มีแผนกลับไปบูมอู่ตะเภาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเทรนด์ตลาดว่าในปี 2568 จะเป็นอย่างไร ต้องประเมินให้ชัดก่อน รวมถึงปัจจัยความพร้อมของการขยายสนามบินอู่ตะเภาในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)”

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เล่าเสริมว่า ปัจจุบันภาพรวมการให้บริการของไทยไลอ้อนแอร์ เฉพาะเส้นทางในประเทศ ในเชิงจุดบินกลับมาให้บริการครบ 100% แล้ว แต่ในเชิงปริมาณที่นั่งโดยสารฟื้นตัว 50-60% ตั้งเป้าฟื้นกลับมาเต็มร้อยภายในไตรมาส 1-2 ปี 2568 ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ ในเชิงจุดบินปัจจุบันให้บริการ 15 จุดบิน กลับมาเกือบ 50% เทียบกับก่อนโควิดที่มีประมาณ 40 จุดบิน แต่ในเชิงปริมาณที่นั่งโดยสารฟื้นตัว 60%

จากแผนการรับมอบเครื่องบินเข้ามา 5 ลำใหม่ในปีนี้ จะนำมาเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิมและเปิดเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะ “จุดหมายใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำการบินมาก่อน” อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ - ปีนัง มาเลเซีย เริ่มทำการบินเมื่อเดือน เม.ย. พร้อมเดินหน้าบุกตลาด “อินเดีย” เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อาห์เมดาบัด ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 15 ส.ค. และในไตรมาส 4 เตรียมเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อัมริตสาร์ อินเดีย และเส้นทาง กรุงเทพฯ – ฮ่องกง ขณะเดียวกันจะเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพฯ - ไทเป - โตเกียว (นาริตะ) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้เสรีภาพการบินที่ 5 (Fifth Freedom) เลือกกรุงไทเป (ไต้หวัน) เป็นจุดแวะรับส่งผู้โดยสาร จากปัจจุบันมี 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเพิ่มเป็น 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในปลายปีนี้

“อินเดียเป็นตลาดที่มีดีมานด์การเดินทางสูงอยู่แล้ว จากฐานประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดยเฉพาะในเมืองรองของอินเดีย พบว่ามีดีมานด์อยากมาเที่ยวประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ต เมื่อเปิด 2 เส้นทางใหม่สู่อินเดีย จะทำให้ในปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์มี 5 เส้นทางบินสู่อินเดีย ได้แก่ มุมไบ บังกาลอร์ โคชิ อาห์เมดาบัด และอัมริตสาร์ คาดมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ไม่ต่ำกว่า 70-75%”

ด้านตลาด “จีน” ปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินประจำ 6 เส้นทาง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หางโจว เซินเจิ้น ซีอาน และเฉิงตู ขณะเดียวกันให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ไปเมืองอื่นๆ ด้วย มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ย 65% โดยตั้งเป้าหมายฟื้นฟูตลาดกลับมาให้บริการ 80% ในเชิงจุดบินภายในปีนี้ จากก่อนโควิดให้บริการเส้นทางบินสู่จีนมากถึง 22 จุดบินท่ามกลางความท้าทายจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม พอมีมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ถาวรระหว่างไทย-จีน มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการเดินทางพอสมควร มีกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันยังนิยมจองบัตรโดยสารแบบกระชั้นชิด 1-4 สัปดาห์ล่วงหน้า ส่วนตลาดคนไทยก็นิยมเดินทางไปเที่ยวจีนมากขึ้น มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ของผู้โดยสารเส้นทางจีน

ส่วน “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย ก่อนโควิดเคยทำการบิน 4 เส้นทาง ได้แก่ โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า และฟุกุโอกะ ปัจจุบันกลับมาให้บริการแล้ว 1 เส้นทาง คือ โตเกียว เล็งว่าในปี 2568 จะกลับมารุกทำตลาดเส้นทางบินญี่ปุ่นอีกครั้ง

ทั้งนี้ ไทยไลอ้อนแอร์คาดว่าตลอดปี 2567 จะมี “ยอดผู้โดยสาร” รวม 6-7 ล้านคน จากเป้าหมายโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ยทั้งปี เส้นทางในประเทศอยู่ที่ 85% และเส้นทางระหว่างประเทศอยู่ที่ 75% โดยคิดเป็นสัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางในและระหว่างประเทศอย่างละ 50% ขณะที่ปี 2562 ก่อนโควิดเคยทำยอดผู้โดยสารรวมได้ 13-14 ล้านคน

“ไทยไลอ้อนแอร์คาดหวังด้วยว่าในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ตั้งหลักกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด จากกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น หลังจากไทยไลอ้อนแอร์เปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 11 และระหว่างนั้นเคยทำกำไรมาแล้ว” นันทพรกล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...