แอร์เอเชีย-ไลอ้อนแอร์ โหมขยายฝูงบิน รับไฮซีซันดีมานด์พุ่ง ดันฮับบินไทยโต!

มูฟเมนต์น่าจับตาคือ “การขยายฝูงบิน” ของสายการบินราคาประหยัด เช่น “ไทยแอร์เอเชีย” และ “ไทย ไลอ้อน แอร์” ซึ่งมีฐานปฏิบัติการบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หนุนนโยบาย “ศูนย์กลางทางการบิน” (Aviation Hub) ของรัฐบาล

วิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า ตอนนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณการเดินทางในไฮซีซัน โดยคาดการณ์ว่าเมื่อสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ย้ายฐานปฏิบัติการบินกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป จะหนุนปริมาณผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการเพิ่มเป็น 1 แสนคนต่อวัน จากเที่ยวบินกว่า 600 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ในช่วงโลว์ซีซัน มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 8 หมื่นคนต่อวัน จากเที่ยวบิน 560 เที่ยวบินต่อวัน

'ไทยแอร์เอเชีย' รับเครื่องใหม่ป้ายแดง A321neo

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “ไทยแอร์เอเชีย” รับมอบเครื่องบินใหม่ป้ายแดง “Airbus A321neo” ความจุ 236 ที่นั่ง เพิ่มอีก 2 ลำเมื่อเดือน ก.ค. ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่นนี้รวม 4 ลำ และเตรียมรับเพิ่มอีก 1 ลำภายในปี 2567 เท่ากับว่า ณ สิ้นปีนี้จะมีเครื่องบินรุ่นนี้รวม 5 ลำ เพื่อนำมารองรับการขยายตัวของผู้โดยสารช่วงไฮซีซันตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 ถึงไตรมาส 1/2568

สำหรับ Airbus A321neo ถือเป็นเครื่องบินที่มีลำตัวยาวที่สุดในฝูงบินลำตัวแคบของตระกูล Airbus A320 ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและประสิทธิภาพการประหยัดเชื้อเพลิงของ A321neo สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มแอร์เอเชียในการลดต้นทุนดำเนินงาน ความเอนกประสงค์ของเครื่องบินนี้ทำให้สามารถลงจอดที่สนามบินขนาดเล็ก ให้บริการสู่เมืองรองได้ และขยายการดำเนินงานด้วยต้นทุนที่ประหยัดขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับเครื่องบินลำตัวกว้าง

สันติสุข คล่องใช้ยา

ในสิ้นปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะมีฝูงบินทั้งหมด 60 ลำ โดยตามเป้าหมายจะขยายฝูงบินเพิ่ม 4-5 ลำต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินรุ่น Airbus A321neo ขึ้นกับแผนขยายเส้นทางบินในอนาคต ซึ่งอาจจะมี Airbus A321XLRs ที่ทำการบินระยะกลาง 5-6 ชั่วโมงได้ สามารถเจาะบางตลาด เช่น ตะวันออกกลาง โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2568-2572 ไทยแอร์เอเชียตั้งเป้ารับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 25-30 ลำ แต่ระหว่างนั้นมีคืนเครื่องบินบางส่วนเมื่อครบสัญญาเช่าเช่นกัน

“ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจการบินของประเทศไทยน่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจไทยอย่างทั่วถึง”

 

'กลุ่มแอร์เอเชีย' สยายปีกสู่ 300 ลำภายใน 5 ปี

โบ ลินกัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชียเอวิเอชั่น กล่าวว่า ภาพรวมแผนขยายฝูงบินของ “กลุ่มแอร์เอเชีย” ซึ่งประกอบด้วย แอร์เอเชีย มาเลเซีย, ไทยแอร์เอเชีย, แอร์เอเชีย อินโดนีเซีย, แอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์ และแอร์เอเชีย กัมพูชา จะมีฝูงบินมากกว่า 300 ลำภายใน 5 ปีข้างหน้า สามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 100 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีฝูงบินให้บริการ 221 ลำ การเติบโตนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น “ยุคใหม่” ของแอร์เอเชีย! ในฐานะผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดซึ่งมีเป้าหมายเชื่อมโยงอาเซียนกับทั่วโลก

สำหรับครึ่งแรกของปี 2567 แอร์เอเชียได้เปิดเส้นทางบินใหม่ 20 เส้นทางทั่วกลุ่ม โดยให้บริการกว่า 130 จุดหมายปลายทาง รองรับผู้โดยสารกว่า 31 ล้านคน และรักษาอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ไว้ได้ที่ระดับ 90%

 

'ไทยไลอ้อนแอร์' ตั้งเป้าฟื้นฝูงบินสู่ 40 ลำในปี 69

ด้าน นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน “ไทย ไลอ้อน แอร์” มีฝูงบินรวม 20 ลำ แบ่งเป็น Boeing 737-800 จำนวน 16 ลำ และ Boeing 737-900ER จำนวน 4 ลำ โดยมีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ลำ เพื่อรองรับดีมานด์ช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีฝูงบินรวม 25 ลำ เพิ่มขึ้นจาก 17 ลำเมื่อสิ้นปี 2566 และตั้งเป้าไว้ว่าไม่เกินปี 2569 จะกลับมามีฝูงบินประมาณ 40 ลำ เทียบเท่าปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“ไทย ไลอ้อน แอร์ ได้ปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของตลาดการบินทั้งในและต่างประเทศ หลังกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีขึ้นมากในครึ่งปีแรก ทำให้เราต้องปรับแผนขยายฝูงบินเพิ่ม เพื่อนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่เส้นทางที่มีอยู่ให้กลับมาเป็นปกติ”

โดยในครึ่งปีหลังมีแผนเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ 4-5 เส้นทาง เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ – อาห์เมดาบัด ประเทศอินเดีย ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 15 ส.ค. ทั้งนี้ประเมินตลาดในไฮซีซันไตรมาส 4 ว่าเส้นทางในประเทศของไทย ไลอ้อน แอร์ จะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 90% ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศเฉลี่ย 75%

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช

 

'กพท.' พร้อมหนุนแอร์ไลน์นำเครื่องบินเข้าประจำการ

ศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ปัจจุบันสายการบินในไทยมีการนำเครื่องบินกลับมาใช้งาน 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด ตอนนี้ทุกสายการบินต่างยื่นขอนำเครื่องบินเข้าประจำการเพิ่ม ทาง กพท.พร้อมอำนวยความสะดวกในการนำเครื่องบินกลับมาใช้งาน เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารช่วงไฮซีซันปลายปีนี้ ซึ่งจะกลับไปใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของปี 2562 ที่มีจำนวนผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยมากถึง 1 แสนคนต่อวัน

“เมื่อสายการบินมีแผนนำเครื่องบินเข้าประจำการฝูงบินมากขึ้น โจทย์สำคัญคือต้องมีที่ให้บินไปด้วย โดยในปีนี้ กพท.มีแผนเจรจาสิทธิการบินกับหน่วยงานรัฐประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรามองไว้ 3-4 ประเทศเป้าหมายหลัก พร้อมโฟกัสพื้นที่ใหม่ เช่น ติมอร์-เลสเต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...