จุดประกายทีมงาน

เพราะการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่เช่น IoT, Big Data, AI สามารถปฏิวัติการทำงานของคนได้มหาศาล ซึ่งนั่นหมายความว่าบางตำแหน่งงานอาจไม่จำเป็นต้องมีคนทำงานอีกต่อไปแต่ใช้ระบบดิจิทัลแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ และในทางตรงกันข้ามคือความก้าวหน้าเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนได้เหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้การบริหารงานมีความซับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะความยากไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เรื่องต้นทุน-กำไรหรือเน้นประสิทธิภาพการผลิตเป็นหลักเหมือนในอดีตแต่ต้องเน้นไปที่ การบริหารคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรยุคใหม่

การผลักดันให้บุคลากรทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดแต่ก็เป็นเรื่องซับซ้อนที่สุดเช่นกัน เพราะคนยุคใหม่นั้นมีทัศนคติในการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่ามาก โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่ยึดติดกับงานประจำหรือไม่สนใจการทำงานระยะยาวที่ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ทีละน้อยๆเหมือนในอดีต

แนวโน้มของคนรุ่นใหม่จึงเน้นที่การค้นหาตัวเองและเลือกเส้นทางที่เป็นตัวของตัวเองที่สุดแต่ละองค์กรจึงพยายามเน้นการให้สร้างความมีส่วนร่วมและหาทางให้เขารักในสิ่งที่ทำ ซึ่งมีแนวทางและการฝึกอบรมเรื่องนี้มากมาย

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจะจัดหลักสูตรสัมมนาหรือทำเวิร์คช็อปมากแค่ไหน หากเขาไม่ชอบก็เป็นไปไม่ได้ที่จะฝืนใจให้หันมาชอบงานที่ทำอยู่ได้เลย เพราะเขามักมองว่ามันเป็นงานที่จำเป็นต้องทำแม้จำใจหรือแม้จะจำเจจนน่าเบื่อ แต่ปฏิเสธมันไม่ได้เพราะเขาจำเป็นต้องมีงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ

ตรงกันข้ามกับอะไรก็ตามที่เขาทำแล้วสนุก ทำแล้วรู้สึกท้าทายแล้วกระตุ้นให้ทำต่อไปเรื่อยๆ เขาจะทำมันอย่างตั้งใจและเอาชนะอุปสรรคไปทีละขั้น จนผ่านไปถึงจุดหนึ่งก็จะหันกลับมามองมันอย่างภาคภูมิใจเพราะรู้สึกว่าตัวเองได้ทำในสิ่งที่มีความหมาย

นั่นทำให้ผมนึกถึงตัวเองหลังจากผ่านการทำงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี ก็ยอมรับว่าผมไม่ได้มองการทำงานในมุมมองของเงินทองหรือผลตอบแทนสักเท่าไร แต่เป็นเรื่องของความสนุกที่ได้เรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลามากกว่า

เพราะการทำงานแม้จะราบรื่นอย่างไรก็ยังต้องเจอปัญหาและอุปสรรคเสมอ หากเรามีความสนุกกับงานก็ย่อมมองเห็นอุปสรรคเหล่านั้นเป็นความท้าทายที่ต้องเอาชนะให้ได้โดยไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะได้ผลตอบแทนกลับมากี่บาท มีเบี้ยประชุมไหม เบิกค่าเดินทางได้หรือเปล่า ฯลฯ

หากเราถูกจุดประกายในการทำงานได้เราจะพร้อมเดินหน้าชนทุกปัญหาเพราะมองออกว่าการแก้ปัญหาแต่ละอย่างได้นั้นคนในทีมงานจะได้มีผลงานร่วมกัน บริษัทจะได้กำไร ลูกค้าจะได้บริการชั้นยอดที่ทำให้หารายได้เพิ่มเติมได้ ประเทศก็จะได้ภาคเอกชนที่เข้มแข็งสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจต่อไป

ตรงกันข้ามกับคนที่ทำงานไปวันๆ ซึ่งมักจะมองไม่เห็นคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ เพราะเขาไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเองให้เอาชนะขีดจำกัดเดิม ๆ เนื่องจากมองไม่ออกว่าทำแล้วได้อะไร นอกจากได้เงินเดือนที่เอาไปจับจ่ายใช้สอย

เมื่อไม่สามารถจุดประกายในตัวขึ้นมาได้เขาจึงขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เจ้านายสั่งงานมาก็เหมือนถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่มีความภูมิใจในสิ่งที่ทำและไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อลูกค้า คู่ค้า เพื่อนพนักงานและทุกคนรอบข้าง

การจุดประกายให้พนักงานจึงถือเป็นศิลปะในการบริหารคนที่สำคัญที่สุดในทุกวันนี้เพราะการปล่อยเขาไว้ก็เท่ากับเป็นภาระขององค์กร แต่หากเขาเปลี่ยนมุมมองได้สำเร็จ เขาก็พร้อมจะระเบิดพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้อีกมหาศาล

…ติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...