นักวิจัยอึ้ง พบ ‘โคเคน’ ในตัว ‘ฉลาม’ หวั่นยาเสพติดทำลายชีวิตสัตว์น้ำ

การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment พบร่องรอยของโคเคนในฉลามหัวแหลมที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งบราซิล ทั้งในเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและตับ โดยฉลามเหล่านี้มีทั้งสิ้น 13 ตัว ถูกจับโดยเรือประมงนอกชายฝั่งรัฐรีโอเดจาเนโรทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลระหว่างเดือนกันยายน 2564 - สิงหาคม 2566 ฉลาม 13 ตัว แบ่งออกเป็นตัวผู้ 3 ตัวและตัวเมีย 10 ตัว มีโคเคนทั้งสิ้น

นักวิจัยไม่ทราบแน่ชัดว่าฉลามสัมผัสกับยาได้อย่างไร แต่พวกเขาสงสัยว่าโคเคนอาจถูกปล่อยลงแม่น้ำและคลองในเมือง แล้วไหลลงสู่ชายฝั่ง อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ ฉลามอาจจะไปกัดโดนแพ็คโคเคนที่แก๊งลักลอบขนยาเสพติดที่นำไปลอยในน้ำ

“ไม่ว่ายามาจากไหน แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายและเคลื่อนย้ายโคเคนอย่างแพร่หลายในบราซิล” เอนริโก เมนเดส ซากจิโอโร ผู้ประสานงานการศึกษาจากสถาบันออสวัลโด ครูซ กล่าว

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า โคเคนมีครึ่งชีวิตต่ำในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่พบโคเคนในสัตว์ประเภทนี้ หมายความว่ามียาเสพติดจำนวนมากเข้าสู่สิ่งมีชีวิต 

นักวิจัยกล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบโคเคนในฉลามตามธรรมชาติ และการค้นพบในครั้งนี้ “ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมียาเสพติดผิดกฎหมายในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ” อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโคเคนส่งผลอย่างไรต่อฉลาม แต่โคเคนมุ่งเป้าไปที่สมอง และเคยมีบันทึกพฤติกรรมผิดปกติในสัตว์อื่น ๆ มาแล้ว

ฉลามหัวแหลมที่พบโคเคนในร่างกาย

การพบสารเสพติดในสัตว์ป่าตามธรรมชาติเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่นเมื่อปี 1985 ได้คนพบโครงกระดูกของหมีดำน้ำหนัก 500 ปอนด์ จากรัฐจอร์เจีย ของสหรัฐ ที่แสดงว่ามันได้รับโคเคนเกินขนาด โดยสันนิษฐานว่ามันเสพโคเคนที่กลุ่มผู้ลักลอบขนยาเสพติดโยนลงมาจากเครื่องบิน และเรื่องราวของหมีตัวนี้ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “Cocaine Bear” (2023) 

ขณะที่การศึกษาก่อนหน้า พบว่ายาเสพติดทั้งที่ผิดกฎหมายและที่ถูกกฎหมายกำลังสะสมอยู่ในน่านน้ำทั่วโลก รวมถึงในรัฐเซาเปาโล ของบราซิล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการปนเปื้อนของโคเคนกำลังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบนิเวศต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมถึงหอยแมลงภู่และหอยนางรม

ก่อนหน้านี้นักวิจัยพบว่าระดับโคเคนในน้ำรอบ ๆ เซาเปาโล ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของบราซิล มีระดับใกล้เคียงกับปริมาณคาเฟอีนในกาแฟและชา ซึ่งมีความเข้มข้นสูง นอกจากนี้ยังตรวจพบในน้ำดื่มของรัฐด้วย 

เช่นเดียวกับในอังกฤษ ที่นักวิจัยพบว่าในกุ้งน้ำจืดสัมผัสกับโคเคนและยาอื่น ๆ ในแม่น้ำมาตั้งแต่ปี 2019 ขณะที่ในปี 2021 นักวิจัยพบว่าปลาเทราต์สีน้ำตาลอาจติดยาบ้าได้ หากมีสารสะสมอยู่ในน้ำจำนวนมาก

“ปลาไวต่อผลข้างเคียงของยาออกฤทธิ์ทางระบบประสาทหลายชนิด ตั้งแต่แอลกอฮอล์ไปจนถึงโคเคน และสามารถพัฒนาไปสู่ขั้นติดยาได้เหมือนกับกับมนุษย์” พาเวล ฮอร์กี้ นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตแห่งปราก บอกกับ CNN 

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาการบริโภคโคเคนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดย 22% ของผู้เสพโคเคนอยู่ในอเมริกาตาย และบราซิลเป็นหนึ่งในผู้บริโภคยารายใหญ่ที่สุดในทวีปนี้ โดยนักวิจัยกล่าวว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานในการบำบัดน้ำเสียที่ไม่ดีทำให้ระดับโคเคนในทะเลสูงขึ้น

ทั้งนี้นักวิจัยชาวบราซิลเลือกศึกษาฉลามหัวแหลม เนื่องจากมีขนาดเล็ก และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนเป็นอย่างมาก ทำให้ฉลามสายพันธุ์นี้ถูกเรียกว่าเป็น “ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม” เนื่องจากฉลามหัวแหลมเป็นหนึ่งในอาหารของชาวบราซิล ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นกังวลว่าโคเคนที่อยู่ในฉลามอาจจะสามารถส่งผ่านมาถึงมนุษย์ได้ หากินมันเข้าไป

นักวิจัยยังพบว่า ระดับโคเคนในกล้ามเนื้อสูงกว่าในตับถึงสามเท่า และฉลามตัวเมียมีความเข้มข้นของโคเคนในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อสูงกว่าเมื่อเทียบกับตัวผู้ ปริมาณโคเคนและสารเบนโซอิลเอคโกนีน (Benzoylecgonine) ซึ่งเป็น สารที่เกิดจากการย่อยสลายของโคเคนที่พบในฉลาม เกินระดับที่ระดับที่เคยพบในปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำอื่น ๆ มากถึงสองเท่า

ขั้นต่อไป ทีมงานวางแผนที่จะวิเคราะห์ฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปลากระเบนที่อาศัยอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ รวมถึงวางแผนที่จะประเมินปลาอพยพ เช่น ปลากระบอก เพื่อตรวจสอบว่าพฤติกรรมการย้ายถิ่นส่งผลต่อการสะสมโคเคนหรือไม่ 


ที่มา: CNN, The Guardian, The Washington Post

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...