อีลอน มัสก์ หนุนภาษีคาร์บอน ชี้ชัด! ภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ยังเก็บกันได้

“อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Tesla และ SpaceX ได้แสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อแนวคิดการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเขาเชื่อว่า เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในฟอรัมสาธารณะต่างๆ รวมถึงการประชุมผู้ถือหุ้นของ Tesla เมื่อปี 2021 “มัสก์” ได้กล่าวไว้ว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีภาษีคาร์บอนจริงจัง เพราะการเก็บภาษีคาร์บอนเป็นแรงจูงใจทางการเงินที่จะทำให้ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดหันมาช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเร่งนำแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้

แนวคิดของ “มัสก์” มีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า การเก็บภาษีคาร์บอนจะทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ยานยนต์ไฟฟ้าและโซลูชันพลังงานหมุนเวียนน่าสนใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเศรษฐกิจพลังงานที่ยั่งยืน

ซึ่ง “มัสก์” มองว่า การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า จะช่วยให้โลกสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนได้เร็วขึ้น และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ภาษีคาร์บอนเป็นเรื่อง "สามัญสำนึก"

“มัสก์” มองว่าภาษีคาร์บอนเป็นเรื่อง "สามัญสำนึก" และได้เปรียบเทียบภาษีนี้กับภาษีแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน ว่า เกือบทุกประเทศมีภาษีสำหรับบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพราะคิดว่ามันมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ ในทางตรงข้ามเรามักจะเก็บภาษีผลไม้และผักน้อยกว่า ดังนั้น คาร์บอนซึ่งเป็นต้นเหตุของโลกร้อน เป็นผลเสีย ก็น่าจะถูกเก็บภาษีได้เหมือนกัน แล้วหันมาสนับสนุนแหล่งพลังงานที่เป็นประโยชน์

SpaceX ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

แม้จะมีประโยชน์ แต่การจัดเก็บภาษีคาร์บอนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเมือง “มัสก์” ยอมรับว่าแม้ว่าการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะส่งผลดีต่อ Tesla เพราะเป็นการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็สร้างความท้าทายให้กับบริษัทอื่นๆ ของเขา เช่น SpaceX ที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการปล่อยจรวด

“SpaceX พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการปล่อยจรวด ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ผมยอมรับว่า SpaceX จะต้องเสียภาษีคาร์บอนเช่นกัน เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”

เพื่อแก้ปัญหานี้ "มัสก์" ได้ลงทุนในเทคโนโลยีและโครงการต่างๆ เพื่อกำจัดคาร์บอน ตัวอย่างเช่น เขาให้ทุนสนับสนุนการแข่งขัน XPRIZE Carbon Removal มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมุ่งหวังที่จะค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ “มัสก์” ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการรีไซเคิลวัสดุจากแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว ว่า วัสดุจากแบตเตอรี่สามารถรีไซเคิลได้ แต่การเผาไหม้ก๊าซไม่สามารถทำได้ การรีไซเคิลจะเป็นส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืน

แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเขาในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะตระหนักถึงข้อจำกัดในปัจจุบันของเทคโนโลยีจรวดก็ตาม

ผลสำรวจ มหาวิทยาลัยเยล

Yale Program on Climate Change Communication (YPCCC) เป็นศูนย์วิจัยภายใน Yale School of the Environment (YSE) ของมหาวิทยาลัยเยล ที่มุ่งเน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ ความชอบนโยบาย และพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ได้ทำสำรวจเมื่อปี 2020 พบว่า 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนแนวคิดเดียวกับ “มัสก์”

ปี 2024 มีประเทศมากกว่า 30 ประเทศที่จัดเก็บภาษีคาร์บอน (ข้อมูลจาก Our World in Data) การเก็บภาษีแตกต่างกันมากในแง่ของอัตราและภาคส่วนที่ครอบคลุม เช่น อุรุกวัยมีอัตราภาษีคาร์บอนสูงสุดที่ 167 ดอลลาร์ต่อคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหนึ่งเมตริกตัน ส่วนประเทศที่มีภาษีคาร์บอนสูง ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์

การเก็บภาษีคาร์บอนในไทย

ในประเทศไทย แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอนกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากประเทศกำลังพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศอาเซียนประเทศที่ 2 ต่อจากสิงคโปร์ที่จัดเก็บภาษีคาร์บอน

รัฐบาลไทยได้ประกาศจัดเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป โดยภาษีคาร์บอนจะจัดเก็บที่ 200 บาทต่อคาร์บอนไดออกไซด์ 1 เมตริกตัน และในช่วงเริ่มต้นจะเป็นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นหลัก และมีแผนจะขยายการจัดเก็บไปยังภาคส่วนอื่นๆ เช่น พลังงาน การขนส่ง และอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานในการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2063

ประเด็นสำคัญของภาษีคาร์บอนของประเทศไทย

- อัตรา: 200 บาทต่อคาร์บอนไดออกไซด์ 1 เมตริกตัน
- ขอบเขต: จัดเก็บในเบื้องต้นสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมัน และจะขยายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในอนาคต
- การดำเนินการ: ยึดตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับโลกและมาตรฐานสากล

กรมสรรพสามิต ภายใต้การนำของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เน้นย้ำว่า การเก็บภาษีคาร์บอนจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ คาดว่าภาษีคาร์บอนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...