สหรัฐ ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 2,000 แห่ง คืนชีวิตให้ ‘ชนเผ่าพื้นเมือง-ปลาแซลมอน’

ปลายเดือนสิงหาคม 2567 สหรัฐได้ทำการรื้อ “เขื่อน” ทั้งหมด 4 แห่งที่อยู่บนแม่น้ำคลาแมธ นับเป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองชายแดนออริกอน-แคลิฟอร์เนีย ที่ต่อสู้มานานหลายทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ

เมื่อสิ่งกีดขวางทางน้ำชิ้นสุดท้ายได้ถูกกำจัดออกไป แม่น้ำคลาแมธก็กลับมาไหลอย่างอิสระอีกครั้ง “ปลาแซลมอน” สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคนี้ สามารถว่ายน้ำในแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา และเปิดแหล่งวางไข่และอนุบาลปลาแซลมอนได้ไกลถึง 804 กิโลเมตร หลังจากที่แซลมอนไม่สามารถว่ายน้ำไปวางไข่ได้มากกว่าร้อยปีนับตั้งแต่สร้างเขื่อนขึ้น

หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางอนุมัติแผนการรื้อถอนเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนไอรอนเกต เขื่อนเจซีบอยล์ เขื่อนโคปโก 1 และ 2 ในปี 2022 ถัดมาในปี 2023 ได้เริ่มทำการรื้อถอนเขื่อนโคปโก 2 เขื่อนที่เล็กที่สุด และค่อย ๆ ทยอยรื้อถอนเรื่อยมา จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

มาร์ก แบรนซอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์กรฟื้นฟูแม่น้ำคลาแมธ หรือ KRRC พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และสมาชิกชนเผ่าต่างมารวมตัวกัน โห่ร้องแสดงความยินดีริมฝั่งแม่น้ำที่เคยเป็นที่ตั้งของเขื่อนไอรอนเกต เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำคลาแมธ

“เราทุกคนมารวมตัวกันที่นี่ด้วยความรู้สึกหลากหลาย ตั้งแต่ความสุข ความคาดหวัง ไปจนถึงความตื่นเต้น “เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปีที่แม่น้ำได้กลับมาอยู่ในที่ที่มันควรอยู่ และฉันคิดว่านั่นเป็นช่วงเวลาอันล้ำค่า ที่ได้เห็นแม่น้ำได้เชื่อมกันอีกครั้ง” แบรนซอมกล่าวกับ CNN 

เจ้าหน้าที่ นักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และสมาชิกชนเผ่าต่างมารวมตัวกัน
เป็นสักขีพยานในการรื้อถอนเขื่อน
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก  Yurok Tribe

เขื่อนทำลายชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง-ปลาแซลมอน

แม่น้ำคลาแมธเคยเป็นที่รู้จักในฐานะแม่น้ำที่ส่งออกปลาแซลมอนทใหญ่เป็นอันดับสามของฝั่งตะวันตก แต่หลังจากที่บริษัทผลิตไฟฟ้า PacifiCorp เข้ามาสร้างเขื่อนระหว่างปี 1918-1962 เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ทางตะวันตกที่กำลังเติบโต แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากชนเผ่า 

เขื่อนเหล่านี้ทำให้แม่น้ำไม่ได้สามารถไหลได้ตามปรกติ และรบกวนวงจรชีวิตของปลาแซลมอนและปลาอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ 

ช่วงแรกของชีวิตปลาแซลมอนชินุกและโคโฮ จะอาศัยอยู่ในน้ำจืด เช่น แม่น้ำคลาแมธ หลังจากนั้นพวกมันจะเดินทางสู่มหาสมุทรเค็ม และกลับมายังแหล่งน้ำจืดเพื่อวางไข่อีกครั้ง แต่เขื่อนทำให้พวกมันไม่สามารถกลับไปวางไข่ได้ และไม่มีแหล่งอนุบาลลูกปลา ทำให้จำนวนปลาลดลงประมาณ 95% ส่งผลให้รัฐบาลกลางต้องออกกฎหมายคุ้มครองประชากรปลาแซลมอนบางส่วน

และเมื่อจำนวนปลาแซลมอนลดลง จิตวิญญาณของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในคลาแมธมาเป็นเวลาหลายศตวรรษก็ลดลงตามไปด้วย 

ชนเผ่ายูร็อก (Yurok) ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ เป็นที่รู้จักในชื่อ “ชาวปลาแซลมอน” เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ปลาแซลมอนถือเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม อาหาร และพิธีกรรมของพวกเขา ตามความเชื่อของชนเผ่าระบุว่า จิตวิญญาณได้สร้างปลาแซลมอนและสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีปลา ก็ไม่มีพวกเขาด้วยเช่นกัน

การรื้อถอนเขื่อนบนแม่น้ำคลาแมธ
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

เอมี โบเวอร์ส-คอร์ดาลิส สมาชิกและที่ปรึกษาทั่วไปของชนเผ่ายูร็อก กล่าวว่า การทำลายเขื่อนเป็นการคืนอิสรภาพให้แก่พวกเขา และเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเยียวยาแม่น้ำ “สำหรับเผ่ายูร็อกแล้ว แม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเรา การฟื้นฟูแม่น้ำจะช่วยให้คนรุ่นหลังมีโอกาสสืบสานวิถีชีวิต รวมถึงการตกปลาตามแบบฉบับของยูร็อก ต่อไปได้” โบเวอร์ส-คอร์ดาลิส กล่าวกับ CNN

ในปี 2002 เกิดการระบาดแพร่ระบาดของสาหร่ายเซลล์เดียวจากการรั่วไหลของสารเคมีในเขื่อนลงสู่แม่น้ำ ทำให้ปลาไปกว่า 34,000 สายพันธุ์ตายลง เฉพาะปลาแซลมอนอย่างเดียวตายไปกว่า 70,000 ตัว นับเป็นเหตุการณ์ปลาตายครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวยูร็อกและชนเผ่าอื่น ๆ ในลุ่มน้ำ รวมกันผลักดันให้เกิดการรื้อเขื่อนทั้งหมด

ช่วง 20 ปีต่อมา แคมเปญ "Undam the Klamath" ก่อตั้งขึ้นเพื่อรื้อเขื่อนและฟื้นฟูปลาแซลมอน ชนเผ่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพันธมิตรได้เข้าประชุมสภานิติบัญญัติ สำนักงานใหญ่ของบริษัท และสำนักงานหน่วยงานอย่างโกรธเคืองเพื่อเรียกร้องให้รื้อเขื่อนดังกล่าว

ตามข้อมูลของ KRRC พบว่า เขื่อนทั้ง 4 แห่ง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับ PacifiCorp  ได้ไม่ถึง 2% แม้จะเดินหน้าผลิตเต็มกำลังแล้วก็ตาม ดังนั้นแม้จะรื้อเขื่อนไปแล้วก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้ามากนัก ทั้งนี้ PacifiCorps จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายการรื้อถอนเขื่อนในครั้งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ 

การรื้อถอนเขื่อนบนแม่น้ำคลาแมธ
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Swiftwater Films

 

เร่งฟื้นฟูแม่น้ำ

ขณะที่ วิกฤติด้านสภาพอากาศ ทั้งน้ำอุ่นและภาวะแห้งแล้งในแม่น้ำคลาแมธทำให้ไข่ปลาแซลมอนและลูกปลาตาย เนื่องจากออกซิเจนต่ำและขาดอาหาร จนทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้

จูลี อเล็กซานเดอร์ นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต กล่าวว่าแม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การสร้างเขื่อนก็ยังคงทำให้ระบบการไหลของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้อุณหภูมิของน้ำอุ่นขึ้นในฤดูร้อน ส่งผลให้เชื้อโรครุนแรงขึ้น จนปรสิตสามารถแพร่เชื้อจากปลาตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งได้โดยตรง

แม้เขื่อนจะถูกทำลายลงแล้ว แต่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ เนื่องจากมีตะกอนสะสมอยู่ด้านหลังเขื่อนนานกว่าศตวรรษ ซึ่งอาจมีสารอินทรีย์ในระดับสูง และเมื่อเขื่อนถูกรื้อไป ตะกอนเหล่านี้จะปนเปื้อนและถูกปล่อยออกมาพร้อมกับน้ำ จนแม่น้ำกลายเป็นน้ำสีน้ำตาลขุ่นและเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าบางชนิดในและรอบ ๆ เขื่อน 

แต่แบรนซอมอธิบายว่าเป็นความเจ็บปวดในระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว ขั้นตอนต่อไป KRRC จะต้องเร่งฟื้นฟูแม่น้ำ โดยวางแผนที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์เกือบ 16,000 ล้านเมล็ด จากพืชพื้นเมืองเกือบ 100 สายพันธุ์ในพื้นที่ 2,200 เอเคอร์ในลุ่มแม่น้ำคลาแมธ อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครรู้ว่าวงจรชีวิตปลาแซลมอนจะกลับมาเป็นปรกติเมื่อไหร่ แต่มีรายงานเกี่ยวกับปลาแซลมอนที่ปากแม่น้ำแล้ว 

ขณะที่โบเวอร์ส-คอร์ดาลิส กล่าวว่าการได้เห็นแม่น้ำกลับมาเชื่อมกันอีกครั้ง ถือเป็นการคืนผืนดินให้กับพวกเขา ถือเป็นรางวัลสูงสุดอย่างแท้จริง

ตามข้อมูลของกลุ่มรณรงค์ American Rivers พบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีเขื่อนมากกว่า 2,000 แห่งในสหรัฐถูกรื้อถอนไปแล้ว


ที่มา: ABC News, CNN, USA Today

แม่น้ำคลาแมธในปัจจุบัน
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...