การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด...โลกปรับไว ไทยต้องตามให้ทัน

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายน 2567 เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันที่อุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และยังมีโอกาสที่จะเห็นการทำลายสถิติเช่นนี้อีกหลายครั้ง เนื่องจากอุณหภูมิโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรงและต่อเนื่อง ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยน ทั้งนโยบาย เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทุนมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เนื่องจากภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด 

ทั้งนี้ World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำดัชนีเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด (Energy Transition Index: ETI) เป็นประจำทุกปี เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (System Performance) และความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด (Transition Readiness) ของแต่ละประเทศ สำหรับการประเมิน ETI ปีล่าสุดมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก อาทิ

  • การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลกมีความคืบหน้า สะท้อนจากคะแนน ETI เฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีถึง 107 ประเทศ รวมถึงไทย จากทั้งหมด 120 ประเทศที่มีคะแนนล่าสุดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 สะท้อนถึงความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของโลก แม้ความเร็วในการเปลี่ยนผ่านในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้จะชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันให้หลายประเทศจำเป็นต้องยกเลิก/ชะลอแผนการลดการใช้ฟอสซิลเป็นการชั่วคราวเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นยังมีผลให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยในหลายประเทศขยับสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหม่ ๆ ด้านพลังงานสะอาด 
  • หลายประเทศมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดของโลกมากขึ้น แม้ปัจจุบัน 10 ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดยังคงเป็นประเทศในแถบยุโรป ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย เอสโตเนีย และเนเธอร์แลนด์ แต่มีอีกหลายประเทศที่ตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน เห็นได้จากที่มีถึง 30 ประเทศ รวมถึงจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก มีคะแนน ETI ในปี 2567 สูงขึ้นกว่า 10% เทียบกับปี 2558 โดยจีนได้วางมาตรการและนโยบายหลากหลายด้านเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 จีนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ใกล้เคียงกับที่ทั่วโลกผลิตได้ทั้งปี 2565 ด้านพลังงานลมก็มีการผลิตเพิ่มขึ้น 66% ส่วนอินเดีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า และปัจจุบัน 40% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
  • อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นช้ากว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) โลก แสดงให้เห็นว่าเราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตโดยไม่ต้องเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากได้ โดยผู้ประกอบการอาจต้องหาแนวทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานหรือปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์โลกอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2566 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 37.4 กิกะตัน เพิ่มขึ้น 1.1% ขณะที่ GDP โลกเติบโต 3.3% 

สำหรับประเทศไทยได้ ETI 55.8 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 60 (ลดลงจากอันดับ 54 ในปี 2566) ซึ่งคะแนนดังกล่าวไม่เพียงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 56.5 คะแนน แต่ยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ทั้งเวียดนาม (61 คะแนน) มาเลเซีย (60.1 คะแนน) และอินโดนีเซีย (56.7 คะแนน) เป็นสัญญาณว่าทุกภาคส่วนของไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะปัจจัยที่ไทยยังมีคะแนนน้อยอย่างการศึกษาและทุนมนุษย์ เช่น การพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และสารเคมี นอกจากการปรับตัวโดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแล้ว อาจยังต้องเพิ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การนำเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงาน ทั้งนี้ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา พร้อมสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการทุกท่าน ทั้งการปรับปรุงเครื่องจักรหรือโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกท่านสามารถก้าวทันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...