‘คามาลา แฮร์ริส’ กับงานด้านสิ่งแวดล้อม ความหวังใหม่ที่ทำให้โลกดีขึ้น

โอกาสที่ “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐ จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่ 47 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ “โจ ไบเดน” ประกาศถอนตัว และสนับสนุนให้แฮร์ริส เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต และไปชิงชัยกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน

สำหรับพรรคเดโมแครต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญสำหรับคณะบริหารชุดต่อไป และเป็นนโยบายที่ช่วยเรียกคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ทั่วโลกยังคงเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วมครั้งรุนแรง ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูง และไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

เนื่องด้วยเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะถึงการเลือกตั้ง ทำให้แฮร์ริสไม่น่าจะมีนโยบายแตกต่างจากไบเดนมากนัก โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนประเมินว่าเธอจะรับไม้ต่อนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศต่อจากไบเดน ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในสายตาของผู้เชี่ยวชาญหลายคน

ผลงานชิ้นโบแดงของไบเดน คือ กฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นการผ่านกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยให้คำมั่นว่าจะให้เงินอุดหนุนภาษีและเงินช่วยเหลือสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนหลายแสนล้านดอลลาร์ พร้อมส่งเสริมงานสีเขียว เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่น ๆ ตลอดจนสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 40% ภายในปี 2030

“ไบเดนจะออกจากตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีที่ทำให้สภาพภูมิอากาศดีขึ้นที่สุด  โดยลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในพลังงานสะอาด ควบคุมการลดมลพิษจากรถยนต์และโรงไฟฟ้า เสริมความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาด และตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลกของสหรัฐ” เจสัน บอร์ดอฟฟ์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพลังงานโลกของโคลัมเบียกล่าว

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2021 ไบเดนกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทรัมป์เคยถอนตัวออกไป ซึ่งในตอนนั้นแฮร์ริสอยู่ที่นั่นกับเขา ในฐานะรองประธานาธิบดี ซึ่งเธอพร้อมสานต่องานนี้ โดยในงานประชุม COP28 ที่ดูไบ เธอกล่าวว่า “เราต้องทำมากกว่านี้” เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อน

“การไม่ทำอะไรเลยจะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันล้านคนในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า… มีผู้ที่พยายามชะลอหรือหยุดความก้าวหน้าของเรา ผู้นำที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ชะลอการดำเนินการด้านสภาพอากาศ และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงบริษัทที่ฟอกเขียวมักไม่ปฏิบัติตามสภาพภูมิอากาศและล็อบบี้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์” แฮร์ริสกล่าว

นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหารของไบเดนที่ไม่เห็นทำอะไรมากกว่านี้เช่นกัน ในงานอีเวนต์ที่เมืองชาร์ลอตต์ในเดือนเมษายน แฮร์ริสปกป้องฝ่ายบริหารของไบเดนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกล่าวว่าการลงทุนที่ไบเดนดูแล ท้ายที่สุดจะช่วยสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง จัดหาเงินทุนจำนวนมหาศาลสำหรับโครงการพลังงานสะอาด และลดค่าไฟสำหรับครอบครัวชาวอเมริกันจำนวนมาก

สหรัฐเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และกลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่สุด ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนมากต้องการเห็นพรรคเดโมแครตหยุดหรือลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง เพราะรู้ดีว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและได้เจ.ดี. แวนซ์ ผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องสภาพภูมิอากาศ มาเป็นรองประธานาธิบดี อีก 4 ปีข้างหน้าสภาพภูมิอากาศของโลกคงเลวร้ายลงอีกมาก

งานด้านสิ่งแวดล้อมของ คามาลา แฮร์ริส

ช่วงที่แฮร์ริสดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างปี 2011-2017 เธอได้ตัดสินคดีความเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การสอบสวนบริษัท ExxonMobil ฐานทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

แฮร์ริสยังดำเนินคดีกับบริษัทท่อส่งน้ำมัน Plains All-American Pipeline จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2015 และเธอได้รับเงินจำนวน 86 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความจากบริษัทรถยนต์ Volkswagen ในข้อหาโกงผลการทดสอบการปล่อยมลพิษเครื่องยนต์ดีเซล

ก่อนหน้านั้น ในฐานะอัยการเขตของซานฟรานซิสโกตั้งแต่ปี 2004-2011 แฮร์ริสได้สร้างสิ่งที่เธอเรียกว่าหน่วยงานด้านความยุติธรรมสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศ เพื่อจัดการกับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งขยะอันตราย ที่เกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยที่ยากจนที่สุดในเขต

“อาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมต่อชุมชน ผู้คนที่มักยากจนและถูกตัดสิทธิ์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเหล่านั้นมักไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องอาศัยอยู่ที่นั่น” แฮร์ริสกล่าวในปี 2005 

ขณะที่ช่วงการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2019 เธอเรียกร้องให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมมลพิษทางสภาพภูมิอากาศ โดยผู้ก่อมลพิษจะต้องจ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของเรา แฮร์ริสยังระบุด้วยว่าสหรัฐจะเสริมสร้างการบังคับใช้และการดำเนินคดีกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลภายใต้การนำของเธอ

รวมถึงนโยบายห้ามไม่ให้มี การขุดน้ำมันแบบแฟรกกิ้ง (Fracking) ซึ่งเป็นการฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน ทำให้ชั้นหินปล่อยน้ำมันและแก๊สในชั้นหินออกมา ในที่ดินสาธารณะ อีกทั้งยังจะมีการลงทุน 10 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งเธออธิบายว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อสายพันธุ์ของเรา”


ที่มา: Euro News, The Guardian, The Washington Post

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...