งบฯ 2024 สหรัฐจ่อขาดดุลหนักรอบ 40 ปี หลังคนแก่ล้นเมือง-ค่ารักษาทะยาน

สหรัฐอเมริกากำลังจะมีการขาดดุลงบประมาณรัฐบาลกลางสูงที่สุด ซึ่งเป็นการขาดดุลที่อยู่นอกช่วงวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 วิกฤตการเงินโลก หรือสงครามโลกครั้งที่สอง การขาดดุลที่สูงเป็นอย่างมากเช่นนี้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติมในการโยนความผิดของแต่ละพรรคในช่วงเลือกตั้ง โดยรีพับลิกันประณามการใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้ของพรรคเดโมแครต ส่วนเจ้าตัวเองก็โต้กลับว่าตัวการสำคัญคือการลดภาษีของพรรครีพับลิกันที่ทำให้รายได้ลดลงต่างหาก

การขาดดุลสำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. จะมีมูลค่าเกือบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามการคาดการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์โดยสำนักงบประมาณและการบริหารแห่งสหรัฐอเมริกา  (US Office of Management and Budget) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ทำเนียบขาว ส่วนการประมาณการจากสำนักงบประมาณของรัฐสภา (Congressional Budget Office) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระคาดว่าการขาดดุลจะกว้างกว่านั้นที่ 6.7%

ด้านรายได้ของรัฐบาลจะแตะระดับ 17.6% ของจีดีพีในปีนี้ ตามตัวเลขของสำนักงบประมาณและการบริหาร (OMB) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 17.2% ที่ทางการสหรัฐบันทึกไว้ระหว่างปี 1984 ถึง 2023 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายโดยรวมมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้นไปอีก โดยอยู่ที่ 24.2% เทียบกับ 21.1% ข้อมูลเหล่านี้ดูเหมือนจะสนับสนุนข้อโต้แย้งของพรรครีพับลิกันที่ว่าการใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นต้นเหตุของปัญหา
 

 

ทว่าเมื่อพิจารณาอย่างละเอียด จะเห็นภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กเผยว่า ปัญหาไม่ได้มาจากรายจ่ายที่ทำเนียบขาวและรัฐสภาต้องตกลงกันในแต่ละปีสำหรับจัดทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันประเทศ การศึกษา สวนสาธารณะ และความช่วยเหลือด้านโภชนาการ ที่ 6.4% ของจีดีพี เพราะการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย (Discretionary Spending) ในงบประมาณปัจจุบันคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 40 ปีที่ 7.5%

แต่การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นมาจาก "ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือกระบวนการจัดทำงบประมาณ" ตามคำกล่าวของ ไช อาคาบัส ผู้อำนวยการบริหารของโครงการ Bipartisan Policy Center

"ส่วนใหญ่แล้วมันการจัดงบประมาณถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านประชากรศาสตร์และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ"


โดยทั่วไปแล้ว มีสาเหตุหลักอยู่สองประการ: การใช้จ่ายตามรายการที่ยากจะลดทอน หรือที่เรียกว่าสิทธิประโยชน์ของประชาชนรวมถึงต้นทุนดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ รายจ่ายที่ยากต่อการลดถอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะถึง 14.6% ของจีดีพีในปีงบประมาณนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 40 ปีถึง 3% เต็ม

การเติบโตนี้ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยประกันสังคมและโครงการดูแลสุขภาพที่ขยายตัวตามจำนวนชาวอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานประกันสังคมประมาณการว่าจะมีผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 67 ล้านคนในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2015
 

การเพิ่มขึ้นของชาวอเมริกันสูงอายุ ควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในโครงการด้านสุขภาพของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายสำหรับโครงการด้านสุขภาพที่สำคัญคาดว่าจะถึง 5.8% ของจีดีพี ในปี 2024 ตามการวิเคราะห์จากสำนักงบประมาณของรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 3.4% ระหว่างปี 1974 ถึง 2023

ในขณะเดียวกัน การชำระหนี้สาธารณะจำนวน 27.8 ล้านล้านดอลลาร์ก็พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในเดือนมี.ค. 2022 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่รัฐบาลจ่ายสำหรับพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็น 3.3%

ด้าน OMB คาดการณ์ว่าการจ่ายดอกเบี้ยสุทธิจะเท่ากับ 3.2% ของจีดีพีในปี 2024 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 อเล็กซ์ บริลล์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า "เนื่องจากหนี้มีจำนวนมากตัวเลขจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราไม่มีเงินสำรองรองรับ"

ในปีงบประมาณ 2024 รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินเดือน คาดว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีสำหรับทั้งสามประเภท 

ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการลดภาษีที่โดนัลด์ ทรัมป์ดำเนินการในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีนั้นเริ่มออกดอกผลตามที่พรรครีพับลิกันมักจะกล่าวอ้าง แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ได้ศึกษาผลกระทบของพระราชบัญญัติการลดภาษีและการจ้างงาน (Tax Cuts and Jobs Act) ปี 2017 หรือ TCJA พบว่าการลดภาษีทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากกว่าเงินที่ได้รับเข้ามาจากนโยบายดังกล่าว

แต่เป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดรายได้จากภาษีที่มากขึ้น รวมทั้งอัตรากำไรของบริษัทต่างๆ พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากบริษัทมีอิสระมากขึ้นในการขึ้นราคา ซึ่งก็ส่งผลให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วย

พรรครีพับลิกันต้องการให้การลดภาษีบุคคลธรรมดาในพระราชบัญญัติการลดภาษีและการจ้างงานกำลังจะหมดอายุในปีหน้าเป็นมาตรการถาวร แต่สมาชิกพรรคเดโมแครตบางท่านต้องการคงมาตรการลดภาษีไว้เฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่จะเพิ่มอัตราภาษีสำหรับบริษัทและผู้มีรายได้สูง

ด้านไมเคิล เฟโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของ JPMorgan Chase & Co. กล่าวว่า การไม่ยอมให้พระราชบัญญัติการลดภาษีและการจ้างงานหมดอายุจะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่องและทำให้การคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้าแย่ลง โดยการแก้ไขปัญหาเพื่อลดช่องว่างนี้จะต้องใช้วิธีการผสมผสานระหว่างการเพิ่มรายได้ผ่านการขึ้นภาษีและการลดรายจ่ายภาคบังคับ ไม่ใช่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

เขากล่าวต่อว่า "มีหลายวิธีที่สามารถ 'แก้ไขปัญหาของประกันสังคม' ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพนั้นแก้ยากกว่าปัญหาของประกันสังคมเล็กน้อย แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่นกัน"

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีแผนการอย่างเป็นทางการปรับปรุงระบบประกันสังคม ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคาดการณ์ว่าจะมีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายผลประโยชน์เต็มจำนวนในปี 2033 หรือโครงการ Medicare ซึ่งอาจประสบปัญหาในปี 2036 

ด้านสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายท่านสนับสนุนการตัดลดผลประโยชน์บางส่วนหรือการเพิ่มอายุผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการ ในขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตส่วนหนึ่งเสนอให้เพิ่มภาษีสำหรับคนรวยเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับโครงการเหล่านี้

ขณะที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในเดือนมิ.ย.ว่า การขอให้ครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์จ่ายภาษีประกันสังคมเพิ่มขึ้น "ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล" ในการแก้ไขปัญหานี้

ทั้งนี้ แนวโน้มของสถานะการเงินสาธารณะของอเมริกา ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่สำนักงบประมาณของรัฐสภาเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้วแสดงให้เห็นการขาดดุลสะสมจำนวน 22.1 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับทศวรรษตั้งแต่ปี 2025 ถึง 2034 
โดยปัญหานี้กำลังกลายเป็นแหล่งที่มาของความกังวลที่ขยายวงกว้างไปนอกประเทศ จนกระทั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐว่าดำเนินนโยบายแบบขาดดุลมากเกินไป โดยระบุว่าการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ของประเทศที่ตามมานั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก

ท้ายที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐกำลังส่งสัญญาณเตือนด้วยเช่นกันคาเรน ไดแนน ศาสตราจารย์จาก Kennedy School แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอดีตผู้ช่วยด้านนโยบายเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลโอบามา กล่าวว่า "ในท้ายที่สุด เราจะต้องใช้วิธีการผสมผสานระหว่างการตัดลดการใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้จากภาษี สหรัฐจำเป็นต้องลดการขาดดุล มิฉะนั้นเราจะเห็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจ แต่ก็มีหลายวิธีที่สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้"

อ้างอิง: Bloomberg 
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...