แก้หนี้เกษตรกรแบบยั่งยืน … เก็บตกจากงานสัมมนาภาคอีสาน

สะท้อนจากคำกล่าวของผู้ว่าการในงาน Meet the Press เมื่อต้นเดือนที่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจแสดงการฟื้นตัวในภาพรวมหรือค่าเฉลี่ย แต่ยังมีความลำบากของคนหลายกลุ่มที่รายได้ต่ำ ซึ่งแบงก์ชาติเข้าใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่ายังอยู่ในลักษณะไม่เท่าเทียมกัน 

ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ แบงก์ชาติจึงได้เจาะลึกและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลทางการ (hard data) และที่สำคัญ คือ มุมมอง (soft data) ของภาคธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะ 3 สำนักงานภาค ทั้งเหนือ อีสานและใต้ ที่เข้าไปพูดคุยและรับฟังข้อมูลเชิงลึกจากคนท้องถิ่น

ล่าสุด สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีในหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไรให้ยั่งยืน” โดยคำกล่าวเปิดงานของผู้ว่าการ สะท้อนองค์ประกอบของความกินดีอยู่ดีของประชาชน มี 2 เรื่อง คือ 

1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ สำหรับครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี

2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต สำหรับครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร โดยต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย 

แบงก์ชาติตั้งใจทำ 3 แนวทาง เพื่อเป้าหมายความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน

1) ด้านรายจ่าย หน้าที่แบงก์ชาติ คือ ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงเกินไป

2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน แบงก์ชาติให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้าง ผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะกลไกค้ำประกันเครดิต เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ SMEs และการสร้างโอกาสแก่ประชาชนทั่วไป ผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน เช่น พร้อมเพย์ Thai QR payment ซึ่งอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการโอนเงินแบบต้นทุนต่ำและการซื้อขายสินค้าและบริการของประชาชนอย่างแพร่หลาย รวมถึงส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วย

3) แก้ปัญหาหนี้สิน แบงก์ชาติมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลครบถ้วนก่อนการเป็นหนี้ และเมื่ออยู่ระหว่างเป็นหนี้ ทางสถาบันการเงินต้องดูแลลูกหนี้ด้วย

แบงก์ชาติยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดี โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส สภอ. ได้พูดถึงการเผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธกส. พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผล พบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น

ในช่วงการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ประกอบด้วย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งใน website แบงก์ชาติ สรุปแนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนจากการเสวนาไว้ 4 ข้อ ดังนี้

1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่าน ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง

2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้

3) การสร้างกลไกที่เหมาะสมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรม สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต

4) นโยบายภาครัฐควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค”

นอกจากนี้ งานศึกษาของ สภอ. ยังสะท้อนว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้น ผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติในการดูแลทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและเข้าใจประชาชนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะคนท้องถิ่นผ่านสำนักงานภาคค่ะ

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...