‘อังกฤษ’ แนะนำแพทย์ ช่วยแก้ ‘โลกร้อน’ ลดจ่ายยา-ตรวจเลือดที่ไม่จำเป็น

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน หรือ RCP ออกคำแนะนำทางการแพทย์ที่เรียกว่า “Green Physician Toolkit” ที่เป็นการดำเนินการต่าง ๆ ที่แพทย์สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ตั้งแต่การลดจ่ายใบสั่งยา และการตรวจเลือดที่ไม่จำเป็น ไปจนถึงการแนะนำวิธีป้องกันตัวจากผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นให้แก่คนไข้

“แน่นอนว่าการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอาจเป็นเรื่องท้าทายทางการแพทย์ ที่ต้องรักษาคนไข้ แต่เราต้องระลึกว่าการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ จะช่วยลดการใช้ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS ในระยะยาวได้” ศาสตราจารย์ราเมช อาราสารัดนาม รองประธานฝ่ายวิชาการของ RCP กล่าว

 

ลดจ่ายยา ลดคาร์บอนได้

ในปี 2565 ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 40% ของการปล่อยก๊าซในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจากสหราชอาณาจักร และคิดเป็น 4% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ โดย NHS เป็นระบบสุขภาพระบบแรกของโลกที่ตั้งเป้าหมายเข้าสู่เน็ตซีโร ในปี 2583 

ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเองก็กำลังมองหาวิธีการจำกัดมลพิษด้านการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพยายามลดใช้ใบจ่ายยา ในปี 2566 แพทยสภาแห่งสหภาพยุโรป หรือ CPME  กล่าวว่า “ควรลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น และต้องพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ของการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากมีการจ่ายยาจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ และสุดท้ายต้องทิ้ง”

หากต้องการลดการสั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็น RCP แนะนำให้ใช้แพทย์พูดคุยทางเลือกการรักษาต่าง ๆ กับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเสนอการรักษารูปแบบอื่นก่อนการสั่งจ่ายยา หรือหันไปใช้ระบบดิจิทัลในการสั่งจ่ายยาแทน

เนื่องด้วย ยาและสารเคมีคิดเป็น 20% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนของ NHS ดังนั้นการลดการจ่ายยาจึงสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลของ CPME ระบุว่า ยาจำนวนมากที่ใช้กันอยู่ในยุโรปต้องนำเข้ามาจากทวีปอื่น ๆ หากสามารถลดการใช้ยาที่นำเข้าจากทวีปอื่นได้ ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งจากการผลิต และการขนส่ง อีกทั้งยังสามารถติดตามผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากกระบวนการผลิตยาได้อีกด้วย

 

ระบบสาธารณสุขช่วยลดโลกร้อนได้

นอกจากประเด็นสั่งจ่ายยาแล้ว ใน Green Physician Toolkit ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นแนะนำให้คนไข้ไม่ทิ้งยาลงในชักโครก เพราะจะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน และควรส่งยาเก่า หรือยาที่ไม่ใช้แล้วให้แก่ร้านขายยาที่สามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัย

อีกทั้งยังแนะนำให้แพทย์ควรคิดให้รอบคอบก่อนที่จะขอตรวจเลือด หรือดูว่าสามารถทำการทดสอบค่าต่าง ๆ จากตัวอย่างเดียวกันได้หรือไม่ เพราะการวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการตรวจเลือดในแต่ละครั้งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 49-116 กรัม รวมถึงการปล่อยก๊าซที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การขนส่ง การแปรรูป ตลอดจนการกำจัดอุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์ด้วย

รวมถึงแนะนำให้แพทย์ส่งหมายนัดทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมล เพื่อรวมถึงต้นทุนการใช้พลังงานและการพิมพ์ หากไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหรือเป็นเพียงการติดตามผลการรักษา อาจทำการรักษาผ่านระบบอออนไลน์แทน เพื่อลดการเดินทาง ซึ่งอาจสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดเงินได้

แพทย์ถือเป็นบุคลากรที่คนทั่วทั้งชุมชนเชื่อถือและรับฟังเมื่อพูดถึงภัยคุกคามด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำเคล็ดลับการสื่อสารที่จะช่วยให้ผู้ฟังยอมรับฟังเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดูไกลตัว (ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่แพทย์) 

WHO แนะนำให้ สื่อสารด้วยเนื้อหาที่ให้เข้าใจง่าย พูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เห็นภาพผลกระทบชัดเจน และเน้นย้ำถึงประโยชน์ต่อสุขภาพจากการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวอย่างของการเริ่มต้นการสนทนาที่ Green Physician Toolkit แนะนำ เช่น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้คลื่นความร้อนเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งความร้อนจะทำให้ร่างกายเครียด และส่งผลต่อสุขภาพ” หรือ “ยาจะทำให้คุณเสี่ยงต่อความร้อนมากขึ้นได้อย่างไร”

“รถยนต์สันดาปจะปล่อยมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณ ดังนั้นอย่าลืมพกอุปกรณ์ช่วยหายใจ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่น”

นอกจากนี้ RCP ยังแนะนำให้ แพทย์ควรบอกให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในปัญหาด้านสุขภาพระยะยาว รวมถึง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสตรีมีครรภ์ ตื่นตัวต่อผลกระทบด้านสุขภาพจิต ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความทุกข์ทรมานทางสิ่งแวดล้อม และภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรค PTSD ที่เกิดหลังจากการประสบภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม

RCP คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิน 250,000 รายต่อปีภายในปี 2593 และแม้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มที่จะอยู่ในแอฟริกา แต่สหราชอาณาจักรก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความร้อนจัดและน้ำท่วม หรือ มีผู้ลี้ภัยสภาพภูมิอากาศจำนวนมากอพยพมาอยู่ในอังกฤษ

โฆษก NHS กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ NHS ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ป่วยเป็นอันดับแรกเสมอ แนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควรถูกนำมาใช้เฉพาะเมื่อมีความเหมาะสมทางคลินิกเท่านั้น และต้องสามารถช่วยประหยัดเงินของผู้เสียภาษีได้”


ที่มา: Daily Mail, Euro News

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ดีมานด์ออฟฟิศย่านซีบีดีกทม.พุ่ง! รับอานิสงส์ต่างชาติย้ายสำนักงานใหญ่

ปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารหัวหน้าส่วนพื้นที่สำนักงาน บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย...

แรงเหวี่ยง“ลานีญา-ส่งออกสัญญาณดี” หนุนจีดีพีเกษตรปี67โต0.2-1.2%

ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 2567) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุท...

ถ้าจะลาออก จะ ”บอกเจ้านายยังไงดี” ให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย !?

Part.1.เรื่องธรรมดา กับ เรื่อง ไม่ธรรมดา เมื่อพนักงาน ลาออก !? เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่แต่ละที่...

เตรียมโรดทริป 'อันดามัน' เส้นทางใหม่ ถนนเลียบชายฝั่ง เชื่อม 6 จังหวัดยอดฮิต !

โครงการศึกษาความเหมาะสมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – สตูล หนึ่งใ...