‘เอชเอสบีซี’ ผุดสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ช่วยธุรกิจสู่ ‘ESG’

ล่าสุด ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดตัวสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Finance) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภาคธุรกิจบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานขององค์กร 

ทั้งนี้ คาดว่าโซลูชันนี้อาจมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศไทยได้ เนื่องจากประมาณร้อยละ 80 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนขององค์กรต่างๆ มาจากห่วงโซ่อุปทาน 

โดยสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนของธนาคารเอชเอสบีซี เป็นการสนับสนุนบริษัทคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของลูกค้าองค์กรของเอชเอสบีซี ด้วยการจัดสรรแหล่งเงินทุนทางเลือกและมอบการเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บริษัทคู่ค้าของภาคธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นำเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่พวกเขาทำงานร่วมด้วยในห่วงโซ่อุปทานไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

มร.จอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า "เอชเอสบีซีในฐานะธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งในปี คศ. 1888 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารระหว่างประเทศที่ดีที่สุดในประเทศไทยโดยนิตยสารเอเชียมันนี่ (Asiamoney) และ ไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) มีความมุ่งมั่นในการรังสรรค์โซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน 

โดยสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและสนับสนุนให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน"

คุณกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

ธนาคารเอชเอสบีซีมีความแข็งแกร่งในการสนับสนุนและจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  โดยเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

รวมทั้งนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อบูรณาการแนวคิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจของธนาคาร 

“ทั้งนี้ เป้าหมายของเรา คือ การเป็นพันธมิตรด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับโซลูชันด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ความไว้วางใจ 

โดยปัจจุบันธนาคารเอชเอสบีซีมีโซลูชันทางการเงินด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) และความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเชื่อมโยงเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ากับเป้าหมายทางการเงินในการทำธุรกิจได้อย่างลงตัว ตลอดจนยังมีโซลูชันและทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG โดยเฉพาะ ที่พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนผ่านและลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมและครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของลูกค้าด้วย

นางทุย โง้   ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ  (HSBC Trade Solutions: GTS) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เติบโตในระดับสากล สร้างเครือข่ายใหม่ ขยายการค้าไปยังประเทศต่างๆ และมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคารเอชเอสบีซี ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศได้ถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้อำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับลูกค้าคิดเป็นมูลค่าถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 30.7 ล้านล้านบาท 

โดยลูกค้ายังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารกว่า 1.3 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนั้น การที่ธนาคารมีความสัมพันธ์อันยาวนานทั้งกับบริษัทคู่ค้าและผู้ซื้อ ยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับพันธมิตรที่เหมาะสม ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกด้วย

"ประเทศไทยมีเป้าหมายระยะยาวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี คศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ(Net Zero) ภายในปี คศ. 2065 โดยธนาคารเข้าใจถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (Net Zero) เป็นอย่างดี

และเราทราบว่าประมาณร้อยละ 80 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนขององค์กรต่างๆ นั้นมาจากห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้ จึงเป็นโซลูชันที่มีส่วนช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและความสามารถในการปรับตัวภายในระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาได้" นางทุย โง้ กล่าว

ธนาคารเอชเอสบีซีคาดว่า สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้อาจสามารถมีส่วนช่วยให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 จากห่วงโซ่อุปทานได้ ตลอดจนยังอาจผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย 

นอกจากนั้น ยังพบว่าความท้าทายสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทาน คือ การขาดเงินทุนและการขาดความรู้ความเข้าใจ 

ดังนั้น สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนจึงอาจมีส่วนช่วยคู่ค้าของลูกค้าองค์กรของธนาคารให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน ที่มักอยู่ในรูปแบบเงื่อนไขการชำระเงินล่วงหน้าหรือการลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าเหล่านี้สามารถนำเงินทุนไปใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับใช้กับโครงการด้านความยั่งยืนอื่นๆ ได้ในวงกว้างมากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...