พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘อสุจิ’ สาเหตุสเปิร์มลดลง สืบพันธุ์ยาก

ไมโครพลาสติก” พบได้ทุกที่ในธรรมชาติ และดูเหมือนว่าจะพบได้ทุกที่ในร่างกายของเราเช่นกัน เพราะล่าสุดนักวิจัยพบ ไมโครพลาสติกใน “อสุจิ” ของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า ค้นพบไมโครพลาสติกขนาดเล็กที่ใช้ในการผลิตแผ่นโฟมและท่อพีวีซี และทำให้เกิดโรคมะเร็ง 8 ชนิด ในตัวอย่างน้ำอสุจิของผู้ชายที่เข้าทดสอบทั้ง 36 คน นอกจากนี้ยังพบว่าอสุจิตัวที่มีไมโครพลาสติกปนอยู่จะสามารถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าปรกติ และอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย แถมทำให้คุณภาพของอสุจิลดลง ทีมวิจัยระบุว่าไมโครพลาสติกอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง 

ขณะนี้สารพิษดังกล่าวถูกพบในอวัยวะและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สำคัญของมนุษย์ รวมถึงสมอง หัวใจ หลอดเลือดแดง และอัณฑะ โดยไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางการบริโภคและการหายใจ เช่น ชิ้นส่วนเล็ก ๆ จากยางรถยนต์และไมโครไฟเบอร์ในเสื้อผ้า

การศึกษาครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Science of The Total Environment ทำการทดสอบน้ำอสุจิของผู้ชาย 36 คนที่มีสุขภาพที่ดีและไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการใช้พลาสติกมากกว่าคนทั่วไป โดยนำตัวอย่างไปผสมกับสารละลายเคมีแล้วทำการกรองและวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ มีพลาสติกปะปนอยู่อย่างน้อย 1 ชนิดที่แตกต่างกัน

พลาสติกประเภทที่พบมากที่สุดคือโพลีสไตรีน วัสดุใช้ผลิตโฟมบรรจุภัณฑ์ รวมถึงโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ใช้ทำท่อประปา โดยผู้ที่มี PVC ในน้ำอสุจิ อสุจิจะเคลื่อนที่ได้น้อยกว่าผู้ที่มีโพลีสไตรีนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การที่อสุจิเคลื่อนที่ได้น้อย จะทำให้เปอร์เซ็นต์การปฏิสนธิกับไข่น้อยลง

อย่างไรก็ตาม จำนวนอสุจิในแต่ละตัวอย่างไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคน

อนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้เดินทางไปทั่วร่างกาย ซึ่งน่าจะผ่านกระแสเลือดของเรา เทรซี วูดรัฟฟ์ ผู้อำนวยการโครงการอนามัยการเจริญพันธุ์และสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับ Scientific American ว่า

“เนื่องจากทุกส่วนในร่างกายต้องมีเลือดหล่อเลี้ยง จึงเป็นโอกาสที่ไมโครพลาสติกจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ” ดร. วูดรัฟฟ์อธิบาย

ก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยคิดว่าไมโครพลาสติกจะไม่สามารถผ่านไปได้ทุกส่วน เนื่องจากอวัยวะบางส่วน เช่น สมองและอัณฑะ หรือรก มีเนื้อเยื่อบางส่วนป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมทะลุผ่านเข้าไปได้ แต่ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันสามารถเข้าไปในร่างกายของเราได้เกือบทุกส่วน

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน นักวิจัยได้ค้นพบอนุภาคไมโครพลาสติกในอัณฑะของผู้ชาย นอกจากนี้ยังพบในหัวใจ ปอด และสมองด้วย

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มตรวจสอบไมโครพลาสติกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาจึงยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับผลกระทบที่ไมโครพลาสติกทำต่อร่างกายของเรา แต่บางคนตั้งทฤษฎีว่าสารเคมีที่พลาสติกเหล่านี้ผลิตอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ 

นักวิจัยในรายงานฉบับใหม่เขียนว่า “การมีไมโครพลาสติกแฝงอยู่ทั่วร่างกายหลายชนิดเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพการเจริญพันธุ์ของผู้ชาย”

สอดคล้องกับการศึกษาในปี 2021 ที่ทดลองนำพลาสติกใส่เข้าไปในระบบสืบพันธุ์ของหนู พบว่าโพลีสไตรีนทำให้อัณฑะอักเสบ หนูผลิตอสุจิได้ลดลง และมีคุณภาพต่ำตามลงไปด้วย

ขณะที่ การศึกษาทบทวนโดย UCSF ในปี 2022 ซึ่งศึกษาในสัตว์ที่มีอายุขัยนานกว่า ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งขัดขวางการผลิตสเปิร์มและไข่ของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าการตรวจสอบของพวกเขาไม่ได้พิสูจน์ว่าพลาสติกเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการสืบพันธุ์ ขณะเดียวกันยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกี่ยวกับการลดลงของจำนวนอสุจิ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ

ทั้งนี้ นักวิจัยลงความเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการหาข้อสรุปว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์จากไมโครพลาสติก โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องสุขภาพของมนุษย์จากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม


ที่มา: Daily Mail, Earth

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...